วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อินเทลเผยเทรนด์เทคโนโลยีมาแรงปี 2554

เทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ ในปี 2554 จะสร้างสรรค์ประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับยุคที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ (Pervasive computing) ในฐานะผู้ใช้ เราจะมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีให้เลือกใช้หลากหลายมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด โดยอินเทลมองว่า เทรนด์เทคโนโลยีของปี 2554 ซึ่งจะมาพร้อมกับระบบการทำงานที่ฉลาด ทรงประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ได้แก่

1. สมาร์ททีวี - ใกล้จะเป็นจริงเข้าไปทุกที

อินเทลคาดว่า ผู้ผลิตโทรทัศน์และอุปกรณ์เซ็ตท้อปบ็อกซ์ ที่เป็นตัวแปลงสัญญาณระบบดิจิตอล จะเริ่มแข่งขันในตลาดสมาร์ททีวีอย่างพร้อมเพรียงกัน และภายในสิ้นปี 2554 บริษัทเหล่านี้จะสามารถประเมินทิศทางการยอมรับของผู้บริโภคสำหรับตลาดสมาร์ททีวีได้

2. สาวกแท็บเล็ต เข้าสู่ยุค “ไฮบริด”

แท็บเล็ตพีซีรูปแบบต่างๆ ตลอดจนระบบปฏิบัติการ จะมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย โดยคาดว่าจะมีอุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ผสมผสานกันระหว่างเน็ตบุ๊กชั้นเยี่ยมเข้ากับแท็บเล็ตชั้นยอด อย่างเช่น Intel-based Dell prototype ที่มีการเปิดตัวในงาน อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม หรือ new 11-inch Macbook Air เป็นต้น

3. ยอดขายโน้ตบุ๊กพุ่งแรง

ยอดขายโน้ตบุ๊กจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพราะมีคุณสมบัติด้านไฮเดฟิชันและกราฟิกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเลือกอย่างมากมาย รวมถึงระบบการแสดงผลไร้สาย ที่ทำให้สามารถส่งเนื้อหารายการต่างๆ ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรับชมผ่านจอทีวี นอกจากนี้รอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีขององค์กร และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ยังจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้โน้ตบุ๊กมียอดขายที่แข็งแกร่งต่อไป

4. พีซีและอุปกรณ์อัจฉริยะ จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้มากขึ้นด้วย Context Aware หรือ Perceptual Computing

ผู้บริโภคจะหันมาตกหลุมรักกับการมาถึงเป็นครั้งแรกของ context aware หรือ perceptual computers ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ทั้ง ‘ฮาร์ด เซ็นเซอร์’ และ ‘ซอฟต์ เซ็นเซอร์’ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์พกพาที่เรียกว่า Personal Vacation Assistant ซึ่งใช้เทคโนโลยี context-aware computing เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการเดินทางท่องเที่ยว อุปกรณ์พกพาดังกล่าวจะมีกล้องซึ่งประกอบด้วย “ฮาร์ดเซ็นเซอร์” ที่สามารถจดจำวัตถุและข้อมูลจากระบบจีพีเอส รวมทั้งข้อมูลจาก ‘ซอฟต์เซ็นเซอร์’ ที่นักท่องเที่ยวป้อนเข้าเครื่อง เช่น ปฏิทิน หรืออาหารที่ชอบ เพื่อจะได้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ ได้ในทันที

5. กฎของมัวร์ ยังคงเป็นจริงต่อไป

นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ จะเดินหน้าท้าทายผู้ที่ยังคิดว่า กฎของมัวร์ สิ้นสุดลงแล้ว เพราะว่า ในปีต่อๆ ไป อุปกรณ์ใหม่นับพันล้านชิ้นจะมีสมรรถนะด้านการคำนวณและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงตามไปด้วยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ที่ฝังอยู่ในตัวชิปคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์ได้อย่างมหาศาล และทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้นอีกด้วย

6. ความปลอดภัยของข้อมูลที่สูงขึ้น

จากความต้องการด้านไอทีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น มีโมเดลการใช้งานใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงคลาวด์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกมากมายที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นความปลอดภัยของข้อมูลจะยังคงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ตลอดปี 2554 อุตสาหกรรมไอทีจะยังคงเน้นความสำคัญของสมรรถนะสำหรับการปกป้องความปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานของตัวอุปกรณ์ และการรักษาความลับทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ อินเทล™ คอร์™ วีโปร โปรเซสเซอร์ (Intel Core vPro) การซื้อกิจการของแมคอาฟีย์ (McAfee) และอีกหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชิปอินเทลมีบทบาทสำคัญ

7. ผู้บริโภคจะเชื่อใจแบรนด์ที่ไว้ใจได้ภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไตร่ตรองมากขึ้นสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคิดแล้วคิดอีกก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่เล็งอยู่ และมีแนวโน้มที่จะหันกลับไปใช้สินค้าแบรนด์ที่ตนเองคุ้นเคย เพราะทราบถึงประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือของสินค้าแบรนด์ดังกล่าวที่ตนซื้อไปก่อนหน้านี้

8. ปรากฎการณ์ที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคในแวดวงไอที (Consumerization)

ปี 2554 จะเป็นปีที่เราเห็นการทับซ้อนกันระหว่างอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปและอุปกรณ์สำหรับองค์กร เห็นได้จากปี 2553 ที่มีการนำไอโฟนและโทรศัพท์แอนดรอยด์มาใช้ในองค์กร ทั้งนี้ พนักงานจะมีความต้องการอุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ต้องการที่จะขยายขอบเขตของการทำงานไปสู่อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากปีที่ผ่านมายอดขายของสมาร์ทโฟนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 54 ทำให้สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้พนักงานทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ อิทธิพลของเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้สมาร์ทโฟนเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกประเทศของแถบเอเชียอีกด้วย ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เวอร์ช่วลไลเซชั่น เทคโนโลยีป้องกันการโจรกรรม ระบบการจัดการจากระยะไกล และการรักษาความปลอดภัย จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้

9. ป้ายโฆษณาอัจฉริยะ

ป้ายโฆษณาดิจิตอลแบบอินเตอร์แอคทีฟอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ “Minority Report” จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะความโดดเด่นในด้านการโต้ตอบด้วยรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการจดจำใบหน้าและบุคลิกท่าทางต่างๆ ของคน

10. การปฏิวัติของผู้บริโภคในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เพียงแค่พูดถึงเรื่องการจัดการด้านการใช้พลังงาน ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยจะมีอุปกรณ์และบริการต่างๆ ที่ช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานภายในบ้าน นำเสนอในตลาดสำหรับผู้บริโภค

11. เทคโนโลยียานยนต์

จากการที่เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ทำหน้าที่เหมือนระบบประสาทส่วนกลางของรถยนต์ในปัจจุบัน ทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับรถยนต์จะยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติพิเศษด้านความบันเทิง การควบคุมสมาร์ทโฟนแบบแฮนด์ฟรีด้วยคำสั่งเสียง เทคโนโลยีความปลอดภัย หรือฟังก์ชั่นการขับขี่อัตโนมัติโดยรถยนต์ เป็นต้น

12. แนวโน้มที่สดใสของคลาวด์และเวอร์ชวลไลเซชัน

คลาวด์สำหรับองค์กรจะเริ่มประสบความสำเร็จ เพราะมีการนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ใช้คลาวด์สำหรับธุรกิจมากขึ้น รวมถึงเครือข่ายสังคม จากการที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนมากมุ่งหน้าสู่การทำเวอร์ช่วลไลเซชั่นสำหรับการใช้งานด้านไอทีของตนในปี 2553 ทำให้ในปีหน้านี้ เราจะยังเห็นองค์กรนำนำโซลูชันที่ใช้กับคลาวด์มาใช้ภายในองค์กร นอกจากนี้ การเรนเดอร์ข้อมูลที่ใช้คลาวด์จะสามารถทำได้ภายในระบบ และสามารถส่งข้อมูลไปทั่วระบบเครือข่ายบรอดแบนด์ เพื่อส่งต่อไปยังอุปกรณ์ที่มีพลังการประมวลผลกราฟิกระดับปานกลางได้

Company Related Link :
Intel

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

10 แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นบนโลกไอที ในปี 54

ไอดีซีคาด การเติบโตของบริษัทต่างๆ ในเอเชียจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านไอซีที ในปี 2554 เชื่อแอปพลิเคชัน Socialytics เป็นเรื่องเด่นในการคาดการณ์ 10 อันดับแนวโน้มที่สำคัญในปี 2554

บริษัทวิจัยตลาดไอดีซี (International Data Corperation) คาดการณ์ 10 แนวโน้มสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่น ในปี 2554 การดำเนินธุรกิจของภูมิภาคเอเชียและมุมมองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นั้นจะยังคงถูกเน้นหนักไปที่ภาพของการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือในบางกรณีมีอัตราการเติบโตในระดับสูง ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนส่งผลให้เกิดการแปลงสภาพของอุตสาหกรรม ไอซีที ตามลำดับ และยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ต่อไปนี้คือ 10 อันดับแนวโน้มด้านไอซีทีที่สำคัญในปี 2554 ที่ไอดีซีเชื่อว่าจะเป็นแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลกระทบตลาดไอซีทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

1. แอปพลิเคชั่น Socialytic จะเปลี่ยนตลาด

ในปี 2554 Social media และ Business analytical จะทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มให้มีใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ ภายในองค์กร โดยแอปพลิเคชันทางธุรกิจทุกประเภทจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของระบบโครงการสร้างการทำงาน ด้วยการรวมซอฟต์แวร์ด้าน Social/Collaboration และงานด้านการวิเคราะห์ เข้าไปเป็นหน่วยหนึ่งในแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่ใช้งานมาดั้งเดิม ในปี 2554

2. Mobilution - Mobility จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดไอที

สิ่งที่เราเรียกว่า “มหาพายุ (Perfect storm)” ซึ่งเกิดจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีหลายประเภทที่รวมตัวกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องโมบิลิตี้ แท็บเล็ต มีเดียแท็บเล็ต อย่างไอแพด และสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ สามารถทำงานด้านซอฟต์แวร์ หรือเซอร์วิสได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยี Cloud Computing ในปัจจุบัน ทำให้เราพบว่าระบบไอทีต่างๆ กำลังจะเริ่มให้บริการในรูปแบบที่เป็นเวอร์ชวลไลซ์มากขึ้น โดยจะลดความสำคัญของงานประมวลผลที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ สิ่งนี้จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง กลายเป็น Mobile อย่างจริงจัง และในปี 2554 จะเป็นปีที่หลายๆ หน่วยงานให้ความสำคัญญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

3.“จ่ายน้อยยุ่งยากน้อย Less for Less” - พอร์ทัลสำหรับให้ลูกค้าใช้บริการด้วยตนเองจะเป็นหัวหอกในการนำเสนอบริการราคาประหยัดที่ยึดเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง

การมองลูกค้าเป็นตัวตั้ง - การปรับเปลี่ยนสินค้าหรือบริการไปตามสภาพของตลาดที่เปลี่ยนไป จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กร ในขณะเดียวกันผู้คนก็จะเห็นแนวคิดหรือวิถีชีวิตที่มาจากคน Gen-Y เพิ่มขึ้นในโลกของธุรกิจอีกด้วย ด้วยแรงขับเคลื่อนจากสองสิ่งนี้ในสภาพแวดล้อมของการทำงาน บทบาทของการให้บริการด้วยตนเอง (Self-service) ที่เป็นการใช้งานผ่านเว็บไซต์จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ จากแนวคิดของ “จ่ายน้อยยุ่งยากน้อย” หมายถึงค่าใช้จ่ายที่น้อยสำหรับการใช้บริการที่จะเกิดขึ้นสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการ ที่ไม่มีความซับซ้อนต่อการใช้บริการ ง่ายต่อการให้บริการดูแลลูกค้า ซึ่งไอซีทีจะมีบทบาทที่สำคัญในเรื่องของบริการด้วยตนเองที่ “จ่ายน้อยยุ่งยากน้อย” ที่ใช้แนวคิดลูกค้าเป็นตัวตั้ง

4. Analytics จะช่วยเร่งการติดตามพฤติกรรมการบริโภคในเอเชีย

การแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความเข้มข้นในเอเชียในอีก 3-5 ปีข้างหน้า กำลังมุ่งเข้าตลาดในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต จากเหตุผลในเรื่องของความสามารถในการพัฒนาวิธีการตัดสินใจและช่วยส่งเสริมให้รายได้เพิ่มขึ้นสูงขึ้น การวิเคราะห์ด้านธุรกิจถูกคาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ระยะกลางสำหรับบรรดาซีไอโอ ในปี 2554 เมื่อเทคโนโลยีนี้กำลังถูกมองว่าเป็นตัวช่วยให้องค์กรต่างๆ เพื่อความสามารถในการแข่งขันได้

5. iPad จะได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในเรื่อง Client Virtualization

ด้วยกระแสความนิยม iPad ในปี 2533 ส่งผลให้ซีไอโอของแต่ละองค์กรกำลังถูกเชิญชวนโดยผู้บริหารระดับสูงของ Apple เพื่อโน้มน้าวให้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลสามารถเชื่อมต่อเข้าไประบบไอทีขององค์กร และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับได้ ทั้งที่ซีไอโอกำลังกังวลว่ามีโอกาสที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องความเสี่ยงต่างๆ

เพราะเหตุนี้โซลูชันทางเลือกที่เป็นไปได้ทางหนึ่งคือการใช้ Client Virtualization ด้วยการสร้างช่วงของการใช้งานที่เป็นเวอร์ชวลไลซ์ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระบบปฏิบัติการ อีกทั้งยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับซีไอโอว่าพวกเขาจะรู้ได้ว่าข้อมูลต่างๆ ขององค์กรนั้นมีความปลอดภัย เรื่องนี้เป็นไปได้ว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีในการดำเนินการ แต่ไอดีซีคาดว่าการใช้งานอย่างแพร่หลายของ Client Virtualization จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

6. การให้บริการและการจัดตั้งสมาพันธ์จะเป็นตัวโน้มน้าวให้เกิดการใช้งาน Cloud ในระดับองค์กร

การเริ่มต้นของเทคโนโลยีและบริการ Private Cloud สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2554 เนื่องจาก ความกังวลเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย ความเสถียร และประสิทธิภาพของบริการ Public Cloud ไอดีซี คาดว่า ความสามารถในการผสานรวมแอปพลิเคชันหรือบริการจากคลาวด์กับแอปพลิเคชัน หรือบริการจากหน่วยงานไอทีขององค์กรหรือกับบริการจากผู้ให้บริการคลาวด์ อีกรายหนึ่งนั้นจะเป็นได้ทั้งแรงบวกหรือลบสำหรับการนำคลาวด์มาใช้ในองค์กร

ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทต่างๆ ในเอเชียจะใช้บริการคลาวด์ ที่จะเน้นไปที่โซลูชันที่ใช้งานตามความต้องการเฉพาะเรื่องมากกว่าที่จะใช้งานแบบ “ถอดทิ้งและแทนที่ใหม่” มันจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าแอปพลิเคชันที่ใช้งานในปัจจุบันกับแอปพลิเคชันของ คลาวด์จำเป็นจะต้องผนวกเข้าด้วยกัน ถ้าหากปราศจากการผสานรวมกันแล้ว มันจะเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ในเรื่องผลตอบแทนการลงทุน (ROI)

7. องค์กรธุรกิจที่ทันสมัยจะเริ่มทำแค๊ตตาล๊อกบนพื้นฐานเกี่ยวกับไอที (Catalog-Based IT)

จากการที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ได้กลับมาฟื้นตัวและธุรกิจต่างๆ ก็กำลังเติบโต ผู้ใช้งานจะเริ่มมีความต้องการใช้ทรัพยากรด้านไอทีมากขึ้น การจัดหาทรัพยากรคอมพิวเตอร์มาให้ได้แบบปัจจุบันทันด่วนกำลังกลายเป็นความต้องการที่เหมือนจะเป็นข้อบังคับภายในองค์กร จะถูกคาดหวังให้สนับสนุนความต้องการใช้งานเฉพาะหน้าที่ ส่วนมากจะเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน หนทางเดียวที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้คือการติดตาม และการเตรียมพร้อมในเรื่องทรัพยากรด้านไอที ผ่านแคตตาล๊อกบนพื้นฐานไอที (catalog-based IT)

ไอดีซีคาดว่า มากกว่าร้อยละ 50 ขององค์กรธุรกิจสัญชาติเอเชียขนาดกลางถึงใหญ่ กำลังถูกสั่งให้สร้างแคตตาล๊อกบนพื้นฐานไอซีที ในปี 2554

8. Business-as-a-Service เป็นคำตอบสำหรับการผสานระหว่างไอทีกับธุรกิจเข้าด้วยกัน?

Business-as-a-Service เป็นการนำเสนอบริการที่เน้นไปในเรื่องของขั้นตอนดำเนินธุรกิจมากกว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที มันเป็นแนวโน้มที่แสดงถึงความสำคัญและผลกระทบที่ไม่ใช่แค่เรื่องไอทีเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงเรื่องการเอ้าซอร์สขั้นตอนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ดังนั้น Business-as-a-Service จึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นสิ่งที่นำแสงแห่งความหวังในการจับคู่ระหว่างไอที และธุรกิจ ให้กลายเป็น “หนึ่งเดียวกัน” เพื่อแข่งขันได้อย่างมั่นใจในตลาดเอเชียแปซิฟิก ไอดีซีเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2554

9. ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะหันกลับมาตลาดไอที

Cloud ยังคงถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ เป็นหนึ่งในยุคของเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมครองตลาดได้ เนื่องจากมันเป็นข้อได้เปรียบที่ติดมาจากการเป็นเจ้าของระบบโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ซึ่งสิ่งนี้เรื่องจำเป็นที่สำหรับการให้บริการ Cloud ทั้งหมด

ไอดีซี เชื่อว่าองค์กรส่วนใหญ่จะมุ่งพัฒนาไปสู่รูปแบบคลาวด์ที่เป็นลูกผสม โดยที่บริษัทหลายแห่งชอบที่จะปกป้องทรัพย์สินของตนเองโดยเฉพาะงานหรือแอพพลิเคชันที่มีความสำคัญต่อองค์กรไว้ภายใน Private Cloud ที่ลงทุนเอง ไอดีซีเชื่อว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะไม่หันหลังให้กับโอกาสสำหรับโซลูชันไพรเวท คลาวด์ที่องค์กรต่างๆ จะลงทุนเอง ตลาดนี้คาดว่าจะมีมูลค่าราว 752 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2554 และคาดว่าจะสูงถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557

10. ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมองหาเทคโนโลยี Cloud เพื่อใช้ในการดำเนินงาน

ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตกำลังเร่งนำเสนอบริการ Cloud ให้กับผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลทั่วไปหรือองค์กรธุรกิจ แต่กลับมีกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมย่อยที่เกิดใหม่และน่าจับตามอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการไอที โดยผู้จัดหาอุปกรณ์เครือข่ายกำลังจัดหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำหน้าที่ในการแปลงผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี หรือการให้บริการเหล่านี้ไปสู่การให้บริการคลาวด์ ที่ให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นตัวเงินได้

รูปแบบการให้บริการคลาวด์ที่นำเสนอในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นแบบ “ผู้ให้บริการหนึ่งรายต่อลูกค้าหลายราย” ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเสมอเมื่อกำลังพูดถึงบริการคลาวด์ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยทั่วไปแล้วมักลังเลเป็นอย่างมากที่จะแชร์เซิฟเวอร์เดียวกันกับคู่แข่งของเขา เพื่อขจัดปัญหาเช่นนั้น ผู้จัดหาอุปกรณ์เครือข่าย กำลังมองหาแนวทางในการนำเสนอบริการเหล่านี้ในลักษณะ Hosted Private Cloud ซึ่งจะมีการจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานตามตรรกะตามผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละราย ด้วยทิศทางในอนาคตที่จะมุ่งไปสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานของ cloud ที่เสมือนจะแยกกันอย่างชัดเจน จะทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหลายจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นในเรื่องของแนวคิดการใช้งานร่วมกัน

Company Related Link :
IDC

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 ธันวาคม 2553 17:34 น.

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

5 ปัจจัยเสี่ยง ไทยเสียวงโคจรดาวเทียม 50.5E

เตือนกระทรวงไอซีที พึงตระหนักว่ามีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะเสียตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก หลังไทยคม 2 ที่หมดอายุถูกลากเข้าไปในตำแหน่งนี้เพียง 17 วัน ด้วยความเชื่อว่าระยะเวลาแค่นั้น จะยังทำให้ไทยได้สิทธิ์ในวงโคจรต่ออีก 2 ปี ท่ามกลาง 4 ชาติที่จ้องวงโคจรนี้ตาเป็นมัน

แหล่งข่าวในธุรกิจดาวเทียมสื่อสารกล่าวว่า มีเหตุผลอย่างน้อย 5 ประการที่ทำให้ไทยถูกแย่งชิงสิทธิ์ในการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก (50.5E) คือ1. การแจ้งเอกสารที่ไม่ถูกต้องของอินเทลแซท ว่าเป็นการใช้ในนามประเทศไทย 2. การแจ้งเอกสารที่ไม่ถูกต้องเรื่องการใช้วงโคจร 50.25E ในกระบวนการทำให้การใช้วงโคจร 50.5E ถูกกฎหมาย 3. การปล่อยให้วงโคจรว่างลงในเดือนเมษายน 2008 แต่แจ้งแก่ ITU ว่าเป็นเดือนพ.ย. 2009 4. การทำให้วงโคจรไม่ถูกใช้งานนานกว่า 2 ปี และ5. การใช้งานวงโคจรเพียง 17 วัน ซึ่งเป็นเวลาแสนสั้นในการเริ่มต้นเงื่อนไข 2 ปี ใหม่

ตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระบุว่าวงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติประเทศเอกราชเท่านั้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 1994 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนและยื่นขอสิทธิ์จาก ITU ในการใช้พื้นที่วงโคจรหลายจุด รวมถึง 50.5E ซึ่งเคยถูกใช้กับดาวเทียมไทยคม 3 มาก่อน

ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2006 ดาวเทียมไทยคม 3 ถูกปลดระวาง และเคลื่อนย้ายออกจากวงโคจร 50.5E เนื่องจากความล้มเหลวในการกระจายสัญญาณ ต่อมาวงโคจร 50.5E ถูกระบุว่าใช้งานโดยดาวเทียมของอินเทลแซท (Intelsat) ภายใต้ข้อตกลงจนถึงเดือนเมษายน 2008 แต่วงโคจรนี้ถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากอินเทลแซทใช้พื้นที่วงโคจรที่ 50.25E การเปิดเผยเรื่องนี้ทำให้วงโคจรนี้เกิดปัญหาขึ้น

ภายใต้ข้อบังคับของ ITU ระบุว่าเมื่อใดที่ตำแหน่งวงโคจรไม่ถูกใช้งาน ประเทศดังกล่าวมีสิทธิ์ 2 ปีในการส่งดาวเทียมกลับสู่วงโคจรเดิม หรือไม่ก็เสียสิทธิ์ให้แก่ประเทศถัดไปที่รอต่อคิวใช้ตำแหน่งวงโคจร ซึ่งปัจจุบัน หลายประเทศต่างยื่นเอกสารขอสิทธิ์จาก ITU และรอต่อคิวใช้งานตำแหน่งวงโคจรทุกจุด

ปัจจุบัน สิทธิ์ในการใช้วงโคจร 50.5E ยังคงเป็นของประเทศไทย แต่กำลังเสี่ยงในการถูกแย่งชิงไปโดยประเทศสมาชิก ITU หลังจากที่อินเทลแซทเคลื่อนย้ายดาวเทียมออกจากวงโคจร 50.25E ในเดือนเมษายน 2008 ประเทศไทยได้รอเวลาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2009 จึงแจ้งให้ ITU ทราบว่าตำแหน่งวงโคจรไม่ได้ถูกใช้งาน

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเปิดช่องให้การครอบครองสิทธิ์ในการใช้งานวงโคจร 50.5E ของประเทศไทยมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแจ้งกับ ITU นั้นไม่ตรงกับช่วงการใช้งานวงโคจรที่แท้จริง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไทยคมได้เคลื่อนย้ายดาวเทียมไทยคม 2 จากวงโคจร 78.5E มาเป็นตำแหน่ง 50.5E โดยอ้างว่าเมื่อดาวเทียมปฏิบัติการย้ายตำแหน่งกลับไปยังตำแหน่งวงโคจรเดิม สิทธิ์ในการถือครองวงโคจรของประเทศไทยจะถูกปกป้องไว้ แต่เนื่องจาก ไทยคม 2 เป็นดาวเทียมดวงเดียวในวงโคจร 50.5E ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2010 ถึง 28 ตุลาคม 2010 (17 วัน) โดยไทยประกาศว่าตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวถูกนำกลับมาใช้งาน และแจ้งแก่ ITU ว่าประเทศไทยมีดาวเทียมปฏิบัติการที่วงโคจร 50.5E

แต่ขณะนี้ ไทยคมได้แจ้งแก่ ITU ว่าวงโคจรดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว และต้องการเวลาอีก 2 ปีก่อนที่บริษัทจะตัดสินใจใช้ตำแหน่งวงโคจรหรือสละสิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่าจะไม่มีประเทศใดที่เห็นชอบด้วย เนื่องจากเวลาเพียง 17 วันไม่เพียงพอต่อการยืนยันด้วยเหตุผล ว่าไทยคม "กำลังใช้งาน" วงโคจรที่ได้ยื่นเอกสารต่อ ITU ฉบับดั้งเดิม แถมในขณะนี้ ดาวเทียมไทยคม 2 นั้นไม่ได้อยู่ที่วงโคจร 50.5E ด้วย แต่ไถลไปทางตะวันตก 2.5 องศาต่อวัน เหมือนว่าดาวเทียมไม่สามารถควบคุมได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงตอนนี้ ประเทศไทยมีวงโคจรดาวเทียมเพียง 3 ตำแหน่ง การสูญเสีย 50.5E ไป 1 ตำแหน่ง ทั้งที่เป็นตำแหน่งที่ครอบคลุมพื้นที่การส่งสัญญาณดีที่สุด จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียสิทธิ์ในการใช้วงโคจรถึง 33% ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในห้วงอวกาศของประเทศ

นอกจากนี้ในปัจจุบันมี 4 ประเทศ คือ รัสเซีย จีน ตุรกี และเกาะ Mauritius ในมหาสมุทรอินเดียที่แสดงความสนใจและได้ยื่นขอสิทธิ์ในการใช้วงโคจร 50.5E ด้วยบุริมสิทธิ์ที่ด้อยกว่าประเทศไทย แต่หากไทยสูญเสียสิทธิ์ในการใช้วงโคจร ประเทศเหล่านี้จะมีสิทธิ์ใช้งานวงโคจรได้ก่อน 4 ปี

"ตำแหน่งวงโคจรที่ 50.5E เป็นตำแหน่งดาวเทียมที่ไทยขอใช้จาก ITU แต่ไม่เคยยิงดาวเทียมขึ้นมาใช้วงโคจรนี้เลย หากไทยยังปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่างอยู่จนสิ้นปีนี้ ITU จะยึดวงโคจรนี้คืน ซึ่งตำแหน่งนี้จะอยู่ในจุดที่มีรัศมีครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทย ตะวันออกกลางและแอฟริกา"

Company Related Link :
Thaicom

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 ธันวาคม 2553 10:18 น.

