วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

3G ช่วยชาติ ลดช่องว่างบริการโทรคม

หลายคนอาจยังสงสัยถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 3G ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคนไทยยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสเทคโนโลยีนี้อย่างทั่วถึง เพราะปัจจุบันการให้บริการจำกัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนผู้ให้บริการเอกชนก็ทำได้เพียงทดลองบริการในบางพื้นที่และในวงจำกัดเท่านั้น

3G เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถรับ-ส่งข้อมูล ภาพ และเสียงขนาดใหญ่โดยทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 3G หรือ HSDPA /EV-DO/ UMTS และ HSPA โดยความเร็วของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายที่ได้นั้นสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 512Kbps - 7.2 Mbps และปัจจุบันพัฒนาไปถึงระดับความเร็ว 14.4 Mbps

ความเร็วที่สูงขึ้น ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องการส่งข้อมูลภาพและเสียงขนาดใหญ่ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและไม่ติดขัด ไม่ว่าจะเป็นการชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต, เล่นเกมส์ออนไลน์,โหลดไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการใช้งานวิดีโอคอลล์ หรือการโทรศัพท์แบบเห็นหน้าก็สามารถทำได้ แต่ประโยชน์ที่เอ่ยถึงข้างต้นนี้ ถือเป็นเพียงประโยชน์ในมุมเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ เทคโนโลยี 3G ได้รับการยอมรับแล้วว่ามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก 3G สามารถใช้เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้น

3G ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันการเพิ่มอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งผลจากการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดย Telecom Management Group หรือ TMG ระบุว่า เมื่ออัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 1% รายได้ต่อหัวของประชากรจะเพิ่มขึ้น 4.7% และเมื่อการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 1% รายได้ต่อหัวของประชากรก็จะเพิ่มขึ้น 10.5% ด้วย ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมา พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรเท่านั้น

แต่ในบางประเทศ การให้บริการเหล่านี้สำหรับพื้นที่ในเขตทุรกันดารยังเป็นไปได้ยาก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล องค์กรสาธารณะ และหน่วยงานเอกชน ที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาการสื่อสารในภูมิภาคเหล่านี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากระบบไร้สายสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางด้วยต้นทุนการติดตั้งที่ต่ำ

ด้วยเหตุนี้ 3G จึงเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมในการเชื่อมต่อกับพื้นที่ห่างไกล ยิ่งไปกว่านั้น ระบบไร้สาย 3G กลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริการรับ-ส่งเสียงและข้อมูล เนื่องจากความคุ้มค่าในการลงทุน ความสามารถในการขยายการให้บริการแก่ฐานผู้ใช้บริการที่มีอัตราเติบโตสูง รวมทั้งการให้บริการเสริมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ 3G ยังมีความสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างดีเยี่ยมด้วยค่าบริการข้อมูลที่ต่ำที่สุด เมื่อความสามารถในการส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น สถานีฐานเซลลูลาร์ (Base Transceiver : BTS) แต่ละแห่งจึงรองรับการส่งข้อมูลในปริมาณมากขึ้น ในขณะที่เครือข่ายต้องการอุปกรณ์และสถานีรับ-ส่งน้อยลง ดังนั้น จึงลดต้นทุนการดำเนินการและการลงทุนลงได้

จากการที่เกือบ 1 ใน 3 ของหมู่บ้านในประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยากประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาทำให้การขยายเครือข่ายเป็นไปได้ยาก แต่จากความสามารถของเทคโนโลยี 3G ผนวกกับต้นทุนการลงทุนที่ต่ำ จึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในการให้บริการที่จะเลือกนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อให้ก่อให้ประโยชน์ และนอกจากผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3G ยังเป็นคำตอบสำหรับการลดช่องว่างดิจิตอล สำหรับสังคมเมือง และสังคมชนบทได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันราคาอุปกรณ์พกพาสำหรับรองรับ 3G ลดลงมามากจนทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น

ประโยชน์ต่อมาของ 3G คือการเข้าไปสนับสนุนการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเด็กเมืองและเด็กชนบทรวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี

การศึกษาที่ยังล้าหลังเพราะประชากรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลดังนั้น หากจะกระตุ้นประสิทธิภาพการศึกษาในปัจจุบัน ไทยต้องก้าวข้ามคำว่า 'การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต' ที่จัดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อพิจารณาจากตัวเลข ผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ขีดความสามารถในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมของเยาวชนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะระดับความรู้ในการแข่งขันกับเยาวชนของประเทศอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่สูงกว่า เนื่องจากระดับความรู้ของเยาวชนไทยจะขาดความกว้างไกล เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และในระยะยาวการแตกหน่อทางความคิดการคิดค้นนวัตกรรมจะไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น

ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาการศึกษา โดยได้มีการประกาศนโยบายภายหลังจากการติดตั้งเครือข่าย 3G ให้มีการสรรหาอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อที่มีราคาถูกเพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบ 3G ได้ง่ายขึ้น หรือในบางประเทศก็เลือกที่จะผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นมาเอง เช่น ประเทศเวียดนามที่มีนโยบายว่า 'จะต้องผลิตโมเด็มไร้สายเพื่อเชื่อมต่อโครงข่าย3Gให้เยาวชนในประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้'

เหตุที่ประเทศเวียดนามสามารถกำหนดนโยบายนี้ได้ เนื่องจากเวียดนามมีการให้ใบอนุญาต 3G แล้ว ขั้นต่อมาคือการพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เป็น USB Modem แบบไร้สายในราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้

ในขณะที่ประเทศมาเลเซียที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงกว่าประเทศไทย แต่ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับรัฐบาลมาเลเซีย จึงกำหนดให้มีนโยบายที่จะใช้ 3G Wireless Modem ติดตั้งตามบ้าน แทนที่อุปกรณ์ DSL ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ภายในประเทศให้สูงยิ่งขึ้นจนถึงในระดับ 50%

ด้านสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (USAID) และกระทรวงศึกษาธิการ มีการใช้ระบบโครงข่าย 3G ด้วยเทคโนโลยี CDMA EV-DO ติดตั้งให้โรงเรียนในโครงการเพื่อใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และมีการวัดผลทุกๆ 18 เดือน โดยรัฐบาล

ปัจจุบัน ในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย มีหลายสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันเอกชนที่มีการแจกแลปท้อป หรือ โน้ตบุ๊ก ให้นักศึกษาใช้งาน เสมือนเป็นตำราเรียนเล่มหนึ่งและเป็นหนึ่งในอุปกรณ์การศึกษา เพราะระบบการจัดการด้านการเรียนการสอนในปัจจุบันในสถาบันเหล่านั้น จะใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดว่านโยบายด้านการศึกษามีความก้าวหน้าไปแล้ว

แต่จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังมีตัวเลขที่ต่ำอยู่ นักศึกษาได้ใช้งาน Wi-Fi ผ่าน Hot Spot เมื่ออยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา แต่เมื่อไรก็ตามที่อยู่นอกเขตสถาบัน ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระและที่สำคัญเด็กต่างจังหวัดยังถูกกีดกั้นการยกระดับความรู้เพียงเพราะไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

สำหรับด้านสาธารณสุข 3G ก็มีประโยชน์ในการตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีเพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทางเข้าถึง ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวผู้ป่วยสามารถรับการรักษาจากแพทย์ที่ประจำอยู่ในตัวเมืองใหญ่หรือแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันที ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (การประชุมทางไกลทั้งภาพ เสียง และข้อมูล) โดยมีเจ้าหน้าที่ หรือแพทย์และพยาบาล ประจำท้องถิ่นเป็นผู้ประสานงาน

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ผลการวิจัยที่ศึกษาจากกลุ่มแพทย์ 282 ราย และคนไข้มากกว่า 3,600 คน ในกลุ่มตัวอย่างพบว่า การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบออนไลน์ รวมถึงอีเมล์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณหนึ่งเหรียญสหรัฐต่อคนไข้หนึ่งคนต่อเดือน

จากประโยชน์ที่ไล่เรียงมาของเทคโนโลยี 3G ถึงตอนนี้คงไร้ข้อสงสัยถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีไร้สายชนิดนี้ และเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยได้และคนไทยได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยยกระดับเศรษฐกิจ สังคมและคนในประเทศให้ดีขึ้นตามกระแสของโลก

Company Related Link : 3G TOT

25 มิถุนายน 2553 17:15 น.

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กำเนิด Facebook

เว็บไซต์เฟซบุ๊กที่เป็นที่นิยมในขณะนี้เป็นบริการบนอินเตอร์เน็ตที่ผู้ใช้จะติดต่อสื่อสารและร่วมทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือหลายๆ กิจกรรมกับผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นๆ ได้ มีทั้งการตั้งประเด็นถามตอบในเรื่องที่สนใจ โพสต์รูปภาพ โพสต์คลิปวิดีโอ เขียนบทความหรือบล็อก แช็ตคุยกัน เล่นเกมแบบเป็นกลุ่มและทำกิจกรรมอื่นๆ ได้

ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก คือ มาร์ก ซักเกอร์ เบิร์ก เกิดเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2527 รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ซักเกอร์เบิร์กเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว

ซักเกอร์เบิร์กชอบเขียนและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเกม ในวัยเด็ก มาร์กเคยพัฒนาโปรแกรมสื่อ สารให้กับสำนักงานของพ่อและไซแนปส์ ซึ่งเป็นโปรแกรมเพลงใช้เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ฟัง

