วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มะรุมมะตุ้ม เตือนภัยเฟซบุ๊ก

ดูเหมือนว่ายิ่งเครือข่ายสังคมยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊กเพิ่มคุณสมบัติใหม่มากขึ้นเท่าใด ผู้เชี่ยวชาญหลายวงการหลากสาขาก็จะออกมาเตือนภัยการใช้งานเครือข่ายสังคมยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊กมากขึ้นเท่านั้น ล่าสุด ทันทีที่เฟซบุ๊กเปิดตัวระบบข้อความใหม่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสก็ออกประกาศเตือนให้ผู้ใช้ระวังการถูกขโมยตัวตน ตามหลังการประกาศเตือนของกองทัพสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้พลทหารอเมริกันระวังการเปิดเผยตำแหน่งกองกำลังบนเฟซบุ๊กโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานของกองทัพพญาอินทรี

โซโฟส (Sophos) บริษัทรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประกาศเตือนชาวไอทีให้ระวังตัวก่อนจะลงชื่อใช้บริการระบบข้อความใหม่ในเฟซบุ๊ก เนื่องจากพบโอกาสและช่องโหว่มากมายที่นำไปสู่ภัยถูกขโมยตัวตน ในบริการที่เฟซบุ๊กเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เฟซบุ๊กเพิ่งประกาศว่าได้เพิ่มความสามารถในการรวมข้อความแชต ข้อความสั้น เครื่องมือสื่อสารเรียลไทม์อื่นๆ เข้ากับอีเมลดั้งเดิม โดยมีแผนให้สิทธิ์ผู้ใช้เฟสบุ๊กสามารถมีชื่อบัญชีอีเมลแอดเดรสลงท้ายว่า @facebook.com ได้เพื่อจัดการการรับส่งข้อความทุกประเภทแบบครบวงจร ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกเรียกรวมว่าโครงการ "Titan" และจะพร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้เฟซบุ๊กใน 2-3 เดือนข้างหน้า

เกรแฮม คลูลีย์ (Graham Cluley) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเทคโนโลยีของโซโฟสระบุว่า ผู้ใช้จำเป็นต้องทราบว่าคุณสมบัติใหม่ของเฟซบุ๊กมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการถูกแอบอ้างชื่อบุคคลบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กมากขึ้น เพราะการเชื่อมโยงบัญชีเฟซบุ๊กเข้ากับผู้ใช้ในวงกว้างจะทำให้นักเจาะระบบมีโอกาสและมีแรงบันดาลใจในการก่อการร้ายมากขึ้น

โซโฟสฟันธงว่านับจากนี้ นักเจาะระบบจะก่อการแอบอ้างชื่อบัญชีเฟซบุ๊กเพื่อส่งข้อความขยะ (บนระบบข้อความใหม่ของเฟซบุ๊ก) มากกว่าการส่งสแปมเมลในระบบอีเมลดั้งเดิมแน่นอน เนื่องจากระบบข้อความของเฟซบุ๊กนั้นเหนือกว่าอีเมลที่สามารถในการเรียกความเชื่อถือจากผู้รับ ว่าเป็นข้อความที่ส่งมาจากเพื่อนฝูงคนรู้จัก

เหนืออื่นใด คลูลีย์ย้ำว่าผู้ใช้ต้องตระหนักให้ดีว่าเฟซบุ๊กจะเก็บข้อมูลการสื่อสารทั้งหมดไว้ หากผู้ใช้วางใจเฟซบุ๊กแล้วทำการสื่อสารข้อความครบวงจรบนเฟซบุ๊กจะสร้างความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะการนำข้อมูลการสื่อสารไปใช้ในทางมิชอบทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

ทั้งหมดนี้ โซโฟสเรียกร้องให้เฟซบุ๊กพัฒนาระบบคัดกรองและรักษาความปลอดภัยในเฟซบุ๊กอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้เฟสบุ๊กตกเป็นเหยื่อของวงจรรับส่งข้อความขยะ ภัยแอบอ้างบุคคล รวมถึงกลลวงฟิชชิ่งซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายด้านการเงิน ส่วนด้านผู้ใช้ โซโฟสย้ำให้สาวกเฟซบุ๊กทุกคนดูแลตัวเองด้วยการตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา อัปเดทซอฟต์แวร์ระบบการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ และหมั่นตรวจตราความผิดปกติของนานาแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับชื่อบัญชีเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ระบบข้อความของเฟซบุ๊กนั้นถูกใช้งานเป็นประจำโดยผู้ใช้เฟสบุ๊กมากกว่า 350 ล้านคน (จากทั้งหมด 500 ล้านคน) สถิติการส่งข้อความคือ 4,000 ล้านข้อวามต่อวัน

การประกาศเตือนภัยของโซโฟสเกิดขึ้นตามหลังแถลงการณ์จากกองทัพสหรัฐฯ ที่เตือนพลทหารอเมริกันไม่ให้ประมาทต่อการใช้บริการเฟซบุ๊กและเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เนื่องจากอาจเป็นการเปิดเผยฐานที่มั่นให้ศัตรูรู้โดยไม่เจตนา โดยเป็นการประกาศเตือนหลังจากที่เฟซบุ๊กเพิ่มความสามารถใหม่ให้ผู้ใช้สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ได้โดยไม่ต้องเข้าสู่บริการอื่นให้ยุ่งยาก

