วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อินเทลเผยเทรนด์เทคโนโลยีมาแรงปี 2554

เทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ ในปี 2554 จะสร้างสรรค์ประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับยุคที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ (Pervasive computing) ในฐานะผู้ใช้ เราจะมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีให้เลือกใช้หลากหลายมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด โดยอินเทลมองว่า เทรนด์เทคโนโลยีของปี 2554 ซึ่งจะมาพร้อมกับระบบการทำงานที่ฉลาด ทรงประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ได้แก่

1. สมาร์ททีวี - ใกล้จะเป็นจริงเข้าไปทุกที

อินเทลคาดว่า ผู้ผลิตโทรทัศน์และอุปกรณ์เซ็ตท้อปบ็อกซ์ ที่เป็นตัวแปลงสัญญาณระบบดิจิตอล จะเริ่มแข่งขันในตลาดสมาร์ททีวีอย่างพร้อมเพรียงกัน และภายในสิ้นปี 2554 บริษัทเหล่านี้จะสามารถประเมินทิศทางการยอมรับของผู้บริโภคสำหรับตลาดสมาร์ททีวีได้

2. สาวกแท็บเล็ต เข้าสู่ยุค “ไฮบริด”

แท็บเล็ตพีซีรูปแบบต่างๆ ตลอดจนระบบปฏิบัติการ จะมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย โดยคาดว่าจะมีอุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ผสมผสานกันระหว่างเน็ตบุ๊กชั้นเยี่ยมเข้ากับแท็บเล็ตชั้นยอด อย่างเช่น Intel-based Dell prototype ที่มีการเปิดตัวในงาน อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม หรือ new 11-inch Macbook Air เป็นต้น

3. ยอดขายโน้ตบุ๊กพุ่งแรง

ยอดขายโน้ตบุ๊กจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพราะมีคุณสมบัติด้านไฮเดฟิชันและกราฟิกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเลือกอย่างมากมาย รวมถึงระบบการแสดงผลไร้สาย ที่ทำให้สามารถส่งเนื้อหารายการต่างๆ ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรับชมผ่านจอทีวี นอกจากนี้รอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีขององค์กร และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ยังจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้โน้ตบุ๊กมียอดขายที่แข็งแกร่งต่อไป

4. พีซีและอุปกรณ์อัจฉริยะ จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้มากขึ้นด้วย Context Aware หรือ Perceptual Computing

ผู้บริโภคจะหันมาตกหลุมรักกับการมาถึงเป็นครั้งแรกของ context aware หรือ perceptual computers ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ทั้ง ‘ฮาร์ด เซ็นเซอร์’ และ ‘ซอฟต์ เซ็นเซอร์’ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์พกพาที่เรียกว่า Personal Vacation Assistant ซึ่งใช้เทคโนโลยี context-aware computing เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการเดินทางท่องเที่ยว อุปกรณ์พกพาดังกล่าวจะมีกล้องซึ่งประกอบด้วย “ฮาร์ดเซ็นเซอร์” ที่สามารถจดจำวัตถุและข้อมูลจากระบบจีพีเอส รวมทั้งข้อมูลจาก ‘ซอฟต์เซ็นเซอร์’ ที่นักท่องเที่ยวป้อนเข้าเครื่อง เช่น ปฏิทิน หรืออาหารที่ชอบ เพื่อจะได้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ ได้ในทันที

5. กฎของมัวร์ ยังคงเป็นจริงต่อไป

นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ จะเดินหน้าท้าทายผู้ที่ยังคิดว่า กฎของมัวร์ สิ้นสุดลงแล้ว เพราะว่า ในปีต่อๆ ไป อุปกรณ์ใหม่นับพันล้านชิ้นจะมีสมรรถนะด้านการคำนวณและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงตามไปด้วยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ที่ฝังอยู่ในตัวชิปคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์ได้อย่างมหาศาล และทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้นอีกด้วย

6. ความปลอดภัยของข้อมูลที่สูงขึ้น

จากความต้องการด้านไอทีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น มีโมเดลการใช้งานใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงคลาวด์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกมากมายที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นความปลอดภัยของข้อมูลจะยังคงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ตลอดปี 2554 อุตสาหกรรมไอทีจะยังคงเน้นความสำคัญของสมรรถนะสำหรับการปกป้องความปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานของตัวอุปกรณ์ และการรักษาความลับทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ อินเทล™ คอร์™ วีโปร โปรเซสเซอร์ (Intel Core vPro) การซื้อกิจการของแมคอาฟีย์ (McAfee) และอีกหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชิปอินเทลมีบทบาทสำคัญ

7. ผู้บริโภคจะเชื่อใจแบรนด์ที่ไว้ใจได้ภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไตร่ตรองมากขึ้นสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคิดแล้วคิดอีกก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่เล็งอยู่ และมีแนวโน้มที่จะหันกลับไปใช้สินค้าแบรนด์ที่ตนเองคุ้นเคย เพราะทราบถึงประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือของสินค้าแบรนด์ดังกล่าวที่ตนซื้อไปก่อนหน้านี้

8. ปรากฎการณ์ที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคในแวดวงไอที (Consumerization)