เมื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซักเกอร์เบิร์กคิดทำหนังสือรุ่นออนไลน์แต่มหาวิทยาลัยไม่เอาด้วย จึงลักลอบเข้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเพื่อหาประวัติของนักศึกษาฮาร์วาร์ดจากฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยมาใส่ในเว็บไซต์ Facemash ได้สำเร็จ และชวนเพื่อนๆ นักศึกษาเล่นเกม "Hot or Not" โดยโพสต์รูปแล้วให้เพื่อนๆ เข้ามาช่วยกันโหวตว่าใครเป็นที่นิยม ภายในเวลาแค่ 4 ชั่วโมง มีนักศึกษา เข้ามาโหวตถึง 450 คน สร้างสถิติการ ชม 22,000 ครั้ง แต่แทนที่จะได้รับเสียงชมจากอาจารย์ ซักเกอร์เบิร์ก กลับถูกมหาวิทยาลัยลงโทษระงับการใช้อินเตอร์เน็ต นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างเฟซบุ๊ก

วันที่ 4 ก.พ.2548 ถือว่าเป็นวันเปิดตัวเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ในระยะแรกเว็บไซต์เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายทางสังคมสำหรับนักศึกษาฮาร์วาร์ดเท่านั้น แต่ไม่นานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เริ่มอยากใช้เฟซบุ๊กบ้าง ซักเกอร์เบิร์ก จึงต้องเขียนโปร แกรมเพิ่ม พร้อมกับชวนเพื่อนๆ คือ ดัสติน มอสโควิตซ์ และคริส ฮิวจ์ มาช่วยกันสร้างเฟซบุ๊กให้รองรับสมาชิกมากขึ้น เพียงแค่ 4 เดือนเฟซบุ๊กก็กลายเป็นที่นิยมในฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยอื่นๆ กว่า 30 แห่ง เมื่อเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จ ทีมของซักเกอร์เบิร์กจึงย้ายมาปักหลักที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมาร์กพบกับปีเตอร์ ธีล นักลงทุนรายแรกที่ร่วมลงทุนในเฟซบุ๊ก

เกมที่มีชื่อเสียงบนเฟซบุ๊กมีมากมาย เช่น เกม Pet Society แนวสัตว์เลี้ยง โดยผู้เล่นเลือกรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า และสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวละครได้ตามใจ ก่อนที่จะพาไปอยู่ในบ้านซึ่งจะขยายขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความสามารถของตัวละคร ความน่าสนใจของเกมนี้อยู่ที่ความน่าเอ็นดูของสัตว์เลี้ยงซึ่งสามารถทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ วิ่งแข่ง ทำอาหาร ตกปลา หรือแม้กระทั่งปลูกต้นไม้ ทั้งนี้ ในเกมจะมี "เงินตอบแทน" ซึ่งช่วยให้เราซื้อของตกแต่ง หรือเครื่องอำนวยความสะดวกมาให้สัตว์เลี้ยงของเราเพิ่มเติมได้

ปัจจุบัน เฟซบุ๊ก มีผู้เข้าใช้มากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกา และ-เป็นเว็บไซต์ที่มีผู้อัพโหลดรูปภาพสูงที่สุดด้วย


วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7148 ข่าวสดรายวัน คอลัมน์รู้ไปหมด

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"Office Web Apps" ใช้ฟรีไม่ต้องลงโปรแกรม

แม้ชื่อ Office Web Apps จะเป็นชื่อที่ชาวออนไลน์คุ้นหูมานานตั้งแต่ปี 2008 ว่าเป็นบริการซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสาร "ไมโครซอฟท์ออฟฟิศออนไลน์" ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานได้เลยบนอินเทอร์เน็ต แต่สัปดาห์นี้คือสัปดาห์แรกที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดให้บริการแบบ mass แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง

บริการที่ไมโครซอฟท์ส่งมาเพื่อต่อสู้กับบริการสร้างงานเอกสารของกูเกิล Google Docs นี้เปิดให้ผู้มีอีเมลของ Hotmail.com ทุกคนสามารถใช้งานโปรแกรม PowerPoint, Word และ Excel ผ่านทาง Office Web Apps ได้ฟรีแล้วที่เว็บไซต์ office.live.com เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นสมาชิกบริการ Live และบริการ SkyDrive ของไมโครซอฟท์

จากการทดลองใช้ พบว่า Office Web Apps มีเพียงความสามารถพื้นฐาน และยังขาดความสามารถที่มีในโปรแกรม Office เวอร์ชันเต็มอยู่มาก ตรงนี้ทำให้ชัดเจนว่าไมโครซอฟท์จะไม่มีทางเสียรายได้ไป เนื่องจาก Office Web Apps สามารถใช้สร้างเอกสารพื้นฐานและผู้ใช้ต้องบันทึกลง SkyDrive เท่านั้น ไม่ใช่ในฮาร์ดดิสก์ตามปกติ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่บริษัทองค์กรจะเลือกใช้ Office Web Apps แทนโปรแกรม Office ที่ติดตั้งในเดสก์ท็อบ เพราะจะต้องยุ่งยากกับการอัปโหลดไฟล์ขึ้นสู่ SkyDrive เพื่อแก้ไขแบบออนไลน์ทุกครั้ง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา