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกโพสต์และส่งไปยังผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆในกองทัพสหรัฐฯ โดยแสดงความกังวลต่อเทคโนโลยีใหม่ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถกำหนดจุดที่อยู่บนแผนที่ออนไลน์ได้อย่างสะดวก เนื้อความโดยสรุประบุว่าการใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งในเครือข่ายสังคมอย่างขาดความรอบคอบของพลทหาร อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อปฏิบัติการความมั่นคงของประเทศ ซึ่งไม่เพียงเฟซบุ๊ก สมาร์ทโฟนแบล็กเบอรี (บีบี) และอุปกรณ์อื่นที่มีระบบระบุพิกัดจีพีเอส รวมทั้งการใช้บริการที่มีความสามารถในการระบุพิกัดทั้งโฟว์สแควร์ ล้วนมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯทั้งสิ้น

Company Related Link :
Facebook

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤศจิกายน 2553 09:04 น.

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โครม-ซาฟารี-ออฟฟิศ สุดยอดซอฟต์แวร์"บัคเยอะ"

ซอฟต์แวร์เว็บเบราว์เซอร์น้องใหม่จากกูเกิล "Chrome" ขึ้นแท่นแอปพลิเคชันที่มีจำนวนข้อบกพร่องโปรแกรมหรือบัคมากที่สุดในปีนี้ ตามมาด้วยเบราว์เซอร์จากแอปเปิล "Safari" และซอฟต์แวร์จัดการงานเอกสาร "Microsoft Office" ผู้สำรวจชี้ต้องการให้รู้ว่าการใช้งานโปรแกรมเหล่านี้มีความเสี่ยง และควรอัปเดตชุดแพตช์แก้บัคอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

ผลการจัดอันดับ "ซอฟต์แวร์บัคเยอะ" ครั้งนี้มาจากการสำรวจของบริษัท Bit9 Inc. ซึ่งจัดทำเป็นรายงานประจำปีครั้งที่ 4 โดยเรียกทำเนียบอันดับซอฟต์แวร์ที่มีบัคมากที่สุดในท้องตลาดว่า Dirty Dozen ปรากฏว่าซอฟต์แวร์ที่ครองอันดับหนึ่งในฐานะโปรแกรมที่มีบัคมากที่สุดในปี 2010 คือกูเกิลโครม อันดับ 2 คือแอปเปิลซาฟารี ต่อด้วยไมโครซอฟท์ออฟฟิศ อันดับ 4 คือโปรแกรมอ่านไฟล์ PDF อย่าง Adobe Reader and Acrobat ขณะที่อันดับที่ 5 คือเว็บเบราว์เซอร์ Firefox

บัค (Bug) คือชื่อที่คนไอทีใช้เรียกความบกพร่องของคำสั่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้พัฒนาโปรแกรมเขียนไว้ผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องไปไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผลจากบัคจะทำให้ระบบงานมีความเสี่ยงหยุดชะงักหรืออาจนำไปสู่การทำงานที่ผิดพลาดจากความต้องการดั้งเดิม ซึ่งบัคเหล่านี้เองที่นักเจาะระบบมักใช้เป็นช่องทางในการโจมตีผู้ใช้คอมพิวเตอร์

Bit9 ระบุว่า Chrome มีรายงานบัคมากถึง 76 จุด มากกว่า Safari ที่มี 60 จุด และซอฟต์แวร์ Microsoft Office ที่มี 57 จุด ตามมาด้วย Adobe Reader and Acrobat ที่ถูกพบบัค 54 จุด ขณะที่ Firefox พบราว 51 จุด

แม้ Chrome จะเป็นแชมป์โปรแกรมที่มีบัคมากที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่าเบราว์เซอร์ของกูเกิลคือโปรแกรมที่มีความปลอดภัยน้อยกว่าโปรแกรมอื่นๆ โดย Harry Sverdlove ประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ Bit9 ชี้ว่า Chrome ยังเป็นเบราว์เซอร์เกิดใหม่ที่จะมีพัฒนาการอื่นตามมาอีกมาก จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า Chrome หรือนานาซอฟต์แวร์ที่มีรายชื่อติดทำเนียบบัคมากคือเบราว์เซอร์ที่ไม่ปลอดภัย

"รายงานของเราชี้ว่า แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ใช้งานมากก็มีข้อบกพร่องให้อาชญากรร้านเข้ามาเจาะระบบได้มากเช่นกัน นี่เองที่เราต้องการกระตุ้นให้ผู้ดูแลระบบไอทีในองค์กรรับรู้ถึงความจำเป็นในการปกป้องระบบด้วยการอัปเดทโปรแกรมทุกครั้ง" ผู้บริหาร Bit9 กล่าว

ที่ผ่านมา ค่ายผู้ผลิตซอฟต์แวร์หลายรายที่มีรายชื่อติดอันดับทำเนียบซอฟต์แวร์บัคเยอะต่างประกาศให้ผู้ใช้อัปเดทชุดแพตช์เพื่อแก้ปัญหาบัคเป็นประจำ ซึ่งหลายครั้ง ผู้ดูแลระบบไอทีในองค์กรกลับละเลยในการตรวจสอบว่ามีการอัปเดทเครื่องในระบบครบถ้วนหรือไม่ จนทำให้เกิดช่องโหว่และนำไปสู่การโจมตีระบบจนเป็นข่าวดังหลายครั้งหลายครา นี่เองที่ Bit9 ระบุว่าทำการสำรวจเพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญในจุดนี้