ปี 2554 จะเป็นปีที่เราเห็นการทับซ้อนกันระหว่างอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปและอุปกรณ์สำหรับองค์กร เห็นได้จากปี 2553 ที่มีการนำไอโฟนและโทรศัพท์แอนดรอยด์มาใช้ในองค์กร ทั้งนี้ พนักงานจะมีความต้องการอุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ต้องการที่จะขยายขอบเขตของการทำงานไปสู่อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากปีที่ผ่านมายอดขายของสมาร์ทโฟนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 54 ทำให้สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้พนักงานทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ อิทธิพลของเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้สมาร์ทโฟนเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกประเทศของแถบเอเชียอีกด้วย ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เวอร์ช่วลไลเซชั่น เทคโนโลยีป้องกันการโจรกรรม ระบบการจัดการจากระยะไกล และการรักษาความปลอดภัย จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้

9. ป้ายโฆษณาอัจฉริยะ

ป้ายโฆษณาดิจิตอลแบบอินเตอร์แอคทีฟอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ “Minority Report” จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะความโดดเด่นในด้านการโต้ตอบด้วยรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการจดจำใบหน้าและบุคลิกท่าทางต่างๆ ของคน

10. การปฏิวัติของผู้บริโภคในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เพียงแค่พูดถึงเรื่องการจัดการด้านการใช้พลังงาน ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยจะมีอุปกรณ์และบริการต่างๆ ที่ช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานภายในบ้าน นำเสนอในตลาดสำหรับผู้บริโภค

11. เทคโนโลยียานยนต์

จากการที่เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ทำหน้าที่เหมือนระบบประสาทส่วนกลางของรถยนต์ในปัจจุบัน ทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับรถยนต์จะยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติพิเศษด้านความบันเทิง การควบคุมสมาร์ทโฟนแบบแฮนด์ฟรีด้วยคำสั่งเสียง เทคโนโลยีความปลอดภัย หรือฟังก์ชั่นการขับขี่อัตโนมัติโดยรถยนต์ เป็นต้น

12. แนวโน้มที่สดใสของคลาวด์และเวอร์ชวลไลเซชัน

คลาวด์สำหรับองค์กรจะเริ่มประสบความสำเร็จ เพราะมีการนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ใช้คลาวด์สำหรับธุรกิจมากขึ้น รวมถึงเครือข่ายสังคม จากการที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนมากมุ่งหน้าสู่การทำเวอร์ช่วลไลเซชั่นสำหรับการใช้งานด้านไอทีของตนในปี 2553 ทำให้ในปีหน้านี้ เราจะยังเห็นองค์กรนำนำโซลูชันที่ใช้กับคลาวด์มาใช้ภายในองค์กร นอกจากนี้ การเรนเดอร์ข้อมูลที่ใช้คลาวด์จะสามารถทำได้ภายในระบบ และสามารถส่งข้อมูลไปทั่วระบบเครือข่ายบรอดแบนด์ เพื่อส่งต่อไปยังอุปกรณ์ที่มีพลังการประมวลผลกราฟิกระดับปานกลางได้

Company Related Link :
Intel

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

10 แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นบนโลกไอที ในปี 54

ไอดีซีคาด การเติบโตของบริษัทต่างๆ ในเอเชียจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านไอซีที ในปี 2554 เชื่อแอปพลิเคชัน Socialytics เป็นเรื่องเด่นในการคาดการณ์ 10 อันดับแนวโน้มที่สำคัญในปี 2554

บริษัทวิจัยตลาดไอดีซี (International Data Corperation) คาดการณ์ 10 แนวโน้มสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่น ในปี 2554 การดำเนินธุรกิจของภูมิภาคเอเชียและมุมมองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นั้นจะยังคงถูกเน้นหนักไปที่ภาพของการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือในบางกรณีมีอัตราการเติบโตในระดับสูง ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนส่งผลให้เกิดการแปลงสภาพของอุตสาหกรรม ไอซีที ตามลำดับ และยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ต่อไปนี้คือ 10 อันดับแนวโน้มด้านไอซีทีที่สำคัญในปี 2554 ที่ไอดีซีเชื่อว่าจะเป็นแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลกระทบตลาดไอซีทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

1. แอปพลิเคชั่น Socialytic จะเปลี่ยนตลาด

ในปี 2554 Social media และ Business analytical จะทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มให้มีใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ ภายในองค์กร โดยแอปพลิเคชันทางธุรกิจทุกประเภทจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของระบบโครงการสร้างการทำงาน ด้วยการรวมซอฟต์แวร์ด้าน Social/Collaboration และงานด้านการวิเคราะห์ เข้าไปเป็นหน่วยหนึ่งในแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่ใช้งานมาดั้งเดิม ในปี 2554

2. Mobilution - Mobility จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดไอที

สิ่งที่เราเรียกว่า “มหาพายุ (Perfect storm)” ซึ่งเกิดจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีหลายประเภทที่รวมตัวกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องโมบิลิตี้ แท็บเล็ต มีเดียแท็บเล็ต อย่างไอแพด และสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ สามารถทำงานด้านซอฟต์แวร์ หรือเซอร์วิสได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยี Cloud Computing ในปัจจุบัน ทำให้เราพบว่าระบบไอทีต่างๆ กำลังจะเริ่มให้บริการในรูปแบบที่เป็นเวอร์ชวลไลซ์มากขึ้น โดยจะลดความสำคัญของงานประมวลผลที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ สิ่งนี้จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง กลายเป็น Mobile อย่างจริงจัง และในปี 2554 จะเป็นปีที่หลายๆ หน่วยงานให้ความสำคัญญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