ใช้ได้ทั้งพีซีได้ทั้งแมค

เพราะโปรแกรม Office Web Apps นั้นทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ จึงสามารถรองรับทั้งเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (PC) และแมคอินทอช (Mac) รองรับเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ทุกค่ายทั้ง Internet Explorer, Firefox, Safari และ Chrome และผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีโปรแกรม Office ติดตั้งที่เครื่อง โดยเอกสารที่สร้างบนโลกออนไลน์นั้นสามารถจัดเก็บไว้บน SkyDrive ซึ่งไมโครซอฟท์ให้บริการฟรี 25 กิกะไบต์

เมื่อกดสร้างเอกสารใน Word Web App ผู้ใช้จะต้องตั้งชื่อไฟล์ซึ่งไมโครซอฟท์กำหนดให้เป็นนามสกุล .docx ซึ่งเป็นฟอร์แมตเดียวกับโปรแกรม Office เวอร์ชัน 2007 ขึ้นไป เพื่อให้ผู้ใช้นำไปเปิดบนโปรแกรม Office เวอร์ชันเต็มบนเดสก์ท็อปได้

ผู้ใช้ Word Web App สามารถปรับแบบอักษรและรูปแบบได้หลากหลาย สามารถแทรกภาพและปรับขนาดภาพได้ แต่ไม่สามารถลากเมาส์ที่มุมภาพเพื่อขยายได้ทันใจแบบในเวอร์ชันเดสก์ท็อบ รวมถึงสามารถสร้างตาราง โดยเอกสารที่สร้างบนเว็บนี้สามารถเปิดชมได้บน iPhone และ iPad รวมถึงโทรศัพท์มือถืออื่นๆ แต่อาจจะไม่สามารถแก้ไขเอกสารได้

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ระบุว่า Word Web App ยังมีบั๊กหรือข้อบกพร่องของโปรแกรมอยู่ โดยเฉพาะการกดปุ่มแทป (tab) เพื่อเริ่มต้นย่อหน้า ซึ่งบางครั้งอาจกดได้บ้างไม่ได้บ้าง

สำหรับ Excel Web App ไมโครซอฟท์จะกำหนดให้เอกสารที่สร้างขึ้นใช้นามสกุลไฟล์ .xlsx เท่านั้น (เท่ากับว่านามสกุล .ods ในโปรแกรมโอเพ่นซอร์สไม่สามารถใช้งานได้) อีกทั้ง Excel Web App จะไม่สามารถแทรกภาพได้ และผู้ใช้หลายคนสามารถเปิดใช้งานและแก้ไขเอกสารได้พร้อมกัน เช่นเดียวกับเอกสารในโปรแกรม OneNote Web App

สำหรับ PowerPoint Web app ผู้ใช้สามารถเลือกเทมแพลตนำเสนองานได้ตามปกติ สามารถเขียนบันทึกแจ้งเพื่อนร่วมงานเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขออนไลน์ได้ สามารถทดลองเล่นสไลด์โชว์ซึ่งจะหยุดการโชว์และเข้าสู่โหมดแก้ไขได้เมื่อดับเบิลคลิกเมาส์ที่สไลด์ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่จะไม่ต่างกับเวอร์ชันบนเดสก์ท็อปมากนัก

ตัวช่วยทำตลาด

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการทดลองใช้ Office Web Apps คือไมโครซอฟท์ตั้งใจสร้าง Office Web Apps มาเพื่อทำตลาดโปรแกรม Office ด้วย ซึ่งเวอร์ชัน 2010 ล่าสุดจะมีคิวเปิดตัวในต่างประเทศวันที่ 15 มิถุนายน และในประเทศไทย 17 มิถุนายนนี้ โดยไมโครซอฟท์ได้สร้างปุ่มที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเปิดเอกสารที่สร้างบน Office Web Apps ในโปรแกรม Office ได้ในคลิกเดียว เรียกว่าอำนวยความสะดวกเต็มที่

นอกจากจะสนับสนุนการตลาด Office Web Apps ยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหนุนยุทธศาสตร์ cloud computing ของไมโครซอฟท์อย่างจริงจังด้วย โดยนักสังเกตการณ์พากันจับตามองความเคลื่อนไหวในจุดนี้ เพื่อลุ้นว่าไมโครซอฟท์จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งบนโลกออนไลน์อย่าง Google และ Zoho ได้ดีเพียงไร

เจสัน มัวร์ (Jason Moore) ผู้จัดการโครงการ SkyDrive การันตีว่าตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้รับเสียงตอบรับท่วมท้นจากผู้ร่วมทดสอบในโครงการ Office Web Apps Technical Preview จำนวนกว่าหลายแสนคน และที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เร่งมือพัฒนาบริการตามฟีดแบ็กที่ได้รับมาแล้ว โดยบริการ Office Web Apps จะเปิดให้ใช้งานเต็มรูปแบบในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อรับกับ Office 2010 ที่จะวางจำหน่ายเต็มตัว

"ไมโครซอฟท์เชื่อว่า เมื่อ Office 2010 รวมกับบริการ SkyDrive และ Office Web Apps จะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์สร้างเอกสารที่ดีเยี่ยมผ่านแพลตฟอร์มหลากหลายทั้งคอมพิวเตอร์พีซี โทรศัพท์มือถือ และเบราว์เซอร์"



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มิถุนายน 2553 18:56 น.