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ได้รับรายงานว่ามีข้อบกพร่องรองลงมาคือ ชุดซอฟต์แวร์พัฒนาโปรแกรมจาวาจากซัน Sun Java Development Kit ถูกรายงานว่ามีบัค 36 จุด โปรแกรมเล่นไฟล์ภาพเคลื่อนไหว Adobe Shockwave Player มีบัค 35 จุด ขณะที่โปรแกรมเบราว์เซอร์ Microsoft Internet Explorer ถูกตรวจพบบัค 32 จุด และโปรแกรมเล่นไฟล์มัลติมีเดีย RealNetworks RealPlayer พบบัค 14 จุด

นอกจากซาฟารี โปรแกรมของแอปเปิลอย่าง Apple Webkit (พบบัค 9 จุด) และ Apple QuickTime (พบบัค 6 จุด) ก็ติดอันดับทำเนียบ Dirty Dozen ด้วย ถือเป็นบริษัทที่ครองอันดับในทำเนียบมากที่สุด ไม่ใช่ไมโครซอฟท์อย่างที่หลายคนคาดการณ์

โปรแกรมเล่นไฟล์แฟลช Adobe Flash Player ถูกรายงานว่าพบบัค 8 จุด มากกว่า Opera ที่พบบัค 6 จุด

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบ Dirty Dozen ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการนำเสนอที่เป็นเหตุเป็นผล โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มูลนิธิมอซิลา (Mozilla) ผู้สร้างไฟร์ฟ็อกซ์เคยออกมาแย้งว่า การสำรวจของ Bit9 นั้นหลีกเลี่ยงที่จะศึกษาความรวดเร็วในการแก้ไขบัคที่เกิดขึ้น และการเปิดเผยจำนวนบัคทั้งหมดก็ไม่เป็นผลดีต่อบริษัทที่ถูกพาดพิง เนื่องจากจะทำให้โปรแกรมการเป็นจุดสนใจของนักเจาะระบบมากขึ้นด้วย

Company Related Link :
Chrome
Safari
MS Office

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 พฤศจิกายน 2553 06:48 น.

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มะกันจ๋อย "จีน"ผงาดแชมป์คอมพ์โลก

เรียบร้อยโรงเรียนจีนจนได้เมื่อการสำรวจเพื่อจัดอันดับความเร็วซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลกครั้งล่าสุดพบว่า ซูเปอร์คอมพ์จากจีนสามารถเขี่ยเพื่อนร่วมสายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ และผงาดขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในฐานะคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูงสุดในโลกอย่างเป็นทางการ

เทียนเหอ-1 (Tianhe-1) ซึ่งมีความหมายว่าทางช้างเผือก ได้รับการการันตีว่าสามารถประมวลผลได้ถึง 2,570 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที (มีศูนย์ตามมาอีก 12 ตัว) ตัวเลขนี้ทำให้เทียนเหอ-1กลายเป็นอันดับหนึ่งของสำรวจโดยกลุ่ม Top 500 (www.top500.org) ซึ่งทำการสำรวจและจัดอันดับความเร็วซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลกมาตลอด

อดีตแชมป์อย่าง Jaguar ซูเปอร์คอมพ์อเมริกันที่ติดตั้งในหน่วยงานราชการสหรัฐฯในรัฐเทนเนสซีจึงตกไปอยู่อันดับ 2 ในขณะนี้ ด้วยสถิติความเร็วในการประมวลผล 1,750 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที

ปัจจุบัน เทียนเหอ-1 ถูกติดตั้งในศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเขตเทียนจิน ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสัญชาติจีนเต็มตัว แต่หน่วยประมวลผลที่อยู่ภายในเครื่องส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชิปที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน เช่น ซีพียูจากอินเทล (Intel) และเอ็นวิเดีย (Nvidia)

นอกจากเทียนเหอ-1 ซูเปอร์คอมพ์สัญชาติจีนนามเนบิวเล (Nebulae) ซึ่งถูกใช้งานอยู่ที่ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติจีนในเมืองเซินเจิน ทางใต้ของจีนก็ถูกจัดให้เป็นซูเปอร์คอมพ์ที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ยังถือเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ต่อไป เนื่องจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากกว่าครึ่งหนึ่งในอันดับโลก Top 500 ถูกบันทึกว่ามาจากสหรัฐฯ นำหน้าจีนซึ่งกวาดไป 42 อันดับในรายการ ตามมาด้วยญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯถูกชิงมงกุฎไปสำเร็จโดยประเทศในเอเชีย เนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเคยครองแชมป์ทำเนียบซูเปอร์คอมพ์โลกมาแล้วในปี 2002 โดยเป็นซูเปอร์คอมพ์ที่ถูกระบุว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าซูเปอร์คอมพ์อเมริกัน 20 ตัวในยุคนั้นรวมกัน

ทำเนียบซูเปอร์คอมพ์ Top 500 นั้นมีการจัดอันดับ 2 ครั้งต่อปี โดยการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญสัญชาติเยอรมนีและอเมริกัน เพื่อจัดอันดับซูเปอร์คอมพ์ความเร็วสูงที่นานาประเทศมักสร้างขึ้นเพื่อรองรับการประมวลผลที่ต้องการทรัพยกรสูงมาก เช่นในงานพยากรณ์อากาศ การทดสอบทางอวกาศ การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน เป็นต้น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 พฤศจิกายน 2553 14:33 น.