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

RSA เตือนโทรจันบนมือถือ ล้วงข้อมูลธุรกรรมธนาคาร

RSA เตือนภัยลูกค้าธุรกรรมออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อของโทรจัน Qakbot ที่มุ่งเป้าหมายไปที่สถาบันทางการเงินทั้งหมด หลังพบมีอัตราการกระจายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเผยวิธีป้องกันขั้นต้นทั้งในแง่ของผู้ใช้และองค์กรที่ต้องเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น

อีเทย์ มาเออร์ ผู้จัดการโครงการ การจัดการกับการฉ้อโกงออนไลน์ (Fraud Action) โครงการของอาร์เอสเอ หน่วยธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยของอีเอ็มซี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนอกจากการโจมตีในด้านของมัลแวร์ สปายแวร์ (Spyware) สแปม (Spam) ฟิชชิ่ง (Phishing) และโทรจัน (Trojan) แล้ว ได้มีการส่งโทรจันเข้าไปโจมตีในส่วนของสมาร์ทโฟนเพื่อขโมยรหัสในการเข้าใช้งานธุรกรรมออนไลน์

"จากเดิมที่ผู้ร้ายมักส่งโทรจันเข้าไปฝังในคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งข้อมูลกลับไป ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำโทรจันเข้ามาใช้งานกับสมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งส่วนมากจะใช้การโจมตีผ่านเว็บฟิชชิ่ง ที่ปลอมเป็นหน้าเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อลวงให้ผู้บริโภคกรอกรหัสและเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ หลังจากนั้นจะส่ง ข้อความมัลติมีเดีย (MMS) เพื่อลวงให้เป้าหมายเปิดลิงก์และเข้าไปดาวน์โหลดโทรจัน"

หลังจากที่ฝังโทรจันลงไปทั้งในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแล้ว ผู้ร้ายก็สามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของเป้าหมายได้ทันที ทำให้ทางผู้ใช้งาน และองค์กรที่เป็นเป้าโจมตีอย่างธนาคาร จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น

"จากการสุ่มเก็บข้อมูลของ RSA ในช่วง 10 วัน พบว่ามีจำนวนโทรจันที่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยสูงถึง 8328 ตัว ที่เข้าโจมตีสถานบันทางการเงิน โดยผู้ร้ายจะนำข้อมูลเหล่านี้ ไปขายในเว็บบอร์ดใต้ดิน ที่มีการซื้อขายข้อมูลพวกนี้ในต่างประเทศ อย่างรัสเซียเป็นต้น"

โดยในการส่งโทรจันออกไปเพื่อเก็บข้อมูลในปัจจุบัน ได้มีวิธีการใหม่ๆเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน บอตอย่าง SpyEye ที่มีข่าวล่าสุดว่าได้รวมตัวกับ Zeus ที่เมื่อก่อนเป็นคู่แข่งในด้านการลักลอบเข้าไปเก็บข้อมูล

"ในเว็บบอร์ดใต้ดินมีการจำหน่ายโปรแกรมเหล่านี้ในราคาตั้งแต่ 300 ถึง 3,000 เหรียญฯ เพื่อให้ผู้ร้ายได้ส่งตัวโทรจันเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งจะมีรูปแบบการโจมตีที่แตกต่างกัน แต่หลักๆแล้วเป้าหมายจำเป็นต้องกดเปิดลิงก์หรือดาวน์โหลดโปรแกรมมาไว้ในเครื่องก่อน"

ทำให้ในการป้องกันโทรจันนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นต้องสร้างความระมัดระวังในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ไม่เปิดลิงก์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่กดเซฟหรือลงโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้ใจ รวมไปถึงหมั่นคอยอัปเดตระบบปฏิบัติการ และแอนตี้ไวรัสให้ใหม่อยู่เสมอ

ขณะที่ในแง่ขององค์กรที่เป็นเป้าหมายอย่างธนาคารก็ต้องมีการวางระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งในเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ขั้น ตั้งแต่ต้องเข้าใจถึงวิธีการและรูปแบบการโจมตีต่างๆ รวมถึงหาวิธีการอื่นๆมาช่วยเสริมในการล็อกอินเข้าใช้งาน เช่นรหัสใช้ครั้งเดียว การยืนยันตัวตนในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

ถัดมาคือต้องมีโซลูชันที่ป้องกันการโจมตีจากโทรจัน รวมถึงมีการตรวจสอบโทรจันที่เข้ามาโจมตีอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายคือการตรวจสอบโปรไฟล์การใช้งาน เช่นไอพีแอดเดรสที่ใช้ล็อกอินที่ใช้ในประเทศ ถ้ามีการใช้งานจากต่างประเทศเข้ามาก็ต้องมีการตรวจสอบ รวมไปถึงภาษาที่ใช้ ตัวระบบปฏิบัติการที่ใช้ แม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้งาน

"ในส่วนของธนาคารการตรวจสอบผู้ใช้เป็นงานที่ทำในหลังบ้าน ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ทางธนาคารก็ต้องมีมาตรการป้องกัน อย่างในสหรัฐฯ ถ้ามีการทำธุรกรรมโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีใหม่ ในจำนวนมาก ก็จะมีการโทรศัพท์ยืนยันธุรกรรม คล้ายๆกับวิธีการตรวจสอบการใช้งานบัตรเครดิตในบ้านเรา"

ส่วนการป้องกันภัยบนสมาร์ทโฟนนั้น อีเทย์ ให้คำพูดสั้นๆว่า "ถ้าไม่จำเป็นอย่าดาวน์โหลดแอปฯฟรี" เพราะในอนาคตการดาวน์โหลดแอปฯฟรีมาใช้งาน ถือว่าค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ใช้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการรับ-ส่งข้อมูลที่ผิดปกติหรือไม่

Company Relate Link :
RSA

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2553 11:45 น.

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยุโรปเร่งสอบกูเกิล ผูกขาดการค้า

คณะกรรมาธิการยุโรปหรือ European Commission (EC) ประกาศเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนกูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์สัญชาติอเมริกันในข้อหาผูกขาดการค้า โดยต้องการตรวจสอบว่ากูเกิลฝ่าฝืนกฎหมายสหภาพยุโรปด้วยการ "ใช้อิทธิพลในตลาดเสิร์ชออนไลน์ในทางที่ผิด"หรือไม่ เพื่อรักษาประโยชน์แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเสิร์ชออนไลน์สัญชาติยุโรปให้สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี

รายงานย้ำว่า การเริ่มกระบวนการสอบสวนกูเกิลในข้อหาผูกขาดการค้าที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่ากูเกิลถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนกฎหมายยุโรปแล้ว โดยกูเกิลออกมาให้ความเห็นรับลูกคณะกรรมาธิการอีซีว่าจะให้ความร่วมมือต่อการสอบสวนอย่างเต็มที่

การสอบสวนนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์สัญชาติยุโรป 3 ราย ออกมาร้องเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในบริการค้นหาข้อมูลฟรีของกูเกิล ระบุว่าถูกกูเกิล"ลดคะแนน"หรือการจงใจทำให้ระบบค้นหาของกูเกิลจัดลำดับเว็บไซต์ให้มีความสำคัญต่ำ ทำให้ชื่อเว็บไม่ปรากฏในเพจผลการค้นหาด้านให้บริการฟรี เพราะเว็บไซต์เหล่านี้ให้บริการสืบค้นเช่นเดียวกับกูเกิล สิ่งที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนการกีดกันทางการค้าที่ทำให้ทั้ง 3 บริษัทเสียประโยชน์

เว็บไซต์ 3 รายที่ร้องเรียนเรื่องนี้คือเว็บไซต์ Foundem สัญชาติอังกฤษ เว็บไซต์ Ciao จากฝรั่งเศส และเว็บไซต์ ejustice.fr จากฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามครั้งนั้นกูเกิลแถลงการณ์ปฏิเสธว่ากูเกิลไม่ได้ปรับแต่งผลการค้นหา แต่ผลการค้นหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากระบบคำนวณหรืออัลกอริทึมของกูเกิล ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน มีข่าวว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ส่งคำถามเพื่อให้กูเกิลชี้แจงข้อมูลด้านเทคนิคบางจุดแล้ว

เหตุที่การลบชื่อออกจากหน้าผลการค้นหาข้อมูลออนไลน์ของกูเกิลถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า เพราะเพจการค้นหาของกูเกิลคือประตูชั้นยอดที่จะนำนักท่องเน็ตเข้าสู่เว็บไซต์ โดยภายหลังการร้องเรียน รายงานข่าวระบุว่าชื่อเว็บไซต์เหล่านี้ปรากฏในเพจการค้นหาของกูเกิลอีกครั้ง และ Foundem ซึ่งเป็น 1 ในเว็บไซต์ที่ร้องเรียนระบุว่า เว็บไซต์มีทราฟฟิกการใช้งานเพิ่มขึ้นทันทีถึง 10,000%

รายงานย้ำว่า การสอบสวนกูเกิลของคณะกรรมาธิการยุโรปจะครอบคลุมถึงการหาข้อเท็จจริงว่ากูเกิลจงใจลดคะแนนเว็บไซต์คู่แข่งหรือไม่ ซึ่งหากใช่ กูเกิลจะสูญเสียความเชื่อมั่นในโลกออนไลน์ไปอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ทำให้นักสังเกตการณ์มองว่าไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นคู่แข่งในโลกค้นหาข้อมูลออนไลน์นั้นมีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อบริษัท Ciao 1 ในเว็บไซต์ที่ฟ้องร้องนั้นเป็นบริษัทของไมโครซอฟท์

ไม่เพียงบริการค้นหาข้อมูลฟรี บริการลงโฆษณาบนหน้าเพจการค้นหาของกูเกิลก็ถูกร้องเรียนเรื่องผูกขาดตลาดในยุโรปเช่นกัน โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท Navx ในฝรั่งเศสซึ่งจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้หลบหลีกตำรวจได้ชำระเงินลงโฆษณาบนกูเกิล แต่กูเกิลตัดสินใจถอดโฆษณาดังกล่าวออกเนื่องจากเห็นว่าซอฟต์แวร์ของ Navx ส่งเสริมให้คนทำผิดกฎหมาย

Navx จึงฟ้องร้องกูเกิลให้กูเกิลลงโฆษณา Navx ดังเดิม เพราะซอฟต์แวร์ GPS จากผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Garmin ก็สามารถช่วยให้ผู้ใช้หลบหลีกตำรวจฝรั่งเศสได้เช่นกัน เมื่อกูเกิลยอมแสดงลิงก์โฆษณาของ Garmin การกระทำของกูเกิลต่อ Navx จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งสร้างผลเสียให้แก่ธุรกิจของ Navx ให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี

ปี 2010 ถือเป็นปีที่ประเทศในกลุ่มยุโรปออกมาแสดงความกังวลถึงอิทธิพลของกูเกิลที่กินสัดส่วนใหญ่ในตลาดเสิร์ชเอนจินของหลายประเทศ เช่นในฝรั่งเศสที่ถูกประเมินว่ากูเกิลสามารถกินส่วนแบ่งไปมากกว่า 90% โดยหลายกระแสมองว่าอิทธิพลของกูเกิลอาจทำให้ธุรกิจในประเทศไม่เกิดการแข่งขันที่เสรี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ในที่สุด

สำหรับประเทศไทย กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 98% และยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการผูกขาดที่อาจเกิดขึ้น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 ธันวาคม 2553 10:14 น.

มะกันนับวันรอ 4G เวอไรซอนขีดเส้นลุย 5 ธ.ค. นี้

เวอไรซอน (Verizon) ประกาศพร้อมให้บริการเครือข่าย LTE หรือ 4G ในสหรัฐฯวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ประเดิมก่อนใน 30 ย่านหลักทั่วประเทศ เบื้องต้นลุยทำตลาดโมเด็มเพื่อปูทางให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์พีซีสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วขั้นเทพได้ก่อนในช่วงที่สมาร์ทโฟน 4G ยังไม่ลงตลาด โดยสมาร์ทโฟน 4G คาดว่าจะเปิดตลาดในสหรัฐฯช่วงกลางปี 2011

รายงานระบุว่า วันที่ 5 ธันวาคม 53 เวอไรซอนจะเริ่มจำหน่ายยูเอสบีโมเด็มจำนวน 2 รุ่นที่รองรับเทคโนโลยีเครือข่าย LTE หรือ Long-Term Evolution ซึ่งมีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลจริงราว 5-12 เมกะบิตต่อวินาที ถือเป็นความเร็วเครือข่ายสูงสุดที่สหรัฐฯเคยมี โดยโมเด็ม 4G มีราคาจำหน่ายสุทธิ 99.99 เหรียญพร้อมสัญญาใช้งาน 2 ปี (หลังหักส่วนลดเงินคืน 50 เหรียญ) หรือประมาณ 2,999 บาท

เบื้องต้น นักสังเกตการณ์เชื่อว่าเครือข่าย LTE ในสหรัฐฯจะถูกใช้งานเฉพาะการสื่อสารข้อมูลอย่างเดียวไปถึงปี 2012 เนื่องจากการเปิดตลาดของสมาร์ทโฟน 4G ที่เวอไรซอนเคยประกาศว่าจะนำไปเปิดตัวในงาน CES 2011 และจะวางจำหน่ายในช่วงกลางปี 2011 นั้นจะไม่แพร่หลายในทันทีทันใด

เวอไรซอนมีแผนขยายเครือข่าย LTE ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจุดในสหรัฐฯที่มีเครือข่าย 3G ให้บริการอยู่ โดยพื้นที่ที่สามารถใช้งาน 4G ของเวอไรซอนในช่วงแรกได้แก่ เมืองหลักในรัฐโอไฮโอ จอร์เจีย แมรี่แลนด์ แมสสาชูเซ็ตส์ อิลินอยส์ นอร์ธแคโรไลนา โคโรราโด ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย เนวาดา เทนเนสซี นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย หลุยเซียนา โอกลาโฮมา และวอชิงตัน

สำหรับค่าบริการ เวอรไรซอนกำหนดไว้ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อการใช้งานข้อมูล 5GB (ราว 1,500 บาท) และ 80 เหรียญต่อการใช้ข้อมูล 10GB (ราว 2,400 บาท) โดยโมเด็มทั้ง 2 รุ่นจะสามารถทำงานกับเครือข่าย 3G ของเวอไรซอนได้

Company Related Link :
Verizon

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 ธันวาคม 2553 12:01 น.

โมโตโรลาแยกร่าง 2 บริษัทพร้อมรบ ม.ค.นี้

โมโตโรลา (Motorola) อดีตยักษ์ใหญ่โลกสื่อสารประกาศรายละเอียดการแตกหน่วยธุรกิจออกมาตั้งเป็น 2 บริษัทใหม่ว่าจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมเป็นต้นไป ถือเป็นข่าวที่เกิดขึ้นท่ามกลางสายตาทั่วโลกที่จับจ้องทิศทางในอนาคตของโมโตโรโลา ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์ในสหรัฐฯให้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้

เช่นเดียวกับข้อมูลที่เคยถูกรายงานมาแล้ว นั่นคือโมโตโรลาจะแยกธุรกิจธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ความบันเทิงภายในบ้าน เช่น อุปกรณ์กล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวี ออกมาเป็นบริษัทเดี่ยว ขณะที่อีกหนึ่งบริษัทจะดูแลธุรกิจเครือข่ายและโซลูชันเคลื่อนที่สำหรับองค์กร (Enterprise Mobility Solutions and Networks) ครอบคลุมสินค้าประเภทอุปกรณ์รับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ, คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่, ระบบรักษาความปลอดภัย และโครงข่ายข้อมูลไร้สาย

ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นคือ ผู้ถือหุ้นโมโตโรลาจะได้รับหุ้นทั้งใน 2 บริษัท โดยบริษัทที่ดูแลธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์จะมีชื่อว่า Motorola Mobility ขณะที่ธุรกิจสินค้าองค์กรจะมีชื่อเรียกว่า Motorola Solutions

โมโตโรลาย้ำว่าการแยกส่วนธุรกิจจะนำไปสู่ความชัดเจนในมุมของนักลงทุน จากเดิมที่เคยมีความสับสน ซึ่งโมโตโรลามองเห็นในเรื่องนี้จึงประกาศแผนการแยกบริษัทออกมาตั้งแต่ปี 2008

อย่างไรก็ตาม การประกาศกรอบเวลาแยกบริษัทเป็นมกราคม 2011 นั้นถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดการมาก เพราะแต่เดิมโมโตโรลาเคยประกาศไว้ว่าจะแยกบริษัทให้แล้วเสร็จในปี 2009 สาเหตุเป็นเพราะจังหวะพิษเศรษฐกิจซบเซาและความจำเป็นของโมโตโรลาในการเร่งทำตลาดโทรศัพท์มือถือ

สำหรับธุรกิจสินค้าองค์กร โมโตโรลายืนยันว่าไม่มีแผนแยกหน่วยธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อยอีก หลังจากได้ประกาศขายธุรกิจอุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายให้กับบริษัทร่วมทุนสัญชาติฟินแลนด์และเยอรมนีนาม Nokia Siemens Networks โดยดีลดังกล่าวคาดว่าจะสมบูรณ์ภายในกลายปีนี้

โมโตโรลานั้นเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ผลิตวิทยุติดรถยนต์ในปี 1930 ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในช่วงปี 80 โดยโมโตโรลารุ่งเรืองสุดขีดช่วงปี 2007 ท่ามกลางความสำเร็จจากสินค้าตระกูล Razr จนขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับ 2 ของโลก ล่าสุด โมโตโรลาถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับที่ 7 ของโลก

รายงานระบุด้วยว่า ธุรกิจที่จะถูกรวมในบริษัท Motorola Mobility นั้นมียอดจำหน่ายราว 2,900 ล้านเหรียญในไตรมาสที่ผ่านมา เทียบกับ 1,900 ล้านเหรียญเมื่อเทียบกับธุรกิจในบริษัท Motorola Solutions

สำหรับสำนักงานที่ตั้ง Motorola Solutions รายงานระบุว่าจะอยู่ในย่าน Schaumburg ขณะที่ Motorola Mobility จะอยู่ที่ Libertyville มลรัฐอิลินอยส์ ซึ่งคาดว่าจะมีการย้ายสำนักงานทีมงานในโมโตโรลาสำนักงานใหญ่บางส่วนไปประจำการในสาขาซานดิเอโก ซานฟรานซิสโก หรือเมืองออสติน รัฐเท็กซัส

รายงานชี้ว่า โมโตโรลาได้เตรียมการสำหรับการแยกร่างด้วยการว่าจ้างซานเจย์ จฮา (Sanjay Jha) ในปี 2008 เพื่อคุมบังเหียนธุรกิจโทรศัพท์มือถือบนตำหน่างประธานกรรมการบริหารร่วมหรือ co-CEO โดยจฮาจะเป็นผู้ดูแลธุรกิจ Mobility และ co-CEO อีกรายคือ Greg Brown จะดูแลธุรกิจ Solutions

หลังการประกาศ มูลค่าหุ้นโมโตโรลาลดลง 11 เซนต์ ปิดที่ 7.66 เหรียญ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 ธันวาคม 2553 00:01 น.