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กูเกิลเปิด"คาเฟอีน" ตัวช่วยผลเสิร์ชกูเกิล"สดใหม่"ขึ้น

คาเฟอีนทำให้คนสดชื่น แต่ "กูเกิลคาเฟอีน (Google Caffeine)" ทำให้ผลการสืบค้นข้อมูลออนไลน์บนหน้าเว็บกูเกิลสดใหม่ขึ้นแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

กูเกิลใช้เว็บล็อกของตัวเองเปิดตัวระบบค้นหาใหม่ล่าสุดในชื่อ คาเฟอีน โดยการันตีว่าจะเป็นระบบที่มีความเร็วในการจัดอันดับดัชนีเว็บได้เร็วและใหม่กว่าระบบเดิมของกูเกิลถึง 50% และสามารถแสดงผลเว็บที่เกี่ยวข้องได้มากกว่าที่เคยทำมา ครอบคลุมทั้งข่าว เว็บล็อก และกระทู้ โดยกูเกิลการันตีว่าคอนเทนต์ทันสมัยอย่างข้อความทวีต (Tweet) จะสามารถถูกเสิร์ชพบได้เร็วกว่าเดิม

ผลเสิร์ชที่ใหม่ขึ้นและการแสดงที่เร็วขึ้นไม่ได้แปลว่ากูเกิลเลิกใช้สูตรแสดงผลการค้นหาเว็บที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง แต่เป็นการปรับระเบียบวิธีการจัดทำดัชนีให้การอัปเดทข้อมูลสามารถเกิดขึ้นในทันที แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในแบบเดิม ทำให้ผลการค้นหาที่ได้มีความทันสมัย และรองรับข้อมูลแบบทันเหตการณ์อย่างข้อความทวีตในทวิตเตอร์ (Twitter) และข้อความอัปเดทสถานะในเฟสบุ๊ก (Facebook) ได้เร็วขึ้น

ต้องยอมรับว่า การปรับปรุงวิธีการทำดัชนีเว็บไซต์ของกูเกิลนั้นเกิดขึ้นเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กูเกิลสามารถแข่งขันกับคู่แข่งเสิร์ชเอนจิ้นดั้งเดิม และคู่แข่งรายใหม่อย่างเครือข่ายสังคม ที่นับวันจะแย่งลูกค้าที่ต้องการค้นหาข้อมูลไปจากกูเกิลมากขึ้นทุกที เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มมองว่า การค้นหาข้อมูลจากเครือข่ายสังคมนั้นได้ผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าการค้นหาจากมหาสมุทรเว็บไซต์ขนาดมโหฬาร

ที่ผ่านมา กูเกิลสามารถครองตำแหน่งเสิร์ชเอนจิ้นเบอร์ 1 ในสหรัฐฯด้วยสัดส่วนตลาด 64% (ข้อมูลเดือนเมษายน) ขณะที่บิง (Bing) ของไมโครซอฟท์และยาฮู (Yahoo!) ซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นในขณะนี้มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 30%

การประกาศใช้งานกูเกิลคาเฟอีนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการทดสอบบริการเมื่อเดือนกันยายน 2009 ที่ผ่านมา โดยนานาเว็บไซต์และนักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือพัฒนาการที่สำคัญของโลกเรียลไทม์อินเทอร์เน็ต ซึ่งจะไม่เพียงทำให้เกิดความเชื่อถือในกูเกิลจนทำให้มูลค่าหุ้นของกูเกิลพุ่งกระฉูด แต่ยังหมายถึงรายได้จากการโฆษณาของกูเกิล ที่เชื่อว่าจะเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่นับจากนี้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มิถุนายน 2553 16:10 น.

กทช.ยังไม่ตกผลึกไวแมกซ์ ให้ไลเซนส์แบบ “มันก็ยังงงๆ”

กทช. ขอคืนคลื่นความถี่ย่าน 2.3 กับ 2.5 กิกะเฮิรตซ์ ที่ถูกดองมาจัดระเบียบใหม่ เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ ไวร์เลส หรือที่เรียกว่า BWA แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่เห็นเป็นรูปธรรม ยันออกใบอนุญาตได้ภายในเดือนกันยายนไล่เรี่ย 3.9G แบบโมเดล “มันก็ยังงงๆ”

พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมกทช. ได้กำหนดแนวนโยบายการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ย่าน 2.3 กิกะเฮิรตซ์ และ 2.5 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) แบบไร้สาย หรือที่เรียกว่าไวแมกซ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการแข่งขันและยกระดับการแพร่หลายของบริการบรอดแบนด์ของประเทศ และส่งเสริมให้มีบริการบรอดแบนด์ในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น