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

18 เดือน ระบบคลาวด์ในเอเชีย-แปซิฟิกโต 83%

วีเอ็มแวร์เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงฝ่ายธุรกิจและไอทีเกือบ 7,000 คนในเอเชีย-แปซิฟิก ชี้การปรับใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

วีเอ็มแวร์ อิงค์ มองว่าเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโตสูงขึ้น 83% โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดไอทีมีการพัฒนาอย่างมากมีอัตราการใช้งานสูงสุด อยู่ที่ 92 เปอร์เซ็นต์ โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 6,953 คนในช่วงเดือนกันยายน ชี้ว่าการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์มีอัตราการขยายตัวรวดเร็วขึ้นใน 7 ตลาดทั่วเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทขนาดใหญ่

ปัจจุบัน 59 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทในระดับภูมิภาคมีการใช้ หรือวางแผนเกี่ยวกับระบบคลาวด์ เปรียบเทียบกับ 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว และ 22 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 องค์กรต่างๆ ในญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นผู้นำในการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ โดย 36 เปอร์เซ็นต์ และ 31 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ กำลังดำเนินโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีคลาวด์ ส่วนอินเดียและจีนเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ในแง่ของแผนการปรับใช้ โดย 43 เปอร์เซ็นต์ และ 39 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ มีแผนที่จะปรับใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

ในแง่ของการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ 23% นำหน้ามาเลเซียและไทยเล็กน้อยที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 21% แต่สำหรับองค์กรในประเทศมาเลเซีย 39% และไทย 39% มีแผนที่จะปรับใช้ระบบคลาวด์ในสัดส่วนที่มากกว่าสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์

โดยองค์กรที่มีความรู้ด้านไอที อาทิเช่นผู้ให้บริการโทรคมนาคม และบริษัทเทคโนโลยี เป็นผู้นำในการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ รวมถึงการวางแผนเกี่ยวกับการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในอนาคต

** เทคโนโลยีคลาวด์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบไอทีในรูปแบบบริการ **

สัดส่วนสูงสุดขององค์กรในญี่ปุ่น (86%), สิงคโปร์ (84%) และไทย (74%) เชื่อมโยงเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งเข้ากับระบบไอทีในรูปแบบบริการ ขณะที่ในออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินเดีย บริษัทส่วนใหญ่ (80%, 78% และ 75% ตามลำดับ) เชื่อมโยงเทคโนโลยีคลาวด์เข้ากับแอปพลิเคชันออนดีมานด์ ส่วนในจีน 80%ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะรองรับการจัดสรรทรัพยากรสตอเรจและเครือข่ายในแบบออนดีมานด์

มร.ไมเคิล บาร์น รองประธานฝ่ายซอฟต์แวร์และการวิจัยในเอเชีย-แปซิฟิกของ Springboard Research กล่าวว่า สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก ไอทีในรูปแบบบริการนับเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด บริษัทเหล่านี้กำลังมองหาผู้ขายและที่ปรึกษาที่สามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อใช้ประโยชน์จากบริการไอทีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการระบบคลาวด์”

องค์กรส่วนใหญ่ (60 เปอร์เซ็นต์) ต้องการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์เนื่องจากความสามารถในการปรับขนาดตามความต้องการทางธุรกิจ และเหตุผลในอันดับรองลงมาได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานฮาร์ดแวร์ และการเพิ่มความสะดวกในการจัดสรรทรัพยากร/เซิร์ฟเวอร์

การประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยระยะสั้นสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งในสัดส่วน 57 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทในเอเชีย-แปซิฟิก และมีเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ปรับใช้หรือมีแผนที่จะปรับใช้ระบบคลาวด์สำหรับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งโดยมากแล้วเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน

** ระบบคลาวด์แบบผสมผสานได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น **

บริษัทที่ต้องการปรับใช้ทั้งระบบคลาวด์สาธารณะ และระบบคลาวด์ส่วนตัวคิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ราว 37% ระบุว่าจะพิจารณาเฉพาะระบบคลาวด์ส่วนตัวเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจธนาคารและหน่วยงานราชการ โดยระบบพับลิค คลาวด์ยังคงได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ให้การตอบรับต่อระบบคลาวด์ดีที่สุดจากการสำรวจในครั้งนี้ ก็ยังมีองค์กรเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่ต้องการใช้ระบบพับลิค คลาวด์ในอาเซียน การยอมรับระบบคลาวด์แบบผสมผสานมีสัดส่วนที่สูงกว่า 4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเอเชีย-แปซิฟิก

สตอเรจ (58%) ถือเป็นเวิร์กโหลดอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้สำหรับระบบไพรเวท คลาวด์ โดยญี่ปุ่น (62 เปอร์เซ็นต์) และจีน (61 เปอร์เซ็นต์) มีแนวโน้มที่จะปรับใช้สตอเรจบนระบบไพรเวท คลาวด์ ส่วนแอพพลิเคชั่นระดับองค์กรบนระบบคลาวด์ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 49 เปอร์เซ็นต์