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มะรุมมะตุ้ม เตือนภัยเฟซบุ๊ก

ดูเหมือนว่ายิ่งเครือข่ายสังคมยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊กเพิ่มคุณสมบัติใหม่มากขึ้นเท่าใด ผู้เชี่ยวชาญหลายวงการหลากสาขาก็จะออกมาเตือนภัยการใช้งานเครือข่ายสังคมยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊กมากขึ้นเท่านั้น ล่าสุด ทันทีที่เฟซบุ๊กเปิดตัวระบบข้อความใหม่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสก็ออกประกาศเตือนให้ผู้ใช้ระวังการถูกขโมยตัวตน ตามหลังการประกาศเตือนของกองทัพสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้พลทหารอเมริกันระวังการเปิดเผยตำแหน่งกองกำลังบนเฟซบุ๊กโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานของกองทัพพญาอินทรี

โซโฟส (Sophos) บริษัทรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประกาศเตือนชาวไอทีให้ระวังตัวก่อนจะลงชื่อใช้บริการระบบข้อความใหม่ในเฟซบุ๊ก เนื่องจากพบโอกาสและช่องโหว่มากมายที่นำไปสู่ภัยถูกขโมยตัวตน ในบริการที่เฟซบุ๊กเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เฟซบุ๊กเพิ่งประกาศว่าได้เพิ่มความสามารถในการรวมข้อความแชต ข้อความสั้น เครื่องมือสื่อสารเรียลไทม์อื่นๆ เข้ากับอีเมลดั้งเดิม โดยมีแผนให้สิทธิ์ผู้ใช้เฟสบุ๊กสามารถมีชื่อบัญชีอีเมลแอดเดรสลงท้ายว่า @facebook.com ได้เพื่อจัดการการรับส่งข้อความทุกประเภทแบบครบวงจร ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกเรียกรวมว่าโครงการ "Titan" และจะพร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้เฟซบุ๊กใน 2-3 เดือนข้างหน้า

เกรแฮม คลูลีย์ (Graham Cluley) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเทคโนโลยีของโซโฟสระบุว่า ผู้ใช้จำเป็นต้องทราบว่าคุณสมบัติใหม่ของเฟซบุ๊กมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการถูกแอบอ้างชื่อบุคคลบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กมากขึ้น เพราะการเชื่อมโยงบัญชีเฟซบุ๊กเข้ากับผู้ใช้ในวงกว้างจะทำให้นักเจาะระบบมีโอกาสและมีแรงบันดาลใจในการก่อการร้ายมากขึ้น

โซโฟสฟันธงว่านับจากนี้ นักเจาะระบบจะก่อการแอบอ้างชื่อบัญชีเฟซบุ๊กเพื่อส่งข้อความขยะ (บนระบบข้อความใหม่ของเฟซบุ๊ก) มากกว่าการส่งสแปมเมลในระบบอีเมลดั้งเดิมแน่นอน เนื่องจากระบบข้อความของเฟซบุ๊กนั้นเหนือกว่าอีเมลที่สามารถในการเรียกความเชื่อถือจากผู้รับ ว่าเป็นข้อความที่ส่งมาจากเพื่อนฝูงคนรู้จัก

เหนืออื่นใด คลูลีย์ย้ำว่าผู้ใช้ต้องตระหนักให้ดีว่าเฟซบุ๊กจะเก็บข้อมูลการสื่อสารทั้งหมดไว้ หากผู้ใช้วางใจเฟซบุ๊กแล้วทำการสื่อสารข้อความครบวงจรบนเฟซบุ๊กจะสร้างความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะการนำข้อมูลการสื่อสารไปใช้ในทางมิชอบทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

ทั้งหมดนี้ โซโฟสเรียกร้องให้เฟซบุ๊กพัฒนาระบบคัดกรองและรักษาความปลอดภัยในเฟซบุ๊กอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้เฟสบุ๊กตกเป็นเหยื่อของวงจรรับส่งข้อความขยะ ภัยแอบอ้างบุคคล รวมถึงกลลวงฟิชชิ่งซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายด้านการเงิน ส่วนด้านผู้ใช้ โซโฟสย้ำให้สาวกเฟซบุ๊กทุกคนดูแลตัวเองด้วยการตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา อัปเดทซอฟต์แวร์ระบบการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ และหมั่นตรวจตราความผิดปกติของนานาแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับชื่อบัญชีเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ระบบข้อความของเฟซบุ๊กนั้นถูกใช้งานเป็นประจำโดยผู้ใช้เฟสบุ๊กมากกว่า 350 ล้านคน (จากทั้งหมด 500 ล้านคน) สถิติการส่งข้อความคือ 4,000 ล้านข้อวามต่อวัน

การประกาศเตือนภัยของโซโฟสเกิดขึ้นตามหลังแถลงการณ์จากกองทัพสหรัฐฯ ที่เตือนพลทหารอเมริกันไม่ให้ประมาทต่อการใช้บริการเฟซบุ๊กและเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เนื่องจากอาจเป็นการเปิดเผยฐานที่มั่นให้ศัตรูรู้โดยไม่เจตนา โดยเป็นการประกาศเตือนหลังจากที่เฟซบุ๊กเพิ่มความสามารถใหม่ให้ผู้ใช้สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ได้โดยไม่ต้องเข้าสู่บริการอื่นให้ยุ่งยาก

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกโพสต์และส่งไปยังผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆในกองทัพสหรัฐฯ โดยแสดงความกังวลต่อเทคโนโลยีใหม่ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถกำหนดจุดที่อยู่บนแผนที่ออนไลน์ได้อย่างสะดวก เนื้อความโดยสรุประบุว่าการใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งในเครือข่ายสังคมอย่างขาดความรอบคอบของพลทหาร อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อปฏิบัติการความมั่นคงของประเทศ ซึ่งไม่เพียงเฟซบุ๊ก สมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี (บีบี) และอุปกรณ์อื่นที่มีระบบระบุพิกัดจีพีเอส รวมทั้งการใช้บริการที่มีความสามารถในการระบุพิกัดทั้งโฟว์สแควร์ ล้วนมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯทั้งสิ้น

Company Related Link :
Facebook

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤศจิกายน 2553 09:04 น.

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โครม-ซาฟารี-ออฟฟิศ สุดยอดซอฟต์แวร์"บัคเยอะ"

ซอฟต์แวร์เว็บเบราว์เซอร์น้องใหม่จากกูเกิล "Chrome" ขึ้นแท่นแอปพลิเคชันที่มีจำนวนข้อบกพร่องโปรแกรมหรือบัคมากที่สุดในปีนี้ ตามมาด้วยเบราว์เซอร์จากแอปเปิล "Safari" และซอฟต์แวร์จัดการงานเอกสาร "Microsoft Office" ผู้สำรวจชี้ต้องการให้รู้ว่าการใช้งานโปรแกรมเหล่านี้มีความเสี่ยง และควรอัปเดตชุดแพตช์แก้บัคอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

ผลการจัดอันดับ "ซอฟต์แวร์บัคเยอะ" ครั้งนี้มาจากการสำรวจของบริษัท Bit9 Inc. ซึ่งจัดทำเป็นรายงานประจำปีครั้งที่ 4 โดยเรียกทำเนียบอันดับซอฟต์แวร์ที่มีบัคมากที่สุดในท้องตลาดว่า Dirty Dozen ปรากฏว่าซอฟต์แวร์ที่ครองอันดับหนึ่งในฐานะโปรแกรมที่มีบัคมากที่สุดในปี 2010 คือกูเกิลโครม อันดับ 2 คือแอปเปิลซาฟารี ต่อด้วยไมโครซอฟท์ออฟฟิศ อันดับ 4 คือโปรแกรมอ่านไฟล์ PDF อย่าง Adobe Reader and Acrobat ขณะที่อันดับที่ 5 คือเว็บเบราว์เซอร์ Firefox

บัค (Bug) คือชื่อที่คนไอทีใช้เรียกความบกพร่องของคำสั่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้พัฒนาโปรแกรมเขียนไว้ผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องไปไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผลจากบัคจะทำให้ระบบงานมีความเสี่ยงหยุดชะงักหรืออาจนำไปสู่การทำงานที่ผิดพลาดจากความต้องการดั้งเดิม ซึ่งบัคเหล่านี้เองที่นักเจาะระบบมักใช้เป็นช่องทางในการโจมตีผู้ใช้คอมพิวเตอร์

Bit9 ระบุว่า Chrome มีรายงานบัคมากถึง 76 จุด มากกว่า Safari ที่มี 60 จุด และซอฟต์แวร์ Microsoft Office ที่มี 57 จุด ตามมาด้วย Adobe Reader and Acrobat ที่ถูกพบบัค 54 จุด ขณะที่ Firefox พบราว 51 จุด

แม้ Chrome จะเป็นแชมป์โปรแกรมที่มีบัคมากที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่าเบราว์เซอร์ของกูเกิลคือโปรแกรมที่มีความปลอดภัยน้อยกว่าโปรแกรมอื่นๆ โดย Harry Sverdlove ประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ Bit9 ชี้ว่า Chrome ยังเป็นเบราว์เซอร์เกิดใหม่ที่จะมีพัฒนาการอื่นตามมาอีกมาก จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า Chrome หรือนานาซอฟต์แวร์ที่มีรายชื่อติดทำเนียบบัคมากคือเบราว์เซอร์ที่ไม่ปลอดภัย

"รายงานของเราชี้ว่า แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ใช้งานมากก็มีข้อบกพร่องให้อาชญากรร้านเข้ามาเจาะระบบได้มากเช่นกัน นี่เองที่เราต้องการกระตุ้นให้ผู้ดูแลระบบไอทีในองค์กรรับรู้ถึงความจำเป็นในการปกป้องระบบด้วยการอัปเดทโปรแกรมทุกครั้ง" ผู้บริหาร Bit9 กล่าว

ที่ผ่านมา ค่ายผู้ผลิตซอฟต์แวร์หลายรายที่มีรายชื่อติดอันดับทำเนียบซอฟต์แวร์บัคเยอะต่างประกาศให้ผู้ใช้อัปเดทชุดแพตช์เพื่อแก้ปัญหาบัคเป็นประจำ ซึ่งหลายครั้ง ผู้ดูแลระบบไอทีในองค์กรกลับละเลยในการตรวจสอบว่ามีการอัปเดทเครื่องในระบบครบถ้วนหรือไม่ จนทำให้เกิดช่องโหว่และนำไปสู่การโจมตีระบบจนเป็นข่าวดังหลายครั้งหลายครา นี่เองที่ Bit9 ระบุว่าทำการสำรวจเพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญในจุดนี้

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ได้รับรายงานว่ามีข้อบกพร่องรองลงมาคือ ชุดซอฟต์แวร์พัฒนาโปรแกรมจาวาจากซัน Sun Java Development Kit ถูกรายงานว่ามีบัค 36 จุด โปรแกรมเล่นไฟล์ภาพเคลื่อนไหว Adobe Shockwave Player มีบัค 35 จุด ขณะที่โปรแกรมเบราว์เซอร์ Microsoft Internet Explorer ถูกตรวจพบบัค 32 จุด และโปรแกรมเล่นไฟล์มัลติมีเดีย RealNetworks RealPlayer พบบัค 14 จุด

นอกจากซาฟารี โปรแกรมของแอปเปิลอย่าง Apple Webkit (พบบัค 9 จุด) และ Apple QuickTime (พบบัค 6 จุด) ก็ติดอันดับทำเนียบ Dirty Dozen ด้วย ถือเป็นบริษัทที่ครองอันดับในทำเนียบมากที่สุด ไม่ใช่ไมโครซอฟท์อย่างที่หลายคนคาดการณ์

โปรแกรมเล่นไฟล์แฟลช Adobe Flash Player ถูกรายงานว่าพบบัค 8 จุด มากกว่า Opera ที่พบบัค 6 จุด

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบ Dirty Dozen ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการนำเสนอที่เป็นเหตุเป็นผล โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มูลนิธิมอซิลา (Mozilla) ผู้สร้างไฟร์ฟ็อกซ์เคยออกมาแย้งว่า การสำรวจของ Bit9 นั้นหลีกเลี่ยงที่จะศึกษาความรวดเร็วในการแก้ไขบัคที่เกิดขึ้น และการเปิดเผยจำนวนบัคทั้งหมดก็ไม่เป็นผลดีต่อบริษัทที่ถูกพาดพิง เนื่องจากจะทำให้โปรแกรมการเป็นจุดสนใจของนักเจาะระบบมากขึ้นด้วย

Company Related Link :
Chrome
Safari
MS Office

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 พฤศจิกายน 2553 06:48 น.