แนวทางดำเนินการสำหรับความถี่ย่าน 2.3 กิกะเฮิรตซ์ คือ 1.ให้ผู้ที่ถือครองความถี่ย่านนี้ สามารถขออนุญาตประกอบกิจการให้บริการ Broadband Wireless Access (WBA) ทั่วประเทศ โดยใช้ช่วงกว้างความถี่ไม่เกิน 30 เมกะเฮิรตซ์ ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย 2. กรณีผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่อยู่แล้วประสงค์จะให้บริการ และมีคลื่นความถี่เกินที่กำหนด (Spectrum cap) จะต้องดำเนินการตามประกาศ กทช. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อื่นใช้คลื่นความถี่ส่วนเกินในการให้บริการ BWA ได้ 3. กรณีผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่ไม่ประสงค์จะให้บริการ จะต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งกทช.จะมีมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบ

ความถี่ย่าน 2.3-2.4 กิกะเฮิรตซ์ ที่สามารถให้บริการไวแมกซ์ได้มีช่วงกว้างความถี่ทั้งหมด 100 เมกะเฮิตรซ์ แต่ความถี่ย่านนี้ถูกครอบครองอยู่อย่างกระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ที่มากสุดคือทีโอที 64 เมกะเฮิตรซ์ กสท โทรคมนาคม 8 เมะเฮิตรซ์ ที่เหลือเป็นหน่วยงานราชการอื่นๆ

ส่วนแนวทางดำเนินการความถี่ย่าน 2.5 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ในพื้นที่เป้าหมาย ที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่ำคือ1.จัดทำโครงการ กทช. ในลักษณะบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO) โดยจะเป็นการอนุญาตประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ในพื้นที่เป้าหมาย 15-20 จังหวัด เพื่อส่งเสริมให้มีบริการบรอดแบนด์ในราคาที่เหมาะสมกับระดับเศรษฐกิจของพื้นที่ 2.ประกาศรับสมัครผู้ดำเนินโครงการ โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราขั้นสูง และพื้นที่ให้บริการ ทั้งนี้ ผู้ดำเนินโครงการสามารถขอรับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมได้ในระยะเวลาที่กำหนด 3. คัดเลือกผู้ดำเนินโครงการ โดยใช้วิธีการประมูลแบบ Reverse auction คือผู้ที่ขอเงินอุดหนุนต่ำที่สุดจะได้รับการคัดเลือก

ความถี่ย่าน 2.5กิกะเฮิรตซ์ สามารถให้บริการได้ถึง 2.659 กิกะเฮิรตซ์ หรือมีช่วงความถี่อยู่ที่ 159 เมกะเฮิรตซ์ แต่ส่วนใหญ่มีการใช้งานซับซ้อนที่สามารถจัดสรรเพื่อให้บริการไวแมกซ์ได้มีเพียง 40 เมกะเฮิรตซ์

พันเอกนทีกล่าวถึงอายุของใบอนุญาต หรือไลเซนส์ว่า ความถี่ทั้ง 2 ย่าน ผู้ประกอบการได้สิทธิ์การให้บริการ 10 ปี แต่ย่านความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์ สามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ โดยใบอนุญาตจะเป็นแบบที่ 3คือ มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง ค่าธรรมเนียม 2% ค่า USO 4% ส่วนค่าบริการที่เป็นเพดานสูงสุด กทช.จะเป็นผู้กำหนด ขณะที่ย่าน 2.5 กิกะเฮิรตซ์ จะเป็นใบอนุญาตประเภทที่ 2 คือมีโครงข่ายหรือไม่มีโครงข่ายก็ได้ แต่ผู้ประกอบการ 1 รายได้สิทธิให้บริการเพียงจังหวัดเดียว และต้องคิดค่าบริการตาม กทช.กำหนดใน 5 ปีแรก ส่วน 5 ปีหลังขึ้นอยู่กับการแข่งขันของตลาด

“หลังประกาศจะให้เวลา 30 วันในการแจ้งความประสงค์ว่าต้องการแบบไหนในย่าน 2.3 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนย่าน 2.5 กิกะเฮิรตซ์ จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กทช. กำหนด”

สำหรับกรอบเวลาดำเนินการ กทช.จะพิจารณาประเด็นต่างๆ จัดทำร่าง Information Memorandum (IM) ร่างประกาศหลักเกณฑ์ จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนก.ค.นี้ เชิญชวนและเปิดรับคำขอรับการอนุญาตในเดือนส.ค. และคาดว่าจะให้ใบอนุญาตได้ภายในเดือนก.ย. 53 ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการให้ใบอนุญาต 3.9G ในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์

พร้อมกันนี้ ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมโฟกัส กรุ๊ป เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ และองค์กรผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นและเหตุผลในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนการจัดรับฟังความเห็นสาธารณะตามเวลาที่กำหนด