ในแง่ของแผนการปรับใช้ 93 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการปรับใช้ระบบคลาวด์ในอนาคตจะครอบคลุมการประชุมผ่านเว็บ, IM, การทำงานร่วมกัน และอีเมล

มร.แอนดรู ดัทตัน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่นของวีเอ็มแวร์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าแวดวงธุรกิจมีความสนใจเป็นพิเศษในระบบคลาวด์แบบผสมผสาน โดยสิ่งสำคัญก็คือ องค์กรต่างๆ ต้องการที่จะเข้าใช้แพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ รวมถึงรูปแบบการจัดการร่วมกันและบริการแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงระบบไพรเวท คลาวด์และพับลิค คลาวด์เข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอระบบคลาวด์ที่สามารถทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน รองรับการใช้งานข้อมูลและแอพพลิเคชั่นทุกที่ทุกเวลา

** ความท้าทายสำคัญสำหรับการปรับใช้ระบบคลาวด์คือเรื่องความปลอดภัย **

การผนวกรวมเทคโนโลยีคลาวด์เข้ากับระบบที่ใช้งานอยู่ยังคงถูกขัดขวางด้วยอุปสรรคสำคัญ คือความกังวลใจในเรื่องความปลอดภัย โดย 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าความปลอดภัยคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุด

ในตลาดใหม่ ปัจจัยหลักที่ยับยั้งขัดขวางการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ก็คือ องค์กรต่างๆ ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 44 % ในจีน, 40%ในมาเลเซีย และ 40% ในไทย เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 36%

ผลลัพธ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า การใช้โซลูชันคลาวด์ที่อ้างอิงมาตรฐาน และการให้ความรู้ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในเอเชีย-แปซิฟิก

** เวอชวลไลเซชันคือรากฐานของคลาวด์คอมพิวติ้ง **

องค์กรต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก (59%) ระบุว่าโครงสร้างพื้นฐานเวอชวลไลเซชันคือส่วนประกอบสำคัญสำหรับคลาวด์คอมพิวติ้ง

ดัทตันอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีทั้งสอง โดยกล่าวว่า เวอร์ชวลไลเซชันช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถแยกแอปพลิเคชันทางธุรกิจและข้อมูลสำคัญๆ ออกจากระบบฮาร์ดแวร์ที่รองรับ และในทางกลับกัน ก็นับเป็นวิธีที่รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับระบบคลาวด์ องค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้กันมากขึ้น และพยายามที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนในเทคโนโลยีเวอชวลไลเซชัน

การปรับใช้เวอชวลไลเซชันในเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราสูงที่สุดในออสเตรเลีย (87%) และญี่ปุ่น (82%) และเมื่อแบ่งตามภาคธุรกิจ จะพบว่ามีการปรับใช้เวอร์ชวลไลเซชันในธุรกิจประกันภัยมากที่สุด (82%) ตามมาด้วยธุรกิจธนาคาร/บริการด้านการเงิน (76%) ประเทศไทย (67%), สิงคโปร์ (65%) และมาเลเซีย (65%) ตามด้วยออสเตรเลียและญี่ปุ่นในเรื่องการปรับใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน ในขณะที่ความแพร่หลายของเวอร์ชวลไลเซชันในอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 30%

บริษัทส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิกใช้เวอชวลไลเซชั่นสำหรับเซิร์ฟเวอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ โดยหลายๆ องค์กรมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเวอร์ช่วลไลเซชั่นเพื่อรองรับการรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงานและการกู้คืนระบบเมื่อเกิดภัยพิบัติ

โอกาสการเติบโตที่สำคัญที่สุดสำหรับเวอชวลไลเซชันในเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ระบบประมวลผลสำหรับผู้ใช้ แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่จะระบุว่าเดสก์ท็อปเวอชวลไลเซชันมีความสำคัญน้อยมากต่อภารกิจขององค์กร

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานอาจได้รับประโยชน์ที่สำคัญจากแนวทางใหม่สำหรับระบบคอมพิวติ้ง ซึ่งมีการทำเวอชวลไลซ์เดสก์ท็อป ด้วยการแยกระบบปฏิบัติการ ข้อมูลส่วนตัว และแอพพลิเคชั่นออกจากกัน ดังนั้นจึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการนำเสนอแอพพลิเคชั่นและข้อมูลให้แก่ผู้ใช้ทุกที่ทุกเวลาที่ผู้ใช้ต้องการบนทุกอุปกรณ์

ดัทตัน กล่าวเสริมว่า เดสก์ท็อปเวอร์ชวลไลเซชันรองรับการบริการตนเอง (Self-service) สำหรับผู้ใช้จำนวนมาก และนับเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้องค์กรยุคใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับขนาดได้อย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้อย่างฉับไว

Company Related Link :
VMware


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤศจิกายน 2553 16:34 น.