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มะกันจ๋อย "จีน"ผงาดแชมป์คอมพ์โลก

เรียบร้อยโรงเรียนจีนจนได้เมื่อการสำรวจเพื่อจัดอันดับความเร็วซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลกครั้งล่าสุดพบว่า ซูเปอร์คอมพ์จากจีนสามารถเขี่ยเพื่อนร่วมสายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ และผงาดขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในฐานะคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูงสุดในโลกอย่างเป็นทางการ

เทียนเหอ-1 (Tianhe-1) ซึ่งมีความหมายว่าทางช้างเผือก ได้รับการการันตีว่าสามารถประมวลผลได้ถึง 2,570 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที (มีศูนย์ตามมาอีก 12 ตัว) ตัวเลขนี้ทำให้เทียนเหอ-1กลายเป็นอันดับหนึ่งของสำรวจโดยกลุ่ม Top 500 (www.top500.org) ซึ่งทำการสำรวจและจัดอันดับความเร็วซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลกมาตลอด

อดีตแชมป์อย่าง Jaguar ซูเปอร์คอมพ์อเมริกันที่ติดตั้งในหน่วยงานราชการสหรัฐฯในรัฐเทนเนสซีจึงตกไปอยู่อันดับ 2 ในขณะนี้ ด้วยสถิติความเร็วในการประมวลผล 1,750 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที

ปัจจุบัน เทียนเหอ-1 ถูกติดตั้งในศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเขตเทียนจิน ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสัญชาติจีนเต็มตัว แต่หน่วยประมวลผลที่อยู่ภายในเครื่องส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชิปที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน เช่น ซีพียูจากอินเทล (Intel) และเอ็นวิเดีย (Nvidia)

นอกจากเทียนเหอ-1 ซูเปอร์คอมพ์สัญชาติจีนนามเนบิวเล (Nebulae) ซึ่งถูกใช้งานอยู่ที่ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเมืองเซินเจิน ทางใต้ของจีนก็ถูกจัดให้เป็นซูเปอร์คอมพ์ที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ยังถือเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ต่อไป เนื่องจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากกว่าครึ่งหนึ่งในอันดับโลก Top 500 ถูกบันทึกว่ามาจากสหรัฐฯ นำหน้าจีนซึ่งกวาดไป 42 อันดับในรายการ ตามมาด้วยญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯถูกชิงมงกุฎไปสำเร็จโดยประเทศในเอเชีย เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเคยครองแชมป์ทำเนียบซูเปอร์คอมพ์โลกมาแล้วในปี 2002 โดยเป็นซูเปอร์คอมพ์ที่ถูกระบุว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าซูเปอร์คอมพ์อเมริกัน 20 ตัวในยุคนั้นรวมกัน

ทำเนียบซูเปอร์คอมพ์ Top 500 นั้นมีการจัดอันดับ 2 ครั้งต่อปี โดยการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญสัญชาติเยอรมนีและอเมริกัน เพื่อจัดอันดับซูเปอร์คอมพ์ความเร็วสูงที่นานาประเทศมักสร้างขึ้นเพื่อรองรับการประมวลผลที่ต้องการทรัพยกรสูงมาก เช่นในงานพยากรณ์อากาศ การทดสอบทางอวกาศ การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน เป็นต้น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤศจิกายน 2553 14:33 น.

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

18 เดือน ระบบคลาวด์ในเอเชีย-แปซิฟิกโต 83%

วีเอ็มแวร์เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงฝ่ายธุรกิจและไอทีเกือบ 7,000 คนในเอเชีย-แปซิฟิก ชี้การปรับใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

วีเอ็มแวร์ อิงค์ มองว่าเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโตสูงขึ้น 83% โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดไอทีมีการพัฒนาอย่างมากมีอัตราการใช้งานสูงสุด อยู่ที่ 92 เปอร์เซ็นต์ โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 6,953 คนในช่วงเดือนกันยายน ชี้ว่าการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์มีอัตราการขยายตัวรวดเร็วขึ้นใน 7 ตลาดทั่วเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทขนาดใหญ่

ปัจจุบัน 59 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทในระดับภูมิภาคมีการใช้ หรือวางแผนเกี่ยวกับระบบคลาวด์ เปรียบเทียบกับ 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว และ 22 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 องค์กรต่างๆ ในญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นผู้นำในการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ โดย 36 เปอร์เซ็นต์ และ 31 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ กำลังดำเนินโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีคลาวด์ ส่วนอินเดียและจีนเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ในแง่ของแผนการปรับใช้ โดย 43 เปอร์เซ็นต์ และ 39 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ มีแผนที่จะปรับใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

ในแง่ของการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ 23% นำหน้ามาเลเซียและไทยเล็กน้อยที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 21% แต่สำหรับองค์กรในประเทศมาเลเซีย 39% และไทย 39% มีแผนที่จะปรับใช้ระบบคลาวด์ในสัดส่วนที่มากกว่าสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์

โดยองค์กรที่มีความรู้ด้านไอที อาทิเช่นผู้ให้บริการโทรคมนาคม และบริษัทเทคโนโลยี เป็นผู้นำในการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ รวมถึงการวางแผนเกี่ยวกับการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในอนาคต

** เทคโนโลยีคลาวด์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบไอทีในรูปแบบบริการ **

สัดส่วนสูงสุดขององค์กรในญี่ปุ่น (86%), สิงคโปร์ (84%) และไทย (74%) เชื่อมโยงเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งเข้ากับระบบไอทีในรูปแบบบริการ ขณะที่ในออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินเดีย บริษัทส่วนใหญ่ (80%, 78% และ 75% ตามลำดับ) เชื่อมโยงเทคโนโลยีคลาวด์เข้ากับแอปพลิเคชันออนดีมานด์ ส่วนในจีน 80%ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะรองรับการจัดสรรทรัพยากรสตอเรจและเครือข่ายในแบบออนดีมานด์

มร.ไมเคิล บาร์น รองประธานฝ่ายซอฟต์แวร์และการวิจัยในเอเชีย-แปซิฟิกของ Springboard Research กล่าวว่า สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก ไอทีในรูปแบบบริการนับเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด บริษัทเหล่านี้กำลังมองหาผู้ขายและที่ปรึกษาที่สามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อใช้ประโยชน์จากบริการไอทีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการระบบคลาวด์”

องค์กรส่วนใหญ่ (60 เปอร์เซ็นต์) ต้องการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์เนื่องจากความสามารถในการปรับขนาดตามความต้องการทางธุรกิจ และเหตุผลในอันดับรองลงมาได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานฮาร์ดแวร์ และการเพิ่มความสะดวกในการจัดสรรทรัพยากร/เซิร์ฟเวอร์

การประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยระยะสั้นสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งในสัดส่วน 57 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทในเอเชีย-แปซิฟิก และมีเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ปรับใช้หรือมีแผนที่จะปรับใช้ระบบคลาวด์สำหรับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งโดยมากแล้วเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน

** ระบบคลาวด์แบบผสมผสานได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น **

บริษัทที่ต้องการปรับใช้ทั้งระบบคลาวด์สาธารณะ และระบบคลาวด์ส่วนตัวคิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ราว 37% ระบุว่าจะพิจารณาเฉพาะระบบคลาวด์ส่วนตัวเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจธนาคารและหน่วยงานราชการ โดยระบบพับลิค คลาวด์ยังคงได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ให้การตอบรับต่อระบบคลาวด์ดีที่สุดจากการสำรวจในครั้งนี้ ก็ยังมีองค์กรเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่ต้องการใช้ระบบพับลิค คลาวด์ในอาเซียน การยอมรับระบบคลาวด์แบบผสมผสานมีสัดส่วนที่สูงกว่า 4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเอเชีย-แปซิฟิก

สตอเรจ (58%) ถือเป็นเวิร์กโหลดอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้สำหรับระบบไพรเวท คลาวด์ โดยญี่ปุ่น (62 เปอร์เซ็นต์) และจีน (61 เปอร์เซ็นต์) มีแนวโน้มที่จะปรับใช้สตอเรจบนระบบไพรเวท คลาวด์ ส่วนแอพพลิเคชั่นระดับองค์กรบนระบบคลาวด์ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 49 เปอร์เซ็นต์

ในแง่ของแผนการปรับใช้ 93 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการปรับใช้ระบบคลาวด์ในอนาคตจะครอบคลุมการประชุมผ่านเว็บ, IM, การทำงานร่วมกัน และอีเมล

มร.แอนดรู ดัทตัน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่นของวีเอ็มแวร์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าแวดวงธุรกิจมีความสนใจเป็นพิเศษในระบบคลาวด์แบบผสมผสาน โดยสิ่งสำคัญก็คือ องค์กรต่างๆ ต้องการที่จะเข้าใช้แพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ รวมถึงรูปแบบการจัดการร่วมกันและบริการแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงระบบไพรเวท คลาวด์และพับลิค คลาวด์เข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอระบบคลาวด์ที่สามารถทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน รองรับการใช้งานข้อมูลและแอพพลิเคชั่นทุกที่ทุกเวลา

** ความท้าทายสำคัญสำหรับการปรับใช้ระบบคลาวด์คือเรื่องความปลอดภัย **

การผนวกรวมเทคโนโลยีคลาวด์เข้ากับระบบที่ใช้งานอยู่ยังคงถูกขัดขวางด้วยอุปสรรคสำคัญ คือความกังวลใจในเรื่องความปลอดภัย โดย 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าความปลอดภัยคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุด

ในตลาดใหม่ ปัจจัยหลักที่ยับยั้งขัดขวางการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ก็คือ องค์กรต่างๆ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 44 % ในจีน, 40%ในมาเลเซีย และ 40% ในไทย เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 36%

ผลลัพธ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า การใช้โซลูชันคลาวด์ที่อ้างอิงมาตรฐาน และการให้ความรู้ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในเอเชีย-แปซิฟิก

** เวอชวลไลเซชันคือรากฐานของคลาวด์คอมพิวติ้ง **

องค์กรต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก (59%) ระบุว่าโครงสร้างพื้นฐานเวอชวลไลเซชันคือส่วนประกอบสำคัญสำหรับคลาวด์คอมพิวติ้ง

ดัทตันอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีทั้งสอง โดยกล่าวว่า เวอร์ชวลไลเซชันช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถแยกแอปพลิเคชันทางธุรกิจและข้อมูลสำคัญๆ ออกจากระบบฮาร์ดแวร์ที่รองรับ และในทางกลับกัน ก็นับเป็นวิธีที่รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับระบบคลาวด์ องค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้กันมากขึ้น และพยายามที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนในเทคโนโลยีเวอชวลไลเซชัน

การปรับใช้เวอชวลไลเซชันในเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราสูงที่สุดในออสเตรเลีย (87%) และญี่ปุ่น (82%) และเมื่อแบ่งตามภาคธุรกิจ จะพบว่ามีการปรับใช้เวอร์ชวลไลเซชันในธุรกิจประกันภัยมากที่สุด (82%) ตามมาด้วยธุรกิจธนาคาร/บริการด้านการเงิน (76%) ประเทศไทย (67%), สิงคโปร์ (65%) และมาเลเซีย (65%) ตามด้วยออสเตรเลียและญี่ปุ่นในเรื่องการปรับใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน ในขณะที่ความแพร่หลายของเวอร์ชวลไลเซชันในอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 30%

บริษัทส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิกใช้เวอชวลไลเซชั่นสำหรับเซิร์ฟเวอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยหลายๆ องค์กรมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเวอร์ช่วลไลเซชั่นเพื่อรองรับการรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงานและการกู้คืนระบบเมื่อเกิดภัยพิบัติ

โอกาสการเติบโตที่สำคัญที่สุดสำหรับเวอชวลไลเซชันในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ระบบประมวลผลสำหรับผู้ใช้ แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่จะระบุว่าเดสก์ท็อปเวอชวลไลเซชันมีความสำคัญน้อยมากต่อภารกิจขององค์กร

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานอาจได้รับประโยชน์ที่สำคัญจากแนวทางใหม่สำหรับระบบคอมพิวติ้ง ซึ่งมีการทำเวอชวลไลซ์เดสก์ท็อป ด้วยการแยกระบบปฏิบัติการ ข้อมูลส่วนตัว และแอพพลิเคชั่นออกจากกัน ดังนั้นจึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการนำเสนอแอพพลิเคชั่นและข้อมูลให้แก่ผู้ใช้ทุกที่ทุกเวลาที่ผู้ใช้ต้องการบนทุกอุปกรณ์

ดัทตัน กล่าวเสริมว่า เดสก์ท็อปเวอร์ชวลไลเซชันรองรับการบริการตนเอง (Self-service) สำหรับผู้ใช้จำนวนมาก และนับเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้องค์กรยุคใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับขนาดได้อย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้อย่างฉับไว

Company Related Link :
VMware


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤศจิกายน 2553 16:34 น.