การให้ใบอนุญาตไวแมกซ์ย่าน 2.5 กิกะเฮิรตซ์ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่มาตรฐานการให้บริการไวแมกซ์อยู่ที่ย่าน 2.3 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งผู้ที่ครอบครองก็ไม่ต้องการที่คืนคลื่นความถี่ กทช.จึงต้องมีประกาศกฎเกณฑ์ออกมา หรือแม้จะปล่อยความถี่ส่วนที่เกินออกมา เพื่อให้เหลือตาม Spectrum cap แล้ว แต่กรณีของทีโอทีเมื่อรวมกับความถี่ 1.9 กิกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่แล้ว ถือว่าเกินหลักเกณฑ์ที่ กทช. กำหนด นอกจากนี้ ผู้ที่ได้ใบอนุญาตไวแมกซ์ก็จะประมูล 3.9G ไม่ได้ เพราะจะทำให้มีคลื่นความถี่เกิน Spectrum cap รวมถึงผู้ประกอบการที่มีการถือหุ้นไขว่ก็จะประมูลทั้งไวแมกซ์และ 3.9G ไม่ได้

ที่สำคัญการเวนคืนหรือโอนคลื่นความถี่นั้น พันเอกนทียืนยันว่า ไม่ใช่จะทำให้เสร็จได้ภายใน 1-2 เดือน แต่ก็ยังยืนยันว่าคลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่านในการให้บริการไวร์เลส บรอดแบนด์จะสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด

“ที่ออกประกาศในเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการบีบทีโอที แต่เขาก็จำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และกทช.ต้องทำให้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ที่ถูกปล่อยให้รกร้างเหมือนไร่นาที่ไม่ได้ทำอะไร มาจัดระเบียบใหม่ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มิถุนายน 2553 18:23 น.

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผู้ผลิตชิปตั้งกลุ่มหนุนลินุกซ์เพื่อมือถือ-ทีวี

กลุ่มผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์อย่างไอบีเอ็ม ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ และเท็กซัสอินสตรูเมนท์ ร่วมกันเปิดตัวความร่วมมือระหว่างกันในชื่อ Linaro ซึ่งทั้ง 3 จะดำเนินงานร่วมกันในฐานะมูลนิธิด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อปรับปรุงการเผยแพร่ระบบปฏิบัติการมาตรฐานเปิดลินุกซ์ (Linux) ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคให้แพร่หลายรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะครอบคลุมทั้งระบบปฏิบัติการ Android, MeeGo และ Ubuntu

จุดมุ่งหมายของการก่อตั้งมูลนิธิ Linaro คือการนำความสำเร็จของลินุกซ์ในบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ออกสู่โลกของผู้บริโภคผ่านอุปกรณ์พื้นฐานเช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก ซึ่งมีโอเอสเจ้าตลาดเป็นเป็นซอฟต์แวร์มาตรฐานปิด ทั้งวินโดวส์ ซิมเบียน แบล็กเบอรี่ และไอโฟนโอเอส

นอกจากไอบีเอ็ม ซัมซุง และเท็กซัสอินสตรูเมนท์ ยังมีผู้ผลิตชิปอีก 3 รายที่ร่วมลงทุนในโครงการโดยไม่หวังผลกำไรเป็นเงินหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดย Tom Lantzsch ซีอีโอกลุ่ม Linaro ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองประธานบริหารของเออาร์เอ็ม (Arm Holdings) กล่าวว่า บริษัทที่เข้าร่วมโครงการยังมีฟรีสเกล และเอสที-อีริกสันด้วย โดยกลุ่มเปิดกว้างให้ผู้ผลิตชิปรายอื่นสามารถร่วมโครงการได้

ข้อมูลระบุว่า บริษัทที่เป็นสมาชิกกลุ่ม Linaro จะลงมือควบรวมทรัพยากรวิศวกรรมมาตรฐานเปิดเข้าด้วยกันเพื่อร่วมพัฒนาโครงการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในรูปแบบที่กว้างขึ้น โดยจะร่วมมือกับกลุ่ม Linux Foundation เพื่อร่วมหารือแนวทางพัฒนาให้เป็นไปในทางเดียวกัน โดยขณะนี้ วิศวกรกว่า 20 รายได้ร่วมทำงานกับ Linaro แล้ว คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มเป็น 100 รายในอนาคต

ผลกระทบหลักที่เชื่อว่าจะเกิดจากกลุ่ม Linaro คืออุปกรณ์ระบบปฏิบัติการลินุกซ์จะสามารถวางตลาดได้เร็วขึ้น เนื่องจากกลุ่มจะสร้างเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชิปหลากประเภทที่มีความสลับซับซ้อนได้ดีและง่ายกว่าเดิม ซึ่งความซับซ้อนเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะชิปสำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดขนาดจิ๋วนั้นต้องการเทคโนโลยีต่างชนิดกันในการทำให้อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาและสามารถประหยัดพลังงานในเวลาเดียวกัน

จุดนี้ผู้ร่วมโครงการทั้งหมดเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ลินุกซ์ใหม่ๆสามารถเผยแพร่สู่วงการนักพัฒนาในวงกว้างทุกๆ 6 เดือน แน่นอนว่าในอนาคต ทีวีและโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการลินุกซ์ราคาไม่แพงจะแพร่หลายในตลาดมากขึ้นกว่าปัจจุบัน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 มิถุนายน 2553 10:41 น.