3.“จ่ายน้อยยุ่งยากน้อย Less for Less” - พอร์ทัลสำหรับให้ลูกค้าใช้บริการด้วยตนเองจะเป็นหัวหอกในการนำเสนอบริการราคาประหยัดที่ยึดเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง

การมองลูกค้าเป็นตัวตั้ง - การปรับเปลี่ยนสินค้าหรือบริการไปตามสภาพของตลาดที่เปลี่ยนไป จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กร ในขณะเดียวกันผู้คนก็จะเห็นแนวคิดหรือวิถีชีวิตที่มาจากคน Gen-Y เพิ่มขึ้นในโลกของธุรกิจอีกด้วย ด้วยแรงขับเคลื่อนจากสองสิ่งนี้ในสภาพแวดล้อมของการทำงาน บทบาทของการให้บริการด้วยตนเอง (Self-service) ที่เป็นการใช้งานผ่านเว็บไซต์จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ จากแนวคิดของ “จ่ายน้อยยุ่งยากน้อย” หมายถึงค่าใช้จ่ายที่น้อยสำหรับการใช้บริการที่จะเกิดขึ้นสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการ ที่ไม่มีความซับซ้อนต่อการใช้บริการ ง่ายต่อการให้บริการดูแลลูกค้า ซึ่งไอซีทีจะมีบทบาทที่สำคัญในเรื่องของบริการด้วยตนเองที่ “จ่ายน้อยยุ่งยากน้อย” ที่ใช้แนวคิดลูกค้าเป็นตัวตั้ง

4. Analytics จะช่วยเร่งการติดตามพฤติกรรมการบริโภคในเอเชีย

การแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความเข้มข้นในเอเชียในอีก 3-5 ปีข้างหน้า กำลังมุ่งเข้าตลาดในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต จากเหตุผลในเรื่องของความสามารถในการพัฒนาวิธีการตัดสินใจและช่วยส่งเสริมให้รายได้เพิ่มขึ้นสูงขึ้น การวิเคราะห์ด้านธุรกิจถูกคาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ระยะกลางสำหรับบรรดาซีไอโอ ในปี 2554 เมื่อเทคโนโลยีนี้กำลังถูกมองว่าเป็นตัวช่วยให้องค์กรต่างๆ เพื่อความสามารถในการแข่งขันได้

5. iPad จะได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในเรื่อง Client Virtualization

ด้วยกระแสความนิยม iPad ในปี 2533 ส่งผลให้ซีไอโอของแต่ละองค์กรกำลังถูกเชิญชวนโดยผู้บริหารระดับสูงของ Apple เพื่อโน้มน้าวให้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลสามารถเชื่อมต่อเข้าไประบบไอทีขององค์กร และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับได้ ทั้งที่ซีไอโอกำลังกังวลว่ามีโอกาสที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องความเสี่ยงต่างๆ

เพราะเหตุนี้โซลูชันทางเลือกที่เป็นไปได้ทางหนึ่งคือการใช้ Client Virtualization ด้วยการสร้างช่วงของการใช้งานที่เป็นเวอร์ชวลไลซ์ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระบบปฏิบัติการ อีกทั้งยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับซีไอโอว่าพวกเขาจะรู้ได้ว่าข้อมูลต่างๆ ขององค์กรนั้นมีความปลอดภัย เรื่องนี้เป็นไปได้ว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีในการดำเนินการ แต่ไอดีซีคาดว่าการใช้งานอย่างแพร่หลายของ Client Virtualization จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

6. การให้บริการและการจัดตั้งสมาพันธ์จะเป็นตัวโน้มน้าวให้เกิดการใช้งาน Cloud ในระดับองค์กร

การเริ่มต้นของเทคโนโลยีและบริการ Private Cloud สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2554 เนื่องจาก ความกังวลเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย ความเสถียร และประสิทธิภาพของบริการ Public Cloud ไอดีซี คาดว่า ความสามารถในการผสานรวมแอปพลิเคชันหรือบริการจากคลาวด์กับแอปพลิเคชัน หรือบริการจากหน่วยงานไอทีขององค์กรหรือกับบริการจากผู้ให้บริการคลาวด์ อีกรายหนึ่งนั้นจะเป็นได้ทั้งแรงบวกหรือลบสำหรับการนำคลาวด์มาใช้ในองค์กร

ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทต่างๆ ในเอเชียจะใช้บริการคลาวด์ ที่จะเน้นไปที่โซลูชันที่ใช้งานตามความต้องการเฉพาะเรื่องมากกว่าที่จะใช้งานแบบ “ถอดทิ้งและแทนที่ใหม่” มันจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าแอปพลิเคชันที่ใช้งานในปัจจุบันกับแอปพลิเคชันของ คลาวด์จำเป็นจะต้องผนวกเข้าด้วยกัน ถ้าหากปราศจากการผสานรวมกันแล้ว มันจะเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ในเรื่องผลตอบแทนการลงทุน (ROI)

7. องค์กรธุรกิจที่ทันสมัยจะเริ่มทำแค๊ตตาล๊อกบนพื้นฐานเกี่ยวกับไอที (Catalog-Based IT)

จากการที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ได้กลับมาฟื้นตัวและธุรกิจต่างๆ ก็กำลังเติบโต ผู้ใช้งานจะเริ่มมีความต้องการใช้ทรัพยากรด้านไอทีมากขึ้น การจัดหาทรัพยากรคอมพิวเตอร์มาให้ได้แบบปัจจุบันทันด่วนกำลังกลายเป็นความต้องการที่เหมือนจะเป็นข้อบังคับภายในองค์กร จะถูกคาดหวังให้สนับสนุนความต้องการใช้งานเฉพาะหน้าที่ ส่วนมากจะเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน หนทางเดียวที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้คือการติดตาม และการเตรียมพร้อมในเรื่องทรัพยากรด้านไอที ผ่านแคตตาล๊อกบนพื้นฐานไอที (catalog-based IT)

ไอดีซีคาดว่า มากกว่าร้อยละ 50 ขององค์กรธุรกิจสัญชาติเอเชียขนาดกลางถึงใหญ่ กำลังถูกสั่งให้สร้างแคตตาล๊อกบนพื้นฐานไอซีที ในปี 2554

8. Business-as-a-Service เป็นคำตอบสำหรับการผสานระหว่างไอทีกับธุรกิจเข้าด้วยกัน?

Business-as-a-Service เป็นการนำเสนอบริการที่เน้นไปในเรื่องของขั้นตอนดำเนินธุรกิจมากกว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที มันเป็นแนวโน้มที่แสดงถึงความสำคัญและผลกระทบที่ไม่ใช่แค่เรื่องไอทีเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงเรื่องการเอ้าซอร์สขั้นตอนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ดังนั้น Business-as-a-Service จึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นสิ่งที่นำแสงแห่งความหวังในการจับคู่ระหว่างไอที และธุรกิจ ให้กลายเป็น “หนึ่งเดียวกัน” เพื่อแข่งขันได้อย่างมั่นใจในตลาดเอเชียแปซิฟิก ไอดีซีเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2554

9. ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะหันกลับมาตลาดไอที

Cloud ยังคงถูกพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ เป็นหนึ่งในยุคของเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมครองตลาดได้ เนื่องจากมันเป็นข้อได้เปรียบที่ติดมาจากการเป็นเจ้าของระบบโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ซึ่งสิ่งนี้เรื่องจำเป็นที่สำหรับการให้บริการ Cloud ทั้งหมด

ไอดีซี เชื่อว่าองค์กรส่วนใหญ่จะมุ่งพัฒนาไปสู่รูปแบบคลาวด์ที่เป็นลูกผสม โดยที่บริษัทหลายแห่งชอบที่จะปกป้องทรัพย์สินของตนเองโดยเฉพาะงานหรือแอพพลิเคชันที่มีความสำคัญต่อองค์กรไว้ภายใน Private Cloud ที่ลงทุนเอง ไอดีซีเชื่อว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะไม่หันหลังให้กับโอกาสสำหรับโซลูชันไพรเวท คลาวด์ที่องค์กรต่างๆ จะลงทุนเอง ตลาดนี้คาดว่าจะมีมูลค่าราว 752 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2554 และคาดว่าจะสูงถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557

10. ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมองหาเทคโนโลยี Cloud เพื่อใช้ในการดำเนินงาน

ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตกำลังเร่งนำเสนอบริการ Cloud ให้กับผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลทั่วไปหรือองค์กรธุรกิจ แต่กลับมีกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมย่อยที่เกิดใหม่และน่าจับตามอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการไอที โดยผู้จัดหาอุปกรณ์เครือข่ายกำลังจัดหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำหน้าที่ในการแปลงผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี หรือการให้บริการเหล่านี้ไปสู่การให้บริการคลาวด์ ที่ให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นตัวเงินได้

รูปแบบการให้บริการคลาวด์ที่นำเสนอในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นแบบ “ผู้ให้บริการหนึ่งรายต่อลูกค้าหลายราย” ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเสมอเมื่อกำลังพูดถึงบริการคลาวด์ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยทั่วไปแล้วมักลังเลเป็นอย่างมากที่จะแชร์เซิฟเวอร์เดียวกันกับคู่แข่งของเขา เพื่อขจัดปัญหาเช่นนั้น ผู้จัดหาอุปกรณ์เครือข่าย กำลังมองหาแนวทางในการนำเสนอบริการเหล่านี้ในลักษณะ Hosted Private Cloud ซึ่งจะมีการจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานตามตรรกะตามผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละราย ด้วยทิศทางในอนาคตที่จะมุ่งไปสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานของ cloud ที่เสมือนจะแยกกันอย่างชัดเจน จะทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหลายจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นในเรื่องของแนวคิดการใช้งานร่วมกัน

Company Related Link :
IDC

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 ธันวาคม 2553 17:34 น.

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

5 ปัจจัยเสี่ยง ไทยเสียวงโคจรดาวเทียม 50.5E

เตือนกระทรวงไอซีที พึงตระหนักว่ามีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะเสียตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก หลังไทยคม 2 ที่หมดอายุถูกลากเข้าไปในตำแหน่งนี้เพียง 17 วัน ด้วยความเชื่อว่าระยะเวลาแค่นั้น จะยังทำให้ไทยได้สิทธิ์ในวงโคจรต่ออีก 2 ปี ท่ามกลาง 4 ชาติที่จ้องวงโคจรนี้ตาเป็นมัน

แหล่งข่าวในธุรกิจดาวเทียมสื่อสารกล่าวว่า มีเหตุผลอย่างน้อย 5 ประการที่ทำให้ไทยถูกแย่งชิงสิทธิ์ในการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก (50.5E) คือ1. การแจ้งเอกสารที่ไม่ถูกต้องของอินเทลแซท ว่าเป็นการใช้ในนามประเทศไทย 2. การแจ้งเอกสารที่ไม่ถูกต้องเรื่องการใช้วงโคจร 50.25E ในกระบวนการทำให้การใช้วงโคจร 50.5E ถูกกฎหมาย 3. การปล่อยให้วงโคจรว่างลงในเดือนเมษายน 2008 แต่แจ้งแก่ ITU ว่าเป็นเดือนพ.ย. 2009 4. การทำให้วงโคจรไม่ถูกใช้งานนานกว่า 2 ปี และ5. การใช้งานวงโคจรเพียง 17 วัน ซึ่งเป็นเวลาแสนสั้นในการเริ่มต้นเงื่อนไข 2 ปี ใหม่

ตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระบุว่าวงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติประเทศเอกราชเท่านั้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 1994 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนและยื่นขอสิทธิ์จาก ITU ในการใช้พื้นที่วงโคจรหลายจุด รวมถึง 50.5E ซึ่งเคยถูกใช้กับดาวเทียมไทยคม 3 มาก่อน

ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2006 ดาวเทียมไทยคม 3 ถูกปลดระวาง และเคลื่อนย้ายออกจากวงโคจร 50.5E เนื่องจากความล้มเหลวในการกระจายสัญญาณ ต่อมาวงโคจร 50.5E ถูกระบุว่าใช้งานโดยดาวเทียมของอินเทลแซท (Intelsat) ภายใต้ข้อตกลงจนถึงเดือนเมษายน 2008 แต่วงโคจรนี้ถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากอินเทลแซทใช้พื้นที่วงโคจรที่ 50.25E การเปิดเผยเรื่องนี้ทำให้วงโคจรนี้เกิดปัญหาขึ้น

ภายใต้ข้อบังคับของ ITU ระบุว่าเมื่อใดที่ตำแหน่งวงโคจรไม่ถูกใช้งาน ประเทศดังกล่าวมีสิทธิ์ 2 ปีในการส่งดาวเทียมกลับสู่วงโคจรเดิม หรือไม่ก็เสียสิทธิ์ให้แก่ประเทศถัดไปที่รอต่อคิวใช้ตำแหน่งวงโคจร ซึ่งปัจจุบัน หลายประเทศต่างยื่นเอกสารขอสิทธิ์จาก ITU และรอต่อคิวใช้งานตำแหน่งวงโคจรทุกจุด

ปัจจุบัน สิทธิ์ในการใช้วงโคจร 50.5E ยังคงเป็นของประเทศไทย แต่กำลังเสี่ยงในการถูกแย่งชิงไปโดยประเทศสมาชิก ITU หลังจากที่อินเทลแซทเคลื่อนย้ายดาวเทียมออกจากวงโคจร 50.25E ในเดือนเมษายน 2008 ประเทศไทยได้รอเวลาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2009 จึงแจ้งให้ ITU ทราบว่าตำแหน่งวงโคจรไม่ได้ถูกใช้งาน

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเปิดช่องให้การครอบครองสิทธิ์ในการใช้งานวงโคจร 50.5E ของประเทศไทยมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแจ้งกับ ITU นั้นไม่ตรงกับช่วงการใช้งานวงโคจรที่แท้จริง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไทยคมได้เคลื่อนย้ายดาวเทียมไทยคม 2 จากวงโคจร 78.5E มาเป็นตำแหน่ง 50.5E โดยอ้างว่าเมื่อดาวเทียมปฏิบัติการย้ายตำแหน่งกลับไปยังตำแหน่งวงโคจรเดิม สิทธิ์ในการถือครองวงโคจรของประเทศไทยจะถูกปกป้องไว้ แต่เนื่องจาก ไทยคม 2 เป็นดาวเทียมดวงเดียวในวงโคจร 50.5E ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2010 ถึง 28 ตุลาคม 2010 (17 วัน) โดยไทยประกาศว่าตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวถูกนำกลับมาใช้งาน และแจ้งแก่ ITU ว่าประเทศไทยมีดาวเทียมปฏิบัติการที่วงโคจร 50.5E

แต่ขณะนี้ ไทยคมได้แจ้งแก่ ITU ว่าวงโคจรดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว และต้องการเวลาอีก 2 ปีก่อนที่บริษัทจะตัดสินใจใช้ตำแหน่งวงโคจรหรือสละสิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่าจะไม่มีประเทศใดที่เห็นชอบด้วย เนื่องจากเวลาเพียง 17 วันไม่เพียงพอต่อการยืนยันด้วยเหตุผล ว่าไทยคม "กำลังใช้งาน" วงโคจรที่ได้ยื่นเอกสารต่อ ITU ฉบับดั้งเดิม แถมในขณะนี้ ดาวเทียมไทยคม 2 นั้นไม่ได้อยู่ที่วงโคจร 50.5E ด้วย แต่ไถลไปทางตะวันตก 2.5 องศาต่อวัน เหมือนว่าดาวเทียมไม่สามารถควบคุมได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงตอนนี้ ประเทศไทยมีวงโคจรดาวเทียมเพียง 3 ตำแหน่ง การสูญเสีย 50.5E ไป 1 ตำแหน่ง ทั้งที่เป็นตำแหน่งที่ครอบคลุมพื้นที่การส่งสัญญาณดีที่สุด จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียสิทธิ์ในการใช้วงโคจรถึง 33% ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในห้วงอวกาศของประเทศ

นอกจากนี้ในปัจจุบันมี 4 ประเทศ คือ รัสเซีย จีน ตุรกี และเกาะ Mauritius ในมหาสมุทรอินเดียที่แสดงความสนใจและได้ยื่นขอสิทธิ์ในการใช้วงโคจร 50.5E ด้วยบุริมสิทธิ์ที่ด้อยกว่าประเทศไทย แต่หากไทยสูญเสียสิทธิ์ในการใช้วงโคจร ประเทศเหล่านี้จะมีสิทธิ์ใช้งานวงโคจรได้ก่อน 4 ปี

"ตำแหน่งวงโคจรที่ 50.5E เป็นตำแหน่งดาวเทียมที่ไทยขอใช้จาก ITU แต่ไม่เคยยิงดาวเทียมขึ้นมาใช้วงโคจรนี้เลย หากไทยยังปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่างอยู่จนสิ้นปีนี้ ITU จะยึดวงโคจรนี้คืน ซึ่งตำแหน่งนี้จะอยู่ในจุดที่มีรัศมีครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทย ตะวันออกกลางและแอฟริกา"

Company Related Link :
Thaicom

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 ธันวาคม 2553 10:18 น.

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

RSA เตือนโทรจันบนมือถือ ล้วงข้อมูลธุรกรรมธนาคาร

RSA เตือนภัยลูกค้าธุรกรรมออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อของโทรจัน Qakbot ที่มุ่งเป้าหมายไปที่สถาบันทางการเงินทั้งหมด หลังพบมีอัตราการกระจายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเผยวิธีป้องกันขั้นต้นทั้งในแง่ของผู้ใช้และองค์กรที่ต้องเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น

อีเทย์ มาเออร์ ผู้จัดการโครงการ การจัดการกับการฉ้อโกงออนไลน์ (Fraud Action) โครงการของอาร์เอสเอ หน่วยธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยของอีเอ็มซี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนอกจากการโจมตีในด้านของมัลแวร์ สปายแวร์ (Spyware) สแปม (Spam) ฟิชชิ่ง (Phishing) และโทรจัน (Trojan) แล้ว ได้มีการส่งโทรจันเข้าไปโจมตีในส่วนของสมาร์ทโฟนเพื่อขโมยรหัสในการเข้าใช้งานธุรกรรมออนไลน์

"จากเดิมที่ผู้ร้ายมักส่งโทรจันเข้าไปฝังในคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งข้อมูลกลับไป ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำโทรจันเข้ามาใช้งานกับสมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งส่วนมากจะใช้การโจมตีผ่านเว็บฟิชชิ่ง ที่ปลอมเป็นหน้าเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อลวงให้ผู้บริโภคกรอกรหัสและเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ หลังจากนั้นจะส่ง ข้อความมัลติมีเดีย (MMS) เพื่อลวงให้เป้าหมายเปิดลิงก์และเข้าไปดาวน์โหลดโทรจัน"

หลังจากที่ฝังโทรจันลงไปทั้งในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแล้ว ผู้ร้ายก็สามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของเป้าหมายได้ทันที ทำให้ทางผู้ใช้งาน และองค์กรที่เป็นเป้าโจมตีอย่างธนาคาร จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น

"จากการสุ่มเก็บข้อมูลของ RSA ในช่วง 10 วัน พบว่ามีจำนวนโทรจันที่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยสูงถึง 8328 ตัว ที่เข้าโจมตีสถานบันทางการเงิน โดยผู้ร้ายจะนำข้อมูลเหล่านี้ ไปขายในเว็บบอร์ดใต้ดิน ที่มีการซื้อขายข้อมูลพวกนี้ในต่างประเทศ อย่างรัสเซียเป็นต้น"

โดยในการส่งโทรจันออกไปเพื่อเก็บข้อมูลในปัจจุบัน ได้มีวิธีการใหม่ๆเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน บอตอย่าง SpyEye ที่มีข่าวล่าสุดว่าได้รวมตัวกับ Zeus ที่เมื่อก่อนเป็นคู่แข่งในด้านการลักลอบเข้าไปเก็บข้อมูล

"ในเว็บบอร์ดใต้ดินมีการจำหน่ายโปรแกรมเหล่านี้ในราคาตั้งแต่ 300 ถึง 3,000 เหรียญฯ เพื่อให้ผู้ร้ายได้ส่งตัวโทรจันเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งจะมีรูปแบบการโจมตีที่แตกต่างกัน แต่หลักๆแล้วเป้าหมายจำเป็นต้องกดเปิดลิงก์หรือดาวน์โหลดโปรแกรมมาไว้ในเครื่องก่อน"

ทำให้ในการป้องกันโทรจันนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นต้องสร้างความระมัดระวังในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ไม่เปิดลิงก์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ไม่กดเซฟหรือลงโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้ใจ รวมไปถึงหมั่นคอยอัปเดตระบบปฏิบัติการ และแอนตี้ไวรัสให้ใหม่อยู่เสมอ

ขณะที่ในแง่ขององค์กรที่เป็นเป้าหมายอย่างธนาคารก็ต้องมีการวางระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งในเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ขั้น ตั้งแต่ต้องเข้าใจถึงวิธีการและรูปแบบการโจมตีต่างๆ รวมถึงหาวิธีการอื่นๆมาช่วยเสริมในการล็อกอินเข้าใช้งาน เช่นรหัสใช้ครั้งเดียว การยืนยันตัวตนในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

ถัดมาคือต้องมีโซลูชันที่ป้องกันการโจมตีจากโทรจัน รวมถึงมีการตรวจสอบโทรจันที่เข้ามาโจมตีอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายคือการตรวจสอบโปรไฟล์การใช้งาน เช่นไอพีแอดเดรสที่ใช้ล็อกอินที่ใช้ในประเทศ ถ้ามีการใช้งานจากต่างประเทศเข้ามาก็ต้องมีการตรวจสอบ รวมไปถึงภาษาที่ใช้ ตัวระบบปฏิบัติการที่ใช้ แม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้งาน

"ในส่วนของธนาคารการตรวจสอบผู้ใช้เป็นงานที่ทำในหลังบ้าน ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ทางธนาคารก็ต้องมีมาตรการป้องกัน อย่างในสหรัฐฯ ถ้ามีการทำธุรกรรมโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีใหม่ ในจำนวนมาก ก็จะมีการโทรศัพท์ยืนยันธุรกรรม คล้ายๆกับวิธีการตรวจสอบการใช้งานบัตรเครดิตในบ้านเรา"

ส่วนการป้องกันภัยบนสมาร์ทโฟนนั้น อีเทย์ ให้คำพูดสั้นๆว่า "ถ้าไม่จำเป็นอย่าดาวน์โหลดแอปฯฟรี" เพราะในอนาคตการดาวน์โหลดแอปฯฟรีมาใช้งาน ถือว่าค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ใช้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการรับ-ส่งข้อมูลที่ผิดปกติหรือไม่

Company Relate Link :
RSA

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2553 11:45 น.

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยุโรปเร่งสอบกูเกิล ผูกขาดการค้า

คณะกรรมาธิการยุโรปหรือ European Commission (EC) ประกาศเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนกูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์สัญชาติอเมริกันในข้อหาผูกขาดการค้า โดยต้องการตรวจสอบว่ากูเกิลฝ่าฝืนกฎหมายสหภาพยุโรปด้วยการ "ใช้อิทธิพลในตลาดเสิร์ชออนไลน์ในทางที่ผิด"หรือไม่ เพื่อรักษาประโยชน์แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเสิร์ชออนไลน์สัญชาติยุโรปให้สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี

รายงานย้ำว่า การเริ่มกระบวนการสอบสวนกูเกิลในข้อหาผูกขาดการค้าที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่ากูเกิลถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนกฎหมายยุโรปแล้ว โดยกูเกิลออกมาให้ความเห็นรับลูกคณะกรรมาธิการอีซีว่าจะให้ความร่วมมือต่อการสอบสวนอย่างเต็มที่

การสอบสวนนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์สัญชาติยุโรป 3 ราย ออกมาร้องเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในบริการค้นหาข้อมูลฟรีของกูเกิล ระบุว่าถูกกูเกิล"ลดคะแนน"หรือการจงใจทำให้ระบบค้นหาของกูเกิลจัดลำดับเว็บไซต์ให้มีความสำคัญต่ำ ทำให้ชื่อเว็บไม่ปรากฏในเพจผลการค้นหาด้านให้บริการฟรี เพราะเว็บไซต์เหล่านี้ให้บริการสืบค้นเช่นเดียวกับกูเกิล สิ่งที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนการกีดกันทางการค้าที่ทำให้ทั้ง 3 บริษัทเสียประโยชน์

เว็บไซต์ 3 รายที่ร้องเรียนเรื่องนี้คือเว็บไซต์ Foundem สัญชาติอังกฤษ เว็บไซต์ Ciao จากฝรั่งเศส และเว็บไซต์ ejustice.fr จากฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามครั้งนั้นกูเกิลแถลงการณ์ปฏิเสธว่ากูเกิลไม่ได้ปรับแต่งผลการค้นหา แต่ผลการค้นหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากระบบคำนวณหรืออัลกอริทึมของกูเกิล ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน มีข่าวว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ส่งคำถามเพื่อให้กูเกิลชี้แจงข้อมูลด้านเทคนิคบางจุดแล้ว

เหตุที่การลบชื่อออกจากหน้าผลการค้นหาข้อมูลออนไลน์ของกูเกิลถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า เพราะเพจการค้นหาของกูเกิลคือประตูชั้นยอดที่จะนำนักท่องเน็ตเข้าสู่เว็บไซต์ โดยภายหลังการร้องเรียน รายงานข่าวระบุว่าชื่อเว็บไซต์เหล่านี้ปรากฏในเพจการค้นหาของกูเกิลอีกครั้ง และ Foundem ซึ่งเป็น 1 ในเว็บไซต์ที่ร้องเรียนระบุว่า เว็บไซต์มีทราฟฟิกการใช้งานเพิ่มขึ้นทันทีถึง 10,000%

รายงานย้ำว่า การสอบสวนกูเกิลของคณะกรรมาธิการยุโรปจะครอบคลุมถึงการหาข้อเท็จจริงว่ากูเกิลจงใจลดคะแนนเว็บไซต์คู่แข่งหรือไม่ ซึ่งหากใช่ กูเกิลจะสูญเสียความเชื่อมั่นในโลกออนไลน์ไปอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ทำให้นักสังเกตการณ์มองว่าไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นคู่แข่งในโลกค้นหาข้อมูลออนไลน์นั้นมีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อบริษัท Ciao 1 ในเว็บไซต์ที่ฟ้องร้องนั้นเป็นบริษัทของไมโครซอฟท์

ไม่เพียงบริการค้นหาข้อมูลฟรี บริการลงโฆษณาบนหน้าเพจการค้นหาของกูเกิลก็ถูกร้องเรียนเรื่องผูกขาดตลาดในยุโรปเช่นกัน โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท Navx ในฝรั่งเศสซึ่งจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้หลบหลีกตำรวจได้ชำระเงินลงโฆษณาบนกูเกิล แต่กูเกิลตัดสินใจถอดโฆษณาดังกล่าวออกเนื่องจากเห็นว่าซอฟต์แวร์ของ Navx ส่งเสริมให้คนทำผิดกฎหมาย

Navx จึงฟ้องร้องกูเกิลให้กูเกิลลงโฆษณา Navx ดังเดิม เพราะซอฟต์แวร์ GPS จากผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Garmin ก็สามารถช่วยให้ผู้ใช้หลบหลีกตำรวจฝรั่งเศสได้เช่นกัน เมื่อกูเกิลยอมแสดงลิงก์โฆษณาของ Garmin การกระทำของกูเกิลต่อ Navx จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งสร้างผลเสียให้แก่ธุรกิจของ Navx ให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี

ปี 2010 ถือเป็นปีที่ประเทศในกลุ่มยุโรปออกมาแสดงความกังวลถึงอิทธิพลของกูเกิลที่กินสัดส่วนใหญ่ในตลาดเสิร์ชเอนจินของหลายประเทศ เช่นในฝรั่งเศสที่ถูกประเมินว่ากูเกิลสามารถกินส่วนแบ่งไปมากกว่า 90% โดยหลายกระแสมองว่าอิทธิพลของกูเกิลอาจทำให้ธุรกิจในประเทศไม่เกิดการแข่งขันที่เสรี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ในที่สุด

สำหรับประเทศไทย กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 98% และยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการผูกขาดที่อาจเกิดขึ้น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 ธันวาคม 2553 10:14 น.

มะกันนับวันรอ 4G เวอไรซอนขีดเส้นลุย 5 ธ.ค. นี้

เวอไรซอน (Verizon) ประกาศพร้อมให้บริการเครือข่าย LTE หรือ 4G ในสหรัฐฯวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ประเดิมก่อนใน 30 ย่านหลักทั่วประเทศ เบื้องต้นลุยทำตลาดโมเด็มเพื่อปูทางให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์พีซีสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วขั้นเทพได้ก่อนในช่วงที่สมาร์ทโฟน 4G ยังไม่ลงตลาด โดยสมาร์ทโฟน 4G คาดว่าจะเปิดตลาดในสหรัฐฯช่วงกลางปี 2011

รายงานระบุว่า วันที่ 5 ธันวาคม 53 เวอไรซอนจะเริ่มจำหน่ายยูเอสบีโมเด็มจำนวน 2 รุ่นที่รองรับเทคโนโลยีเครือข่าย LTE หรือ Long-Term Evolution ซึ่งมีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลจริงราว 5-12 เมกะบิตต่อวินาที ถือเป็นความเร็วเครือข่ายสูงสุดที่สหรัฐฯเคยมี โดยโมเด็ม 4G มีราคาจำหน่ายสุทธิ 99.99 เหรียญพร้อมสัญญาใช้งาน 2 ปี (หลังหักส่วนลดเงินคืน 50 เหรียญ) หรือประมาณ 2,999 บาท

เบื้องต้น นักสังเกตการณ์เชื่อว่าเครือข่าย LTE ในสหรัฐฯจะถูกใช้งานเฉพาะการสื่อสารข้อมูลอย่างเดียวไปถึงปี 2012 เนื่องจากการเปิดตลาดของสมาร์ทโฟน 4G ที่เวอไรซอนเคยประกาศว่าจะนำไปเปิดตัวในงาน CES 2011 และจะวางจำหน่ายในช่วงกลางปี 2011 นั้นจะไม่แพร่หลายในทันทีทันใด

เวอไรซอนมีแผนขยายเครือข่าย LTE ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจุดในสหรัฐฯที่มีเครือข่าย 3G ให้บริการอยู่ โดยพื้นที่ที่สามารถใช้งาน 4G ของเวอไรซอนในช่วงแรกได้แก่ เมืองหลักในรัฐโอไฮโอ จอร์เจีย แมรี่แลนด์ แมสสาชูเซ็ตส์ อิลินอยส์ นอร์ธแคโรไลนา โคโรราโด ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย เนวาดา เทนเนสซี นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย หลุยเซียนา โอกลาโฮมา และวอชิงตัน

สำหรับค่าบริการ เวอรไรซอนกำหนดไว