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

"Blekko.com" เสิร์ชพันธุ์ใหม่ท้าชนกูเกิล

ใครจะยอมปล่อยให้กูเกิล (Google) ครองตลาดค้นหาข้อมูลออนไลน์ หรือเสิร์ชเอนจินฝ่ายเดียว ล่าสุด Blekko.com เสิร์ชเอนจินพันธุ์ใหม่แจ้งเกิดบนโลกออนไลน์แล้วท่ามกลางกลุ่มทุนสนับสนุนร่วมหลายล้านเหรียญสหรัฐ อาสาเป็นตัวเลือกใหม่แทนกูเกิลและบิงจากไมโครซอฟท์ที่ครองตลาดค้นหาข้อมูลออนไลน์ในขณะนี้

Rich Skrenta ประธานกรรมการบริหารบริษัท Blekko กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งบริษัทคือการสร้างเสิร์ชเอนจินที่ไม่เพียงให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้ตามปกติ แต่จะเป็นการเสิร์ชที่ผู้ใช้จะไม่สามารถทำได้บนเสิร์ชเอนจินใด

คุณสมบัติสำคัญที่ Blekko เชิดชูที่สุดคือ slashtag ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถกำหนดขอบเขตการค้นหา ให้ดำเนินไปบนเฉพาะเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ใช้ต้องการ ส่งให้เว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องถูกกันออกจากผลการสืบค้นอย่างหมดจด

ที่ผ่านมา การค้นหาข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดคำเดียวบนเสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิล ยาฮู และบิง นำไปสู่การแสดงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องหลายพันล้านหน้า เดือดร้อนถึงชาวเน็ตที่จะต้องใช้สายตาคัดกรองผลการเสิร์ชมหาศาลเหล่านี้ด้วยตัวเอง จุดนี้ Blekko ยืนยันว่า slashtag (/) จะเป็นเครื่องมือเพื่อกรองผลการสืบค้น ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

หลักการทำงานของ slashtag นั้นไม่ต่างกับการใช้ hashtag (#) ที่จะทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถจับกลุ่มข้อความทวีตที่เกี่ยวข้องได้ โดย slashtag จะเป็นตัวช่วยจับกลุ่มผลการเสิร์ชทุกครั้งที่ผู้ใช้ Blekko ป้อนคำค้นเข้าไป ด้วยการเสนอ slashtag ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ใช้เลือกโดยอัตโนมัติ

เช่น หากผู้ใช้ต้องการค้นหาตำราอาหารลดความอ้วน เพียงพิมพ์คำว่า recipes ระบบ Blekko จะแสดงหมวดหมู่เว็บไซต์ที่คาดว่าผู้ใช้จะต้องการ เช่น /diet /food /baking เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้จับกลุ่มผลการค้นหาที่ต้องการอย่างคร่าวๆ จุดนี้ Blekko ระบุว่าสามารถวิเคราะห์กลุ่มคำที่ใช้ในการค้นหาครั้งใหม่ เพื่อหาความสัมพันธ์กับผลลัพธ์เว็บไซต์ที่พบโดยทั่วไป (ซึ่งไม่ถูกแสดงในครั้งแรก) จุดนี้ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาคลิกตรวจรายการเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง

ในช่วงทดสอบ Blekko จัดระบบเสนอ slashtag อัตโนมัติในกลุ่มคำค้นหายอดนิยมบางส่วนเท่านั้น ได้แก่ health, colleges, autos, personal finance, lyrics, recipes และ hotels โดยมีแผนที่จะเพิ่ม slashtag สำหรับหมวดผลลัพธ์ของการค้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

นอกจากนี้ Blekko ยังเปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้าง slashtag ของตัวเอง เพื่อสร้างเป็นแหล่งเก็บข้อมูลสำหรับการกลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่มในภายหลัง หรืออาจเปิดให้ผู้ใช้อื่นเข้ามาชมผลการสืบค้นได้ จุดนี้ ซีอีโอ Blekko ระบุว่าการเปิดให้เพื่อนฝูง ผู้เชี่ยวชาญ ชุมชน และการตั้งค่า slashtag ด้วยตัวผู้ใช้เอง จะทำให้ผลการค้นหามีคุณภาพเหนือกว่าเสิร์ชเอนจินเจ้าอื่น

นอกจากนี้ ซีอีโอ Blekko ยังทดสอบการค้นหาข้อมูลบัตรเครดิตที่คืนเงิน 2% ในสหรัฐฯ โดยการใช้คำว่า 2 percent cash back credit card เป็นคำค้นหาในกูเกิลและบิง แน่นอนว่า 2 เสิร์ชเอนจินนี้นำไปสู่ข้อมูลขยะจำนวนมาก แต่บน blekko เพียงใช้ /money [คำที่ใช้เสิร์ชคือ cash back credit card /money] เมื่อเลือก slashtag ที่นักเขียนบล็อกด้านการเงิน ผลการสืบค้นที่ได้ก็มีคุณภาพกว่ามาก

ทั้งหมดนี้ Blekko ระบุว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนอิสระจากทั้ง Marc Andreessen และ Ron Conway รวมมูลค่ามากกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 720 ล้านบาท) และใช้เวลาในการซุ่มพัฒนาเป็นเวลา 3 ปี โดย Blekko ยังมีความร่วมมือกับเว็บไซต์สารานุกรมรายใหญ่อย่าง Wikipedia บนความหวังให้การค้นหาข้อมูลเชิงคำถามคำตอบมีความแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสามารถนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกูเกิลก็มีแนวคิดเดียวกันและออกให้บริการในชื่อ SearchWiki ช่วงปี 2008 แต่ก็เงียบหายไปและถูกบริการเสิร์ชเรียลไทม์บนเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ขึ้นมาบดบังรัศมีแทน

แน่นอนว่า Blekko ไม่ใช่รายแรกที่หวังจะมาท้าชิงในสังเวียนเสิร์ชเอนจิน โดยปัจจุบัน กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 66% ในสหรัฐฯ ขณะที่บิงมีส่วนแบ่งตลาดรวมกับผู้ใช้ยาฮูรวมกัน 28% ซึ่งไม่ว่าผลการแขงขันจะเป็นเช่นไร แต่ประชาสัมพันธ์กูเกิลให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอีวีค (eWeek) ว่ายินดีร่วมแข่งขันกับ Blekko เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

Company Related Link :
Blekko

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤศจิกายน 2553 06:55 น.

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ไมโครซอฟท์แผ่ว แอปเปิลแซงในรอบ 15 ปี

ดูเหมือนจะเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) เพราะปี 2010 คือปีแรกที่คู่แข่งตลอดกาลของไมโครซอฟท์อย่างแอปเปิล (Apple) สามารถแซงหน้าทั้งในแง่มูลค่าหุ้นและรายรับรวม

โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ไมโครซอฟท์เพิ่งประกาศออกมาช่วงปลายเดือนตุลาคม กลับมีมูลค่าน้อยกว่าตัวเลขที่แอปเปิลทำได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นไตรมาสแรกในรอบ 15 ปีที่แอปเปิลสามารถท้าทายไมโครซอฟท์ได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ หลังจากที่แอปเปิลถูกยกให้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (คำนวณจากมูลค่าหุ้น) เหนือกว่าไมโครซอฟท์ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ไมโครซอฟท์ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2010 (กรกฎาคม-กันยายน) ว่าสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น 51% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน คิดเป็นกำไรสุทธิ 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตัวเลขที่เหนือกว่าคำพยากรณ์ของบริษัทเงินทุนในวอลล์สตรีท เนื่องจากตลาดค้าซอฟต์แวร์วินโดวส์ (Windows) และซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสารออฟฟิศ (Office) เติบโตเหนือความคาดหมาย ทั้งหมดนี้ไมโครซอฟท์ระบุว่าสามารถทำรายได้รวม 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.86 แสนล้านบาท) ซึ่งด้อยกว่าแอปเปิลที่ทำรายรับรวม 20,340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.10 แสนล้านบาท)

นี่เองที่ทำให้สื่อมวลชนอเมริกันรายงานว่า ไตรมาสที่ผ่านมาคือไตรมาสแรกในรอบ 15 ปีที่แอปเปิลสามารถทำยอดขายได้มากกว่าไมโครซอฟท์ โดยนักลงทุนนั้นตื่นตัวกับศักยภาพไมโครซอฟท์ที่ดูเหมือนว่าจะด้อยกว่าคู่แข่ง ทำให้มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์ลดลงถึง 14% ทั้งที่ไมโครซอฟท์สามารถทำยอดจำหน่ายและกำไรได้มากกว่าช่วง 8 ปีก่อนกว่าเท่าตัว

** ไมโครซอฟท์ยังแกร่ง **

ต้องยอมรับว่าไมโครซอฟท์สามารถทำได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากยังสามารถรักษาการเติบโตของบริษัทไว้ได้แม้องค์กรธุรกิจจำนวนมากจะยึดนโยบายใช้จ่ายน้อยลง และแนวโน้มที่ชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคพีซีขาลง ซึ่งไม่เพียงความกังวลทั้งหมดจะไม่มีผลต่อรายได้ แต่ไมโครซอฟท์ยังโชว์ตัวเลขว่าผลิตภัณฑ์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์และซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศสามารถสร้างยอดขายให้ไมโครซอฟท์ถึง 60% ของยอดจำหน่ายรวม โดยคิดเป็น 80% ของกำไรทั้งหมด

ผลประกอบการดีเยี่ยมของไมโครซอฟท์ทำให้นักวิเคราะห์มองคำว่า "ธุรกิจพีซีกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง" เป็นการตื่นตัวที่เกินกว่าเหตุ เนื่องจากในนาทีที่ธุรกิจแท็บเล็ตเติบโตต่อเนื่อง ไมโครซอฟท์ซึ่งน่าจะเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในตลาดพีซีที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร ก็ยังไม่ถึงกับทรุดตามคำคาดการณ์ของหลายสำนัก

จุดอ่อนใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์คือกลุ่มบริการออนไลน์ ซึ่งมีส่วนประกอบใหญ่เป็นบริการเสิร์ชเอนจินอย่าง Bing และเว็บท่า MSN กลุ่มธุรกิจนี้ขาดทุนเพิ่มขึ้น 17% แตะระดับตัวแดง 560 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุเป็นเพราะการลงทุนอย่างหนักเพื่อไล่ตามจ่าฝูงอย่างกูเกิล คาดว่าเบ็ดเสร็จตลอด 5 ปี ไมโครซอฟท์ขาดทุนจากแผนกนี้ราว 6,000 ล้านเหรียญแล้ว

สำหรับตัวเลขยอดรายรับรวม 16,200 ล้านเหรียญ ไมโครซอฟท์ระบุว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 25% ส่งให้มีกำไร 5,400 ล้านเหรียญ หรือ 62 เซ็นต์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ 3,600 ล้านเหรียญ หรือ 40 เซ็นต์ต่อหุ้น

เฉพาะธุรกิจจำหน่ายซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ทำกำไรขั้นต้นได้มากที่สุด 3,400 ล้านเหรียญ รองลงมาคือธุรกิจจำหน่ายระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทำกำไรขั้นต้น 3,300 ล้านเหรียญ นอกนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องมือและเครื่องแม่ข่าย ซึ่งรวมเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งด้วย ทำกำไรขั้นต้นได้ 1,600 ล้านเหรียญ ส่วนกลุ่มสินค้าเพื่อความบันเทิงอย่าง Xbox และซอฟต์แวร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำกำไรขั้นต้น 382 ล้านเหรียญ

ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ดำเนินนโยบายเลิกจ้างพนักงาน 5,800 คนจนมีจำนวนพนักงานรวมในขณะนี้ 89,000 คน

** คู่แข่งแกร่งมากกว่า **

แม้แอปเปิลจะมีกำไรสุทธิตลอด 3 เดือนต่ำกว่าไมโครซอฟท์ โดยประกาศที่ 4,310 ล้านเหรียญ แต่กำไรของแอปเปิลที่แกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การได้กำไรในไตรมาสก่อนเพียง 3,350 ล้านเหรียญ (ปี 2009) และ 2,530 ล้านเหรียญ (ปี 2008) รวมถึงรายรับรวมของแอปเปิลที่เพิ่มขึ้นถึง 67% ในไตรมาสเดียวกัน ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในอนาคตของไมโครซอฟท์เท่าใดนัก จนเป็นผลให้มูลค่าหุ้นไมโครซอฟท์ตกต่ำลงในที่สุด

แอปเปิลระบุว่า ไอโฟน (iPhone) ถือเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ให้แอปเปิลในไตรมาส 3 เนื่องจากยอดจำหน่ายทั้งหมดสูงถึง 14.1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยไอแพด (iPad) จำหน่ายได้ 4.2 ล้านเครื่อง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.8 ล้านเครื่อง จุดนี้แอปเปิลชี้แจงว่าเป็นเพราะปัญหาในสายการผลิตไอแพด ซึ่งคาดว่าจะแก้ไขสถานการณ์ได้ในไตรมาสนี้ สำหรับคอมพิวเตอร์แมคอินทอช แอปเปิลระบุว่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 28% เบ็ดเสร็จที่ 3.89 ล้านเครื่อง เครื่องเล่นเพลงไอพอด (iPod) มียอดจำหน่ายที่ 9.05 ล้านเครื่อง ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการมหาศาลของผู้บริโภคที่ไมโครซอฟท์ไม่อาจเข้าถึงได้

ในส่วนคู่แข่งไมโครซอฟท์ด้านธุรกิจออนไลน์ ยักษ์ใหญ่กูเกิลระบุว่ามีรายได้หลังหักส่วนแบ่งกับเว็บไซต์พันธมิตรราว 5,480 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งทำได้ 5,270 ล้านเหรียญ แหล่งรายได้ใหญ่คือธุรกิจลงโฆษณาชนิดจ่ายตามจำนวนคลิก ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 16% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว

ความแข็งแกร่งของคู่แข่งทั้งหมดนี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจหากไมโครซอฟท์จะถูกแซงหน้าเรื่องการโกยเงินจากผู้บริโภคไป แต่ย่อมเป็นเรื่องไม่ดีแน่ หากไมโครซอฟท์จะไม่ปรับตัวและปล่อยให้รูปการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

Company Related Link :
Microsoft

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2553 09:20 น.

อินเทลดึง 70 บริษัทยักษ์ร่วมมือด้านคลาวด์ฯ

อินเทล ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่เป็นตัวตั้งตัวตีในการดึง 70 บริษัทนานาชาติที่ติดอันดับ Fortune 500 ซึ่งนิตยสารชื่อดังจัดอันดับไว้ เปิดเป็นสมาคม Open Data Center Alliance เพื่อหาแนวทางการจัดระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อสร้างสรรค์เป็นระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลที่เปิดกว้างและทำงานร่วมกันได้ โดยบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าการลงทุนด้านไอทีต่อปีรวมกันกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นองค์กรที่มีงานวิจัยหรือโครงการเกี่ยวกับระบบคลาวด์อย่างจริงจัง

อินเทลออกแถลงการณ์ว่าคณะกรรมการหลักของกลุ่มจะประกอบด้วยแบรนด์สากลอย่าง BMW, China Life, Deutsche Bank, J.P. Morgan Chase, Lockheed Martin, Marriott International, Inc., National Australia Bank, Shell, Terremark และ UBS โดยอินเทลจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษของกลุ่มเพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีแก่บริษัทในกลุ่มสมาชิก เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงในปี 2015

สมาคมที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ "Cloud 2015" ของอินเทลในการหาทางให้ระบบคลาวด์คอมพิวติงในองค์กรมีความปลอดภัยและมีความสามารถในการทำงานร่วมกันมากขึ้นในปี 2015 ซึ่งในเวลานั้น อินเทลเชื่อว่าปริมาณชาวเน็ตเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน 1,000 ล้านคน อุปกรณ์เคลื่อนที่มากกว่า 15,000 ล้านชิ้น และทราฟฟิกออนไลน์มากกว่า 1 เซตาไบต์

Company Realted Link :
intel

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2553 10:57 น.