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กูเกิลห้ามพนักงานใช้วินโดวส์

รายงานจากไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) อ้างแหล่งข่าวคนวงในกูเกิล ว่าขณะนี้ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตประกาศกฏเหล็ก ไม่อนุญาตให้มีการใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์บนคอมพิวเตอร์ภายในบริษัทกูเกิล ต้นเหตุมาจากการความกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากที่วินโดวส์กลายเป็นประตูให้นักแฮกสามารถเจาะระบบของกูเกิลประเทศจีนสำเร็จ จนเป็นข่าวโด่งดังช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุว่าได้รับการยืนยันจากพนักงานกูเกิลหลายคน ว่ากูเกิลเริ่มเอาจริงกับกฏเหล็ก"ห้ามใช้วินโดวส์ในกูเกิล"ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเกิดกรณีกูเกิลประเทศจีนถูกเจาะระบบ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือกูเกิลตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่นแทน ด้วยการให้พนักงานเดิมและพนักงานใหม่เลือกว่าต้องการใช้แมคโอเอส (Mac OS) ของแอปเปิลหรือลินุกซ์ (Linux) ของกลุ่มโอเพ่นซอร์ส

"ขณะนี้ การจะซื้อคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เครื่องใหม่เพื่อทำงานภายในกูเกิล จะต้องได้รับการอนุมัติจากซีไอโอก่อน" คำกล่าวของพนักงานกูเกิลในรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ระบุ โดยซีอีโอนั้นย่อมาจาก Chief Information Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่ด้านระบบสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม กูเกิลออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นแบบไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โดยให้ความเห็นเพียงว่ากูเกิลมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงระบบงานภายในเพื่อความมีประสิทธิภาพเสมอ และไม่ขอให้ความเห็นถึงการปฏิบัติงานที่เฉพาะเจาะจง

ไม่ใช่กูเกิลรายเดียวที่เชื่อว่าวินโดวส์คือเส้นทางโรยกลีบกุหลาบของนักแฮก เพราะบริษัทรักษาความปลอดภัยอย่างแมคอาฟี่ (McAfee) ก็ออกมายอมรับว่าการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดกับกูเกิลและนานาบริษัทไอทีในซิลิกอนวัลเลย์นั้นมีต้นทางคือรูรั่วในโปรแกรมอินเทอร์เน็ตเบราว์เซอร์ "ไออี (Internet Explorer)" ซึ่งถูกใช้งานบนคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ทุกเวอร์ชันที่ทำตลาดอยู่ในขณะนี้

ต้องยอมรับว่านี่คือฝันร้ายของวินโดวส์ เพราะแม้วินโดวส์จะยังคงเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกใช้งานมากกว่า 90% ของคอมพิวเตอร์ทั่วโลก แต่การที่กูเกิล ซึ่งเป็นองค์กรขนาดยักษ์และรับพนักงานใหม่มากกว่า 10,000 คนในแต่ละปี ประกาศห้ามใช้วินโดวส์ในองค์กร ก็เป็นตัวบั่นทอนเครดิตความน่าเชื่อถือของวินโดวส์ลงไปอีกมากโข


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 มิถุนายน 2553 16:48 น.

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กูเกิลเสร็จกระบวนการฮุบ AdMob

กูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่วงการอินเทอร์เน็ตประกาศเสร็จสิ้นกระบวนการซื้อบริษัทเครือข่ายโฆษณาบนอุปกรณ์เคลื่อนที่นามแอดม็อบ (AdMob) อย่างเป็นทางการ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างผนวกเทคโนโลยีของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน

กูเกิลนั้นเชื่อว่า การโฆษณาในอุปกรณ์เคลื่อนที่จะมีบทบาทสำคัญในแผนการตลาดของทุกบริษัทในอนาคต โดยมองว่าพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคล้วนส่งเสริมให้ธุรกิจโฆษณาบนอุปกรณ์มือถือเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอนในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่กูเกิลรายเดียวที่มองเป็น แต่คู่แข่งคนสำคัญอย่างแอปเปิล (Apple) ก็ส่งสัญญาณชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งแอปเปิลได้ลงมือซื้อบริษัทที่เป็นคู่แข่งกับแอดม็อบนามว่า Quattro Wireless แล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

การปิดดีลซื้อขายระหว่างกูเกิลและแอดม็อบเกิดขึ้นไม่นานหลังทั้งคู่ได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการการค้ายุติธรรมสหรัฐฯ ซึ่งได้อนุมัติให้การซื้อขายบริษัทเกิดขึ้นได้ หลังมีความกังวลว่า การซื้อบริษัทที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การผูกขาดการค้าของกูเกิล ซึ่งมีอิทธิพลสูงสุดในตลาดโฆษณาออนไลน์ขณะนี้