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

"Blekko.com" เสิร์ชพันธุ์ใหม่ท้าชนกูเกิล

ใครจะยอมปล่อยให้กูเกิล (Google) ครองตลาดค้นหาข้อมูลออนไลน์ หรือเสิร์ชเอนจินฝ่ายเดียว ล่าสุด Blekko.com เสิร์ชเอนจินพันธุ์ใหม่แจ้งเกิดบนโลกออนไลน์แล้วท่ามกลางกลุ่มทุนสนับสนุนร่วมหลายล้านเหรียญสหรัฐ อาสาเป็นตัวเลือกใหม่แทนกูเกิลและบิงจากไมโครซอฟท์ที่ครองตลาดค้นหาข้อมูลออนไลน์ในขณะนี้

Rich Skrenta ประธานกรรมการบริหารบริษัท Blekko กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งบริษัทคือการสร้างเสิร์ชเอนจินที่ไม่เพียงให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้ตามปกติ แต่จะเป็นการเสิร์ชที่ผู้ใช้จะไม่สามารถทำได้บนเสิร์ชเอนจินใด

คุณสมบัติสำคัญที่ Blekko เชิดชูที่สุดคือ slashtag ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถกำหนดขอบเขตการค้นหา ให้ดำเนินไปบนเฉพาะเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ใช้ต้องการ ส่งให้เว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องถูกกันออกจากผลการสืบค้นอย่างหมดจด

ที่ผ่านมา การค้นหาข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดคำเดียวบนเสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิล ยาฮู และบิง นำไปสู่การแสดงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องหลายพันล้านหน้า เดือดร้อนถึงชาวเน็ตที่จะต้องใช้สายตาคัดกรองผลการเสิร์ชมหาศาลเหล่านี้ด้วยตัวเอง จุดนี้ Blekko ยืนยันว่า slashtag (/) จะเป็นเครื่องมือเพื่อกรองผลการสืบค้น ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

หลักการทำงานของ slashtag นั้นไม่ต่างกับการใช้ hashtag (#) ที่จะทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถจับกลุ่มข้อความทวีตที่เกี่ยวข้องได้ โดย slashtag จะเป็นตัวช่วยจับกลุ่มผลการเสิร์ชทุกครั้งที่ผู้ใช้ Blekko ป้อนคำค้นเข้าไป ด้วยการเสนอ slashtag ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ใช้เลือกโดยอัตโนมัติ

เช่น หากผู้ใช้ต้องการค้นหาตำราอาหารลดความอ้วน เพียงพิมพ์คำว่า recipes ระบบ Blekko จะแสดงหมวดหมู่เว็บไซต์ที่คาดว่าผู้ใช้จะต้องการ เช่น /diet /food /baking เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้จับกลุ่มผลการค้นหาที่ต้องการอย่างคร่าวๆ จุดนี้ Blekko ระบุว่าสามารถวิเคราะห์กลุ่มคำที่ใช้ในการค้นหาครั้งใหม่ เพื่อหาความสัมพันธ์กับผลลัพธ์เว็บไซต์ที่พบโดยทั่วไป (ซึ่งไม่ถูกแสดงในครั้งแรก) จุดนี้ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาคลิกตรวจรายการเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง

ในช่วงทดสอบ Blekko จัดระบบเสนอ slashtag อัตโนมัติในกลุ่มคำค้นหายอดนิยมบางส่วนเท่านั้น ได้แก่ health, colleges, autos, personal finance, lyrics, recipes และ hotels โดยมีแผนที่จะเพิ่ม slashtag สำหรับหมวดผลลัพธ์ของการค้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

นอกจากนี้ Blekko ยังเปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้าง slashtag ของตัวเอง เพื่อสร้างเป็นแหล่งเก็บข้อมูลสำหรับการกลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่มในภายหลัง หรืออาจเปิดให้ผู้ใช้อื่นเข้ามาชมผลการสืบค้นได้ จุดนี้ ซีอีโอ Blekko ระบุว่าการเปิดให้เพื่อนฝูง ผู้เชี่ยวชาญ ชุมชน และการตั้งค่า slashtag ด้วยตัวผู้ใช้เอง จะทำให้ผลการค้นหามีคุณภาพเหนือกว่าเสิร์ชเอนจินเจ้าอื่น

นอกจากนี้ ซีอีโอ Blekko ยังทดสอบการค้นหาข้อมูลบัตรเครดิตที่คืนเงิน 2% ในสหรัฐฯ โดยการใช้คำว่า 2 percent cash back credit card เป็นคำค้นหาในกูเกิลและบิง แน่นอนว่า 2 เสิร์ชเอนจินนี้นำไปสู่ข้อมูลขยะจำนวนมาก แต่บน blekko เพียงใช้ /money [คำที่ใช้เสิร์ชคือ cash back credit card /money] เมื่อเลือก slashtag ที่นักเขียนบล็อกด้านการเงิน ผลการสืบค้นที่ได้ก็มีคุณภาพกว่ามาก

ทั้งหมดนี้ Blekko ระบุว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนอิสระจากทั้ง Marc Andreessen และ Ron Conway รวมมูลค่ามากกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 720 ล้านบาท) และใช้เวลาในการซุ่มพัฒนาเป็นเวลา 3 ปี โดย Blekko ยังมีความร่วมมือกับเว็บไซต์สารานุกรมรายใหญ่อย่าง Wikipedia บนความหวังให้การค้นหาข้อมูลเชิงคำถามคำตอบมีความแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสามารถนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกูเกิลก็มีแนวคิดเดียวกันและออกให้บริการในชื่อ SearchWiki ช่วงปี 2008 แต่ก็เงียบหายไปและถูกบริการเสิร์ชเรียลไทม์บนเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ขึ้นมาบดบังรัศมีแทน

แน่นอนว่า Blekko ไม่ใช่รายแรกที่หวังจะมาท้าชิงในสังเวียนเสิร์ชเอนจิน โดยปัจจุบัน กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 66% ในสหรัฐฯ ขณะที่บิงมีส่วนแบ่งตลาดรวมกับผู้ใช้ยาฮูรวมกัน 28% ซึ่งไม่ว่าผลการแขงขันจะเป็นเช่นไร แต่ประชาสัมพันธ์กูเกิลให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอีวีค (eWeek) ว่ายินดีร่วมแข่งขันกับ Blekko เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

Company Related Link :
Blekko

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤศจิกายน 2553 06:55 น.

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ไมโครซอฟท์แผ่ว แอปเปิลแซงในรอบ 15 ปี

ดูเหมือนจะเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) เพราะปี 2010 คือปีแรกที่คู่แข่งตลอดกาลของไมโครซอฟท์อย่างแอปเปิล (Apple) สามารถแซงหน้าทั้งในแง่มูลค่าหุ้นและรายรับรวม

โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ไมโครซอฟท์เพิ่งประกาศออกมาช่วงปลายเดือนตุลาคม กลับมีมูลค่าน้อยกว่าตัวเลขที่แอปเปิลทำได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นไตรมาสแรกในรอบ 15 ปีที่แอปเปิลสามารถท้าทายไมโครซอฟท์ได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ หลังจากที่แอปเปิลถูกยกให้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (คำนวณจากมูลค่าหุ้น) เหนือกว่าไมโครซอฟท์ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ไมโครซอฟท์ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2010 (กรกฎาคม-กันยายน) ว่าสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น 51% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน คิดเป็นกำไรสุทธิ 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตัวเลขที่เหนือกว่าคำพยากรณ์ของบริษัทเงินทุนในวอลล์สตรีท เนื่องจากตลาดค้าซอฟต์แวร์วินโดวส์ (Windows) และซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสารออฟฟิศ (Office) เติบโตเหนือความคาดหมาย ทั้งหมดนี้ไมโครซอฟท์ระบุว่าสามารถทำรายได้รวม 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.86 แสนล้านบาท) ซึ่งด้อยกว่าแอปเปิลที่ทำรายรับรวม 20,340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.10 แสนล้านบาท)

นี่เองที่ทำให้สื่อมวลชนอเมริกันรายงานว่า ไตรมาสที่ผ่านมาคือไตรมาสแรกในรอบ 15 ปีที่แอปเปิลสามารถทำยอดขายได้มากกว่าไมโครซอฟท์ โดยนักลงทุนนั้นตื่นตัวกับศักยภาพไมโครซอฟท์ที่ดูเหมือนว่าจะด้อยกว่าคู่แข่ง ทำให้มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์ลดลงถึง 14% ทั้งที่ไมโครซอฟท์สามารถทำยอดจำหน่ายและกำไรได้มากกว่าช่วง 8 ปีก่อนกว่าเท่าตัว

** ไมโครซอฟท์ยังแกร่ง **

ต้องยอมรับว่าไมโครซอฟท์สามารถทำได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากยังสามารถรักษาการเติบโตของบริษัทไว้ได้แม้องค์กรธุรกิจจำนวนมากจะยึดนโยบายใช้จ่ายน้อยลง และแนวโน้มที่ชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคพีซีขาลง ซึ่งไม่เพียงความกังวลทั้งหมดจะไม่มีผลต่อรายได้ แต่ไมโครซอฟท์ยังโชว์ตัวเลขว่าผลิตภัณฑ์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์และซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศสามารถสร้างยอดขายให้ไมโครซอฟท์ถึง 60% ของยอดจำหน่ายรวม โดยคิดเป็น 80% ของกำไรทั้งหมด

ผลประกอบการดีเยี่ยมของไมโครซอฟท์ทำให้นักวิเคราะห์มองคำว่า "ธุรกิจพีซีกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง" เป็นการตื่นตัวที่เกินกว่าเหตุ เนื่องจากในนาทีที่ธุรกิจแท็บเล็ตเติบโตต่อเนื่อง ไมโครซอฟท์ซึ่งน่าจะเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในตลาดพีซีที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร ก็ยังไม่ถึงกับทรุดตามคำคาดการณ์ของหลายสำนัก

จุดอ่อนใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์คือกลุ่มบริการออนไลน์ ซึ่งมีส่วนประกอบใหญ่เป็นบริการเสิร์ชเอนจินอย่าง Bing และเว็บท่า MSN กลุ่มธุรกิจนี้ขาดทุนเพิ่มขึ้น 17% แตะระดับตัวแดง 560 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุเป็นเพราะการลงทุนอย่างหนักเพื่อไล่ตามจ่าฝูงอย่างกูเกิล คาดว่าเบ็ดเสร็จตลอด 5 ปี ไมโครซอฟท์ขาดทุนจากแผนกนี้ราว 6,000 ล้านเหรียญแล้ว

สำหรับตัวเลขยอดรายรับรวม 16,200 ล้านเหรียญ ไมโครซอฟท์ระบุว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 25% ส่งให้มีกำไร 5,400 ล้านเหรียญ หรือ 62 เซ็นต์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ 3,600 ล้านเหรียญ หรือ 40 เซ็นต์ต่อหุ้น

เฉพาะธุรกิจจำหน่ายซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ทำกำไรขั้นต้นได้มากที่สุด 3,400 ล้านเหรียญ รองลงมาคือธุรกิจจำหน่ายระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทำกำไรขั้นต้น 3,300 ล้านเหรียญ นอกนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องมือและเครื่องแม่ข่าย ซึ่งรวมเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งด้วย ทำกำไรขั้นต้นได้ 1,600 ล้านเหรียญ ส่วนกลุ่มสินค้าเพื่อความบันเทิงอย่าง Xbox และซอฟต์แวร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำกำไรขั้นต้น 382 ล้านเหรียญ

ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ดำเนินนโยบายเลิกจ้างพนักงาน 5,800 คนจนมีจำนวนพนักงานรวมในขณะนี้ 89,000 คน

** คู่แข่งแกร่งมากกว่า **

แม้แอปเปิลจะมีกำไรสุทธิตลอด 3 เดือนต่ำกว่าไมโครซอฟท์ โดยประกาศที่ 4,310 ล้านเหรียญ แต่กำไรของแอปเปิลที่แกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การได้กำไรในไตรมาสก่อนเพียง 3,350 ล้านเหรียญ (ปี 2009) และ 2,530 ล้านเหรียญ (ปี 2008) รวมถึงรายรับรวมของแอปเปิลที่เพิ่มขึ้นถึง 67% ในไตรมาสเดียวกัน ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในอนาคตของไมโครซอฟท์เท่าใดนัก จนเป็นผลให้มูลค่าหุ้นไมโครซอฟท์ตกต่ำลงในที่สุด

แอปเปิลระบุว่า ไอโฟน (iPhone) ถือเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ให้แอปเปิลในไตรมาส 3 เนื่องจากยอดจำหน่ายทั้งหมดสูงถึง 14.1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยไอแพด (iPad) จำหน่ายได้ 4.2 ล้านเครื่อง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.8 ล้านเครื่อง จุดนี้แอปเปิลชี้แจงว่าเป็นเพราะปัญหาในสายการผลิตไอแพด ซึ่งคาดว่าจะแก้ไขสถานการณ์ได้ในไตรมาสนี้ สำหรับคอมพิวเตอร์แมคอินทอช แอปเปิลระบุว่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 28% เบ็ดเสร็จที่ 3.89 ล้านเครื่อง เครื่องเล่นเพลงไอพอด (iPod) มียอดจำหน่ายที่ 9.05 ล้านเครื่อง ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการมหาศาลของผู้บริโภคที่ไมโครซอฟท์ไม่อาจเข้าถึงได้

ในส่วนคู่แข่งไมโครซอฟท์ด้านธุรกิจออนไลน์ ยักษ์ใหญ่กูเกิลระบุว่ามีรายได้หลังหักส่วนแบ่งกับเว็บไซต์พันธมิตรราว 5,480 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งทำได้ 5,270 ล้านเหรียญ แหล่งรายได้ใหญ่คือธุรกิจลงโฆษณาชนิดจ่ายตามจำนวนคลิก ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 16% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว

ความแข็งแกร่งของคู่แข่งทั้งหมดนี้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจหากไมโครซอฟท์จะถูกแซงหน้าเรื่องการโกยเงินจากผู้บริโภคไป แต่ย่อมเป็นเรื่องไม่ดีแน่ หากไมโครซอฟท์จะไม่ปรับตัวและปล่อยให้รูปการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

Company Related Link :
Microsoft

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2553 09:20 น.

อินเทลดึง 70 บริษัทยักษ์ร่วมมือด้านคลาวด์ฯ

อินเทล ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่เป็นตัวตั้งตัวตีในการดึง 70 บริษัทนานาชาติที่ติดอันดับ Fortune 500 ซึ่งนิตยสารชื่อดังจัดอันดับไว้ เปิดเป็นสมาคม Open Data Center Alliance เพื่อหาแนวทางการจัดระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อสร้างสรรค์เป็นระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลที่เปิดกว้างและทำงานร่วมกันได้ โดยบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าการลงทุนด้านไอทีต่อปีรวมกันกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นองค์กรที่มีงานวิจัยหรือโครงการเกี่ยวกับระบบคลาวด์อย่างจริงจัง

อินเทลออกแถลงการณ์ว่าคณะกรรมการหลักของกลุ่มจะประกอบด้วยแบรนด์สากลอย่าง BMW, China Life, Deutsche Bank, J.P. Morgan Chase, Lockheed Martin, Marriott International, Inc., National Australia Bank, Shell, Terremark และ UBS โดยอินเทลจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษของกลุ่มเพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีแก่บริษัทในกลุ่มสมาชิก เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงในปี 2015

สมาคมที่เกิดขึ้นถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ "Cloud 2015" ของอินเทลในการหาทางให้ระบบคลาวด์คอมพิวติงในองค์กรมีความปลอดภัยและมีความสามารถในการทำงานร่วมกันมากขึ้นในปี 2015 ซึ่งในเวลานั้น อินเทลเชื่อว่าปริมาณชาวเน็ตเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน 1,000 ล้านคน อุปกรณ์เคลื่อนที่มากกว่า 15,000 ล้านชิ้น และทราฟฟิกออนไลน์มากกว่า 1 เซตาไบต์

Company Realted Link :
intel

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2553 10:57 น.