กทช.เดินแผนเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก 2G ไป 3.9G ในประเทศไทยเต็มรูปแบบ หลังบอร์ดมีมติให้ยกเลิกการให้บริการ 2G เมื่อหมดอายุสัมปทานของผู้ให้บริการขณะนี้ เชื่อวิบากกรรมตกอยู่ที่ทรูมูฟซึ่งมีอายุสัมปทานสั้นที่สุด และผู้บริโภคซึ่งต้องตกที่นั้งลำบากเพราะต้องซื้อเครื่องลูกข่ายราคาแพง ชูนโยบาย"แข่งเป็นธรรม" พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะประธานกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond กล่าวว่า
ที่ประชุมกทช.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาอนุมัติร่างประกาศกทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่านความถี่ 2.1 GHz ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของกิจการโทรคมนาคมไทย พร้อมกับเปลี่ยนมูลค่าเริ่มต้นการประมูลจาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 1.28 ล้านบาท การพิจาณาของกทช.นี้เป็นการนำความคิดเห็นที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2553 มาปรับปรุงประกาศดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ และตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติและส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์สาธารณะ โดยมีการปรับปรุงมี 2 เรื่องคือ 1.การกำหนดมูลค่าเริ่มต้นของการประมูล (Starting Price) 2.ข้อจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Spectrum Cap)
สำหรับการกำหนดมูลค่าเริ่มต้นของการประมูลจากเดิม 1 หมื่นล้านบาทต่อไลเซนส์ ซึ่งเป็นการคิดจากมูลค่าคลื่นความตามหลักวิชาการแค่ 80% พอมีการเสนอความเห็นจากนักวิชาการและการคำนวณตามหลักแล้วน่าจะเริ่มแบบ 100% คือ 1.28 หมื่นล้านบาทต่อไลเซนส์ เพราะตามวิธีการคิดความผิดพลาดไม่น่าจะทางลบ น่าจะเป็นไปตามหลักวิชาการไม่น่าคาดเคลื่อน
“เราไม่ได้หวังจะต้องทำเงินจากค่าไลเซนส์เท่านี้ หรือให้เป็นภาระของโอเปอเรเตอร์ การมีค่าประมูลเป็นเหตุและผล ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย”
ส่วนการกำหนดเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ เพิ่มเติมจากกำหนดให้ยุติการประกอบธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่ภายใต้การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาจากหน่วยงานของรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดให้จัดทำแผนการส่งคืนคลื่นความถี่ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการสร้างโครงข่าย (Roll Out Plan) ผู้รับใบอนุญาตจะทยอดส่งคืนตามพื้นที่ที่เปิดให้บริการ
แนวทางนี้ทำให้การใช้งานคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ผูกขาดหรือกระจุกตัวอยู่ในผู้ให้บริการรายเก่า แต่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ ทั้งในส่วนคลื่นความถี่เดิม และคลื่นความถี่ใหม่
“เรากำลังเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจาก 2G ไป 3.9G ถ้าจะปล่อยให้ 2G กับ 3.9G แข่งในตลาดเดียวกันก็ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะเทคโนโลยีมือถือสามารถทดแทนกันได้” ปัจจุบันทั้งรัฐและเอกชนที่ถือคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คือ กสท โทรคมนาคม ในย่าน 850 MHz จำนวน 17.5 MHz ทีโอทีย่าน 2.1 GHz จำนวน 15MHz บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสที่ได้สัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก่อนจะมาเป็นทีโอทีในปัจจุบันในย่าน 900MHz จำนวน 17.5MHz บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ที่ได้สัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ก่อนจะเป็นกสท โทรคมนาคมย่าน 850MHz จำนวน 10MHz และย่าน 1800MHz จำนวน 25MHz ทรูมูฟย่าน 1800MHz จำนวน 12.5MHz และดีพีซีย่าน 1800MHz จำนวน 12.5MHz
“ใครชนะการประมูล 3.9G จะต้องทำแผนคืนคลื่นความถี่ให้กับเจ้าของสัมปทานเดิม” กทช.ระบุว่า การกำหนด Spectrum Cap นั้นทำไปเพราะต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่การคืนคลื่นความถี่ของสัมปทานเดิมผู้ให้บริการที่ยังคงสิทธิการให้บริการ 2G ในพื้นที่ที่ลงโครงข่าย 3.9G ได้จนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน
"ทรูมูฟ-ผู้บริโภค"ส่อแววอ่วม ทั้งนี้ อายุสัมปทานของเอกชนที่เหลือดีแทค 8 ปี เอไอเอส 5 ปี ทรูมูฟ 3 ปี จากการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวผู้ประกอบการที่เหนื่อยหนีไม่พ้นทรูมูฟ เพราะก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ทรู คอร์ปอเรชั่น เคยไปชี้แจงว่าราคามูลเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท ถ้าเป็นหลักหมื่นล้านถือว่าสูงไป ขณะเดียวกันการที่ทรูมูฟอายุสัมปทานเหลื่อเพียง 3 ปี แล้วต้องยกเลิกการให้บริการ 2G แถมราคาเครื่องลูกข่ายที่รองรับ 3.9G ในย่านความถี่ 2.1GHz ราคาค่อนข้างแพง
แหล่งข่าวจากผู้ค้าเครื่องลูกข่ายมือถือรายใหญ่กล่าวว่า การยกเลิกบริการ 2G กระทบกับผู้บริโภคแน่นอน เพราะราคาเครื่องสูงมาก แต่เชื่อว่าพอมี 3.9G ผู้ประกอบการก็ต้องมีเครื่อง 3.9G ในระดับโลว์เอนด์ออกมารองรับแต่ราคาคาดว่าน่าจะอยู่ประมาณเครื่องละ 3 พันบาท หรือถ้าต่ำสุดคงหลัก 2 บาทต้นๆ “การใช้งานมือถือมีการเปลี่ยนเครื่องเร็ว เพราะมีเครื่องรุ่นใหม่ๆ ดีไซน์สวยๆ ลูกเล่น หรือฟีเจอร์การใช้งานมากขึ้นออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง” แหล่งข่าวกล่าว
การที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนเครื่องกันเร็วเพราะปัจจุบันราคาโลว์เอนด์แค่ 500 บาท หรือตั้งแต่ 1 พันบาทขึ้นไปก็มีกล้องถ่ายรูป และจำนวนผู้ใช้ขณะนี้มากกว่า 70% ไม่มีเครื่องลูกข่ายที่รองรับย่านความถี่ 2.1GHz หรืออย่างแบล็กเบอรี่ หรือบีบี บางรุ่นที่ราคาประมาณ 9 พันกว่าบาท ยังไม่รองรับ 2.1 GHz ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เงื่อนไขที่กทช.กำหนดทั้ง 2 เรื่องเอไอเอสไม่มีปัญหา เพราะมีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้ว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 กรกฎาคม 2553 12:49 น.