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ญี่ปุ่นไอเดียกระฉูด "พรินเตอร์กลิ่น"

Edited - นักวิจัยญี่ปุ่นหยิบระบบเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทมาต่อยอด ปูทางผู้ใช้พิมพ์ภาพพร้อมกลิ่นได้จากเครื่องพิมพ์เครื่องเดียว หวังใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างกลิ่นให้ทีวี-คอมพิวเตอร์ เพื่อให้แฟนรายการอาหารในอนาคตได้รับรู้กลิ่นหอมของอาหารระหว่างชม รวมถึงผู้ชมภาพพิมพ์ที่จะได้รับกลิ่นตามภาพที่ชมอย่างเต็มอรรถรส

ผลงานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากบุคลากรมหาวิทยาลัย Keio University ในโตเกียว ซึ่งระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาทางนำระบบการทำงานลักษณะเดียวกับระบบในเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท มาประยุกต์เป็นเครื่องส่งกลิ่นตามข้อมูลภาพที่ปรากฏทั้งที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้ฝันเรื่องการสร้าง"ภาพยนตร์มีกลิ่น"ที่ถูกริเริ่มในโลกตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีแนวโน้มเป็นความจริงยิ่งขึ้น

บริษัทที่ริเริ่มการสร้างภาพยนตร์มีกลิ่นในโลกคือ AromaRama ครั้งนั้น AromaRama ใช้วิธีปล่อยกลิ่นออกมาทางเครื่องปรับอากาศในโรงภาพยนตร์ ขณะที่บริษัทคู่แข่งนามว่า Smell-O-Vision ใช้วิธีสร้างระบบปล่อยกลิ่นผ่านท่อของตัวเองขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการนั้นล้มเหลวเพราะเสียงรบกวนจากเครื่องจักรและความอบอวลของกลิ่นเดิมไปรบกวนกลิ่นใหม่ทำให้กลิ่นในขณะนั้นไม่สัมพันธ์กับภาพ กระทั่ง iSmell USB อุปกรณ์ส่งกลิ่นจากบริษัท Digiscents ถูกส่งมากระตุ้นตลาดอีกครั้งในปี 2000 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะปัญหาลักษณะเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ Kenichi Okada นักวิจัยผู้เตรียมนำเสนองานวิจัยนี้ในงานประชุมซึ่งสมาคม Association for Computing Machinery มีกำหนดจัดขึ้นที่อิตาลีช่วงสัปดาห์ปลายเดือนตุลาคม 53 แสดงความเชื่อมั่นว่าความสามารถของระบบปล่อยหมึกของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปล่อยกลิ่น ซึ่งทำให้ระบบส่งกลิ่นสามารถทำงานได้เงียบ ควบคุมได้ โดยเฉพาะการทำให้กลิ่งจางลงในชั่ววินาที

วารสาร New Scientist รายงานว่านักวิจัยญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ร่วมชาติอย่างแคนนอน (Canon) ดัดแปลงเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตรุ่นเก่าของแคนนอนโดยใช้ชื่อว่า olfactory display คุณสมบัติเด่นคือความสามารถในการปล่อยกลิ่นสลับกัน 4 กลิ่นได้อย่างแม่นยำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมวิจัยพบว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตนั้นสามารถพ่นหัวน้ำหอมในความเร็ว 1 พิโคลิตร (picolitr) ต่อ 0.7 มิลลิวินาที ซึ่งความเร็วดังกล่าวยังน้อยเกินกว่าขีดจำกัดที่มนุษย์จะได้กลิ่น นักวิจัยจึงเกิดแนวคิดเพิ่มเวลาให้เป็น 100 มิลลิวินาที ซึ่งทำให้เครื่องพิมพ์สามารถให้กลิ่นทั้งมะนาว ลาเวนเดอร์ แอปเปิล ซินนามอน (อบเชย) องุ่น และมิ้นต์ได้ในที่สุด

รายงานระบุว่า กลิ่นที่ได้จะจางหายไปหลังจากสูดดมสองครั้ง ทำให้เครื่องสามารถส่งกลิ่นอื่นตามมาในทันที กลิ่นที่ได้จากระบบจึงไม่ผิดเพื้ยน

Okada ระบุว่าการพัฒนาขั้นต่อไปคือการสร้างกลิ่นที่ตรงกับภาพโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากการศึกษาประสบความสำเร็จ เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทในอนาคตก็จะสามารถทำงานเป็นทั้งเครื่องพิมพ์และเครื่องปล่อยกลิ่นได้ในเครื่องเดียว

ที่ผ่านมา เทคโนโลยีกลิ่นพร้อมภาพนั้นไม่ได้ถูกคาดหวังเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้งานด้านสุขภาพได้ เช่น การใช้กลิ่นช่วยเตือนความจำผู้ป่วยสมองเสื่อมให้รับประทานอาหารหรือยาอย่างตรงเวลา ซึ่งคาดว่ามนุษย์จะได้รับประโยชน์อื่นๆจากกลิ่นได้ในอนาคต

อีกความท้าทายของระบบปล่อยกลิ่นคือการสร้างกลิ่นสำหรับจุดประสงค์ทั่วไป เนื่องจากนักสังเคราะห์กลิ่นยังไม่ทราบถึงวิธีการสังเคราะห์กลิ่นทั้งหมดที่อุตสาหกรรมต้องการ การสร้างกลิ่นลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลิ่นไม่ได้เกิดจากการสังเคราะห์สีแดงสีเขียวหรือสีฟ้า ขณะเดียวกัน ส่วนประกอบที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการสังเคราะห์กลิ่นก็ยังมีมากมายหลายพันชนิดขึ่นอยู่กับกลิ่นที่ต้องการ เช่น กลิ่นราสเบอร์รี่ที่ไม่สามารถสังเคราะห์ได้จากช็อคโกแลต เป็นต้น

Company Related Link :
Keio University

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2553 12:40 น.

ผู้ก่อตั้งเสิร์ชเอนจิ้นจีน "Baidu" ขึ้นแท่นรวยอันดับ 2 ในจีน

อีกบทพิสูจน์ความล่ำซำจากธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้น ล่าสุดนิตยสาร Forbes China เปิดทำเนียบเศรษฐีมังกรโดยชู Robin Li ผู้ร่วมก่อตั้งเสิร์ชเอนจิ้นสัญชาติจีนอย่าง"ไป่ตู้ (Baidu.com)"เป็นหนึ่งในสองของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ โดย Li ครองตำแหน่งอันดับ 2 รองจาก Zong Qinghou เจ้าพ่อน้ำอัดลมแบรนด์ Wahaha ขวัญใจลูกเด็กเล็กแดงแดนมังกร

Li เป็นนักธุรกิจวัย 44 ปีที่ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินมากกว่า 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา โดยสามารถแซงหน้าเศรษฐีรายอื่นจากเดิมที่เคยอยูในอันดับ 14 มาเป็นอันดับที่ 2 เพราะอานิสงส์จากมูลค่าหุ้นของไป่ตู้ที่พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากยักษ์ใหญ่กูเกิล (Google) ประกาศปิดบริการเสิร์ชเอนจิ้นในพื้นที่ประเทศจีน เนื่องจากไม่สามารถกระทำตามกฏหมายคัดกรองเนื้อหาเว็บไซต์หรือกระบวนการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีนได้

ไม่เพียงมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น ไป่ตู้ดอทคอมเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กำไรของบริษัทในไตรมาส 3 ปี 2553 นั้นเพิ่มขึ้นถึง 112% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เบ็ดเสร็จกำไรอยู่ที่ 156.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 45 เซนต์ต่อหุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 41 เซนต์

ในส่วนของรายได้ ไป่ตู้ประกาศว่ารายรับในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 76.4% จากปีที่แล้ว แตะ 337.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าไตรมาส 4 จะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกจนแตะระดับ 354.2 - 364.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงศักยภาพของเสิร์ชเอนจินจีนที่ร้อนแรงอย่างยิ่งในขณะนี้ โดยปัจจุบัน ไป่ตู้ครองส่วนแบ่งตลาดเสิร์ชเอ็นจินในจีนมากถึง 70% และกำลังวางแผนกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอีคอมเมิร์ซและวิดีโอออนไลน์ในอนาคต

สำหรับ Zong แชมป์รวยอันดับ 1 ของจีนนั้นเป็นชายวัย 65 ปี มีทรัพย์สินราว 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยับอันดับจากเบอร์ 3 ในปีก่อนหน้า โดยชายที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ของจีนคือ Liang Wengen วัย 53 ปีผู้ก่อต้งบริษัทผลิตเครื่องมือหนักนาม Sany Group มูลค่าทรัพย์สิน 5,900 ล้านเหรียญ

เหนืออื่นใด การจัดอันดับทำเนียบเศรษฐีจีนครั้งล่าสุดยังสะท้อนให้เห็นภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรอย่างก้าวกระโดด โดยจำนวนเศรษฐีแดนมังกรที่ติดทำเนียบเศรษฐีระดับโลกของนิตยสาร Forbes นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 128 รายจาก 79 รายในปีที่ผ่านมา ตามหลังสหรัฐฯที่ยังเป็นพื้นที่ที่มีเศรษฐีมากที่สุดในโลก

..ข่าวนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทย ลุกขึ้นมาทำเสิร์ชเอนจินเองก็ได้ เพื่อให้คนไทยไม่ต้องพึ่งพากูเกิลเพียงอย่างเดียว..

Company Related Link :
Baidu

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2553 19:29 น.

เทรนด์ไมโครจับมือ4ธนาคารใหญ่ บริการอีแบงก์กิ้งปลอดภัยชัวร์

เทรนด์ไมโคร จับมือ 4 ธนาคารยักษ์ ให้บริการ “เฮ้าส์คอลล์” บริการสแกนไวรัสออนไลน์ฟรี สร้างความเชื่อมั่นใช้บริการ “อีแบงก์กิ้ง” ปลอดภัยชัวร์

รัฐสิริ ไข่แก้ว ผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เทรนด์ ไมโคร องค์ จำกัด กล่าวว่า เทรนด์ ไมโครได้ร่วมมือกับ 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่ ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย นำเสนอบริการออนไลน์สแกนไวรัส “เฮ้าส์คอลล์” (HouseCall) ฟรีแก่ลูกค้าอีแบงก์กิ้งของทั้ง 4 ธนาคารเพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานธุรกรรมการเงินออลน์ รวมไปถึงเป็นการสร้างพฤติกรรการใช้งานให้ปลอดภัยจากมัลแวร์ สปายแวร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของผู้ใช้บริการอีแบงก์กิ้งในปัจจุบัน

เฮาส์คอลล์เป็นบริการตรวจสอบและกำจัดไวรัสแบบออนไลน์ แปรียบเสมือนเป็นผู้ใช้โปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้งตัวโปรแกรมลงในเครื่องของผู้ใช้แต่ประการใด เพียงแค่ผู้ใช้คลิกใช้หน้าแรกของบริการเฮาส์คอลล์ก่อนเข้าล็อกอินใช้บริการอีแบงก์กิ้งของแต่ละธนาคาร ระบบจะทำการสแกนค้าหาภัยคุกคามต่างๆที่อยู่ในคอมพิวเตอร์นั้นๆ ให้ในแต่ละครั้งที่มีการทำธุรกิจกรรมผ่านอีแบงก์กิ้ง โดยเฮาส์คอลล์จะทำการสแกนค้นหาเวิร์ม โทรจัน สปายแวร์ มัลแวร์ที่อยู่ในระบบของผู้ใช้อย่างละเอียด หลังจากที่พบแล้ว ระบบก็จะทำการจำกัดภัยคุกคามออกไปจากเครื่องโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับความเร็วอินเทอร์เน็ตขนาดของฮาร์ดดิสก์ที่สแกน และปริมาณไฟล์ข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบด้วย

“หลังจากที่ลูกค้าของธนาคารใช้บริการเฮาส์คอลล์แล้ว เพื่อป้องกันการภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น ควรจะมีการติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กของตนเองด้วย เพื่อป้องกัน ตรวจสอบและกำจัดไวรัสอื่นๆ ที่จะติดมาได้ในครั้งต่อๆ ไป

รัศสิริ กล่าวว่า แนวโน้มภัยคุกคามที่เกิดขึ้นบนเว็บไซด์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานล่าสุดของศูนย์วิจัยเทรนด์ แล็บส์พบว่า จำนวนยูอาร์แอลที่เป็นอันตรายเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านยูอาร์แอล ในเดือนมกราคมเป็นกว่า 3,500 ล้านยูอาร์แอลในเดอนมิถุนายน โดยในอเมริกาเหนือถือเป็นแหล่งที่มียูอาร์แอลที่เป็นอันตรายมากที่สุด

ขณะที่แปซิฟิกมีเหยื่อที่ติดเชื้อมัลแวร์สูงสุด และสำหรับยูอาร์แอลที่บริษัทเทรนด์ไมโครสามารถบล็อกได้เป็นจำนวนมากที่สุด คือ เว็บไซด์ลามกและเว็บไซด์มัลแวร์สายพันธุ์ที่เป็นอัน ตรายต่างๆ เช่น โค้ด IFRAME TROJ_AGENT เป็นต้น

ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้บริการอีแบงก์กิ้งทั้ง 4 ธนาคารรวมกันมีประมาณ 4 ล้านบัญชี ซึ่งถือเป็นอีกบริการหนึ่งของธนาคารที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ผู้บริหารทั้ง 4 ธนาคารยืนยันว่า มีความปลอดภัยสูงในส่วนของธนาคารที่มีการลงทุนในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแต่ในแต่ละปีเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างสูง

อรุณภรณ์ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายบริหารงาน ซีอาร์เอ็ม และบริการช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ทางธนาคารมีการอัปเดทเทคโนโลยีทางระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า ซึ่งทางธนาคารมีบริการที่คอยป้องกันความปลอดภัยทางอีแบงก์กิ้ง อย่างบริการ One Time Passwordที่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยอีกขั้นเวลาทำธุรกรรมโอนเงิน จ่ายบิลผ่านทางเอสเอ็มเอส แต่สำหรับบริการเฮาส์คอลล์เป็นอีกบริการหนึ่งที่ช่วยยกมาตรฐานความปลอดภัยในฝั่งผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

“ส่วนใหญ่ปัญหาความไม่ปลอดภัยบริการอีแบงก์กิ้งมักจะมาจากฝั่งผู้ใช้ที่รู้ไม่เท่าทันเหล่ามิจฉาชีพที่มีส่งสปายแวร์ โทรจันคอยดักจับยูสเซอร์พาสเวิลด์ของผู้ใช้อีแบงก์กิ้ง ทำให้เหล่ามิจฉาชีพเหล่านั้นเข้าสู่ระบบเหมือนกับเป็นเจ้าของบัญชีนั้น ถึงแม้ปัญหานี้อาจยังไม่น้อยมากซึ่งบริการนี้ถือเป็นบริการเสริมที่เป็นประโยชน์กับลูกค้าของธนาคารที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการ”

Company Related Link :
Trend Micro

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2553 11:53 น.

กูเกิลเบียดสมุดหน้าเหลือง จุดพลุบริการ Google Place Search

กูเกิลจุดพลุบริการค้นหาสถานที่ท้องถิ่นนาม Google Place Search รุกคืบบริการสมุดหน้าเหลือง Yellow Pages เต็มที่ด้วยการแนบข้อมูล แผนที่ และรีวิวเสียงตอบรับคุณภาพร้านค้าไปกับผลการสืบค้นในวิธีใหม่ มีแผนตั้งเป็นตัวเลือกสแตนด์อะโลนลักษณะเดียวกับที่ผู้ใช้กูเกิลสามารถค้นหาภาพหรือข่าวสารได้โดยเฉพาะ เท่ากับเจ้าของกิจการทั่วโลกจะมีทางเลือกในการแสดงตำแหน่งร้านของตัวเองให้ขึ้นหน้าแรกกูเกิลได้โดยไม่ต้องลุ้นกับบริการ Google Maps อย่างที่เป็นในปัจจุบัน

Jackie Bavaro ผู้จัดการโครงการ Place Search บรรยายไว้ในบล็อกกูเกิลว่า Place Search คือบริการค้นหาข้อมูลในท้องถิ่นชนิดใหม่ที่จะจัดการข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ทั่วโลกให้ใช้ง่ายและเป็นระเบียบ เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจของชาวเน็ตว่าจะเดินทางไปที่แห่งใด โดยผลสืบค้น Place Search จะปรากฏขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อกูเกิลวิเคราะห์และคาดว่าชาวเน็ตกำลังค้นหาข้อมูลในท้องถิ่นใด

"หากไม่ปรากฏข้อมูล Place Search อัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถคลิกลิงก์เพื่อชมหน้าผลการเสิร์ชได้ด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นผลจากเทคโนโลยีที่ทำให้ระบบของกูเกิลเข้าใจตำแหน่งที่ตั้งร้านค้าในท้องถิ่นได้ดีขึ้น เราเชื่อมเว็บไซต์หลายล้านแห่งเข้ากับพื้นที่จริงในโลกมากกว่า 50 ล้านจุด จนทำให้ระบบสามารถวิเคราะห์อย่างอัตโนมัติว่าเว็บไซต์ใดกำลังถูกพูดถึง แม้การเสิร์ชในขณะนั้นจะไม่ได้ระบุข้อมูลที่เพียงพอก็ตาม”

ข้อมูลใน Place Search จะประกอบด้วยข้อมูลเว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ เวลาทำการ และข้อมูลอื่นๆของร้านค้าท้องถิ่นทั้งร้านอาหาร ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ รวมถึงร้านซักแห้ง เพื่อให้ผู้ใช้กูเกิลได้รับข้อมูลสถานที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบค้น โดยจะเปิดทางให้ผู้ใช้กูเกิลเข้ามาให้คะแนนคุณภาพร้านค้า และการแสดงลิงก์สู่บริการ Google Maps เพื่อเติมเต็มข้อมูลการเดินทางที่แม่นยำยิ่งขึ้น

รายงานระบุเพียงว่า คุณสมบัติการค้นหาสถานที่จะเริ่มต้นเปิดให้ใช้งานในหลายพื้นที่ทั่วโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ข้อมูลเบื้องต้นคือการรองรับท้องถิ่นมากกว่า 50 ล้านจุดผ่าน 40 ภาษา ยังไม่มีรายละเอียดว่ามีภาษาไทยรวมอยู่ด้วยหรือไม่

Company Related Link :
Google

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 ตุลาคม 2553 18:19 น.

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บลูทูธถอยไป "WiFi Direct"มาแล้ว!!

โลกต้องบันทึกว่าวันจันทร์ที่ 25 ต.ค. 53 คือวันแรกของการเริ่มต้นให้ใบรับรองมาตรฐานเทคโนโลยี "ไว-ไฟ ไดเรกต์ (WiFi Direct)" แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์พกพา เทคโนโลยีไว-ไฟไดเรกต์นี้เองที่หลายคนคาดหวังว่าจะทำให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ดิจิตอลระหว่างกันในอนาคตเกิดขึ้นได้ง่ายดายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฟันธงอีกไม่นาน โลกจะเข้าสู่กาลอวสานของเทคโนโลยีบลูทูธ ซึ่งผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกนิยมใช้ส่งไฟล์ข้อมูลหรือภาพระหว่างกันในขณะนี้

ไว-ไฟไดเรกต์เป็นเทคโนโลยีที่กลุ่มพันธมิตรไว-ไฟ (WiFi Alliance) พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีไว-ไฟดั้งเดิมเพื่อให้อุปกรณ์พกพาสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอยต่อ และปลอดภัย ทั้งหมดนี้ทำให้ไว-ไฟไดเร็กต์ถูกตั้งชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตบลูทูธ เพราะไว-ไฟไดเรกต์สามารถทำงานแทนบลูทูธได้ทุกประการ แถมยังสามารถรองรับแอปพลิเคชันและประสิทธิภาพที่เหนือกว่า

รายงานระบุว่า หลังจากการให้ใบรับรองแก่ผู้ผลิต เชื่อว่าอุปกรณ์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีไว-ไฟไดเรกต์จะวางจำหน่ายได้ภายในปลายปี 2010 นี้

แม้ไว-ไฟไดเรกต์จะสร้างบนไว-ไฟดั้งเดิม แต่ไว-ไฟไดเรกต์กลับต้องการปัจจัยแวดล้อมในการทำงานต่างกัน ประการแรกคือไว-ไฟไดเรกต์ไม่ต้องการเครือข่ายหรือระบบกระจายสัญญาณไว-ไฟ เนื่องจากไว-ไฟไดเร็กต์จะทำให้อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบเครื่องต่อเครื่อง (peer-to-peer) ขณะเดียวกันจะทำให้ขั้นตอนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กผ่านสมาร์ทโฟน ทำได้ง่ายกว่ากระบวนการเชื่อมต่อปัจจุบันที่เรียกว่า adhoc เนื่องจากไว-ไฟไดเรกต์สามารถค้นหาอุปกรณ์อื่นในบริเวณรอบข้างโดยไม่ต้องเข้าร่วมเครือข่ายกัน แถมระบบยังสามารถแจ้งได้ว่าเครื่องปลายทางสามารถรับบริการใดได้บ้าง

จุดขายสำคัญของไว-ไฟไดเรกต์คือความเร็วในการส่งข้อมูลสูงสุด 54Mbps ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งไฟล์ภาพความละเอียดสูงไปยังเครื่องพิมพ์ หรือส่งไฟล์วิดีโอแบบ HD จากโทรศัพท์ไปยังเครื่องเพื่อนข้างเคียงได้อย่างลื่นไหล ที่สำคัญ ไว-ไฟไดเรกต์ยังมีรัศมีการทำงานที่ครอบคลุมกว้างกว่า มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส WPA2 (Wi-Fi Protected Access 2) สามารถจับคู่ได้มากกว่าหนึ่งอุปกรณ์ ทำให้ผู้ใช้สามารถจับคู่อุปกรณ์ที่สนับสนุน Wi-Fi Direct กับอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลายชิ้นพร้อมกัน

ในมุมของผู้บริโภค คาดว่าไว-ไฟไดเรกต์จะถูกใช้ในการแบ่งปันภาพและข้อมูลอื่นๆ ระหว่างเพื่อนและครอบครัว ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่ ภาพถ่ายความละเอียดสูง หรือวิดีโอไฮเดฟจากกล้องดิจิตอล อุปกรณ์ด้านความบันเทิง และเครื่องพีซีในบ้าน ภาพจากอุปกรณ์พกพาเหล่านี้จะสามารถส่งไปแสดงยังจอคอมพิวเตอร์หรือทีวีในบ้านได้ รวมถึงการแสดงผลระบบสนทนาผ่านวิดีโอ การเล่นวิดีโอเกมส์ และการสนทนาผ่านระบบ IM

การเชื่อมต่อที่สะดวกขึ้นยังทำประโยชน์แก่องค์กรธุรกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำงานนอกสถานที่ ขณะเดียวกันการเข้ารหัส WPA2 ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถป้องกันไม่ให้มีการขโมยข้อมูลได้อย่างรัดกุม โดยก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยในไว-ไฟไดเร็กต์ เนื่องจากบลูทูธถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นช่องทางชั้นเยี่ยมให้เหล่านักเจาะระบบขโมยข้อมูลส่วนตัว ไว-ไฟไดเรกต์จึงถูกพัฒนาให้ทำงานบนเทคโนโลยี WPA2 และการเข้ารหัสข้อมูล AES ซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการการเชื่อมต่อและตรวจสอบได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เบื้องต้น รายงานระบุว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในท้องตลาดปัจจุบันที่รองรับมาตรฐาน WiFi 802.11x จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไว-ไฟไดเรกต์ทั้งสิ้น เท่ากับผู้ที่ซื้อเครื่องพิมพ์มาตรฐานไว-ไฟไดเรกต์ในช่วงปลายปีนี้ จะสามารถเชื่อมต่อกับพีซีเครื่องดังกล่าวได้แบบทันใจ

เหนืออื่นใด กลุ่มพันธมิตรไว-ไฟนั้นมีสมาชิกเป็นบริษัทไอทีรายใหญ่อย่างซิสโก้ และอินเทล การเกิดขึ้นของไว-ไฟไดเรกต์จึงถูกมองว่าจะมีบทบาทกับอุตสาหกรรมไฮเทคทั่วโลก ทำให้มีโอกาสสูงที่บลูทูธ ซึ่งเคยเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการส่งไฟล์หรือข้อมูลอื่นๆ ระหว่างอุปกรณ์มาตลอด จะถูกลืมเลือนไปโดยมีไว-ไฟไดเรกต์มาแทนที่ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอุปกรณ์ไฮเทคครั้งใหญ่อีกครั้ง

Company Related Link :
Wi-Fi

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ตุลาคม 2553 09:26 น.

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"หนีเสือปะจระเข้" โละ CAT CDMA หันหา HSPA

นักวิชาการชี้ กสท เปลี่ยนเทคโนโลยี เลิก CDMA หันไปทำ 3G HSPA ไม่คุ้มค่า ได้ไม่เท่าเสีย ชี้เทคโนโลยีจะตายในอีก 3-4 ปีข้างหน้า เผยซื้อฮัทช์มีอำนาจต่อรองสูงเพราะเป็นเจ้าของความถี่ ควรเร่งซื้อมาปั๊มเงินทำประโยชน์ก่อนหมดอายุแล้วลุยทำ 4G LTE คุ้มค่ากว่ากันเยอะ
นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า การที่บริษัท กสท โทรคมนาคม มีแผนเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก CDMA หันมาลงทุน 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA แทน หากไม่สามารถซื้อกิจการบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย (ฮัทช์) ได้นั้น การลงทุนใหม่ด้วย HSPA ถือว่าไม่มีเหตุผลเนื่องจากอายุของเทคโนโลยีดังกล่าวจะหมดลงในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับ CDMA เนื่องจากขณะนี้โลกของเทคโนโลยีไร้สาย กำลังมุ่งเข้าสู่เทคโนโลยี 4G หรือ LTE ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบและจะแพร่หลายในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

'การที่ กสท มีแผนสำรองอัปเกรดความถี่เดิมเป็น 3G ด้วย HSPA หากซื้อฮัทช์ไม่สำเร็จ เป็นวิธีที่ไม่มีเหตุผลเลย เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน HSPA คือระบบ 3.9G ที่อายุเทคโนโลยีจะหมดลงในอีก 3-4 ข้างหน้า กว่า กสท จะจัดซื้อจัดจ้างประมูล ติดตั้งโครงข่ายใหม่ ก็ใช้เวลาไปร่วมปีครึ่ง ยิ่งทำให้เหลือเวลาใช้งาน HSPA สั้นลงไปอีก'

ทั้งนี้การลงทุนด้าน HSPA ถึงจะมีต้นทุนที่ต่ำก็จริง แต่สาเหตุที่ราคาอุปกรณ์ถูกเป็นเพราะอายุการใช้งานเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว

หากพิจารณาให้รอบด้านถึงเทคโนโลยีปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตแล้ว จะเห็นว่าการที่ กสท เข้าไปซื้อกิจการฮัทช์มีเหตุผลมากกว่า เพราะราคาสามารถต่อรองกันได้ เนื่องจากฮัทช์เป็นเพียงผู้ทำการตลาด ส่วนบริษัท บีเอฟเคที ประเทศไทย จำกัดเป็นผู้ติดตั้งและให้เช่าโครงข่าย ส่วน กสท เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ซึ่งอำนาจการต่อรองย่อมสูงกว่า

'การซื้อฮัทช์เป็นการซื้อของที่มีอยู่แล้ว มาเร่งปั๊มเงินทำประโยชน์ให้สูงสุดก่อนเทคโนโลยีจะหมดอายุ ซึ่งคุ้มค่าและคุ้มทุนได้เร็วกว่า'

อย่างไรก็ตามการนำความถี่ 850MHz มาให้บริการ 3G HSPA นั้น กสท ไม่สามารถทำได้ทันทีเพราะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก่อนเพราะความถี่ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้บริการแบบอนาล็อกเท่านั้น ดังนั้นการนำมาให้บริการดิจิตอลจึงต้องขออนุญาตก่อนซึ่งจะกลายเป็นเรื่องยากเพราะที่ผ่านมา กสท ได้ฟ้องร้อง กทช.กรณีจัดสรรความถี่ 2.1GHz เพื่อให้บริการ 3G ส่งผลให้ กทช.ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่จนกว่าศาลจะตัดสินชี้ขาด

นายอนุภาพกล่าวต่อว่า หาก กสท ไม่สามารถซื้อฮัทช์ได้ก็ควรมุ่งการลงทุนไปยังเทคโนโลยี LTE ซึ่งเป็น 4G จะคุ้มค่ามากกว่า เพราะ LTE แม้จะนิยมใช้บนย่านความถี่ 2.0-2.4GHz แต่ก็สามารถให้บริการบนย่านความถี่ 850MHz ได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีการใช้งานแพร่หลายเท่านั้นและการลงทุนบนความถี่ 850MHz จะมีต้นทุนสูงกว่าการลงทุนบนความถี่ย่าน 2.0-2.4GHz เพราะปริมาณการผลิตอุปกรณ์มีจำนวนน้อยกว่า

แหล่งข่าวจาก กสท กล่าวว่าการเมืองกำลังจะทำให้องค์กรนี้วิบัติ เพราะความเห็นแก่ได้ ซึ่งหากเห็นกับหน่วยงานรัฐหรือชาติบ้านเมืองบ้าง ควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าจะให้หรือไม่ให้ทำอะไร กรณี CAT CDMA เรียกได้ว่าลงทุนไปยังไม่ทันจะได้ขายหาเงินให้คุ้มค่า ทั้งๆที่ได้เปรียบอย่างมากใน 51 จังหวัดภูมิภาคเพราะเป็นบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงน้องๆ 3G มีเวนเดอร์จำนวนมากเข้าแถวรอนำเข้าอุปกรณ์เพื่อมาช่วยทำตลาด แต่ความไม่แน่นอนของคนกุมนโยบาย กำลังทำให้โอกาสที่ดีทางการตลาดหลุดลอยไป

'จะทำอะไรก็รีบทำให้ชัดเจน เพราะธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ ถ้าไม่มีความชัดเจนสักเรื่อง หากอยากล้มดีลฮัทช์เลิก CDMA แล้วเปลี่ยนเป็น HSPA ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าดีกว่าอย่างไร และควรรีบทำ เพราะลงทุน HSPA ก็เหมือนทำโครงการใหม่อีกเป็นปีกว่าจะเสร็จ ซึ่งระหว่างนี้ก็ควรตอบให้ได้ว่าจะให้กสทยืนอยู่จุดไหน ในธุรกิจสื่อสารไร้สาย'

Company Related Link :
CAT CDMA

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2553 10:00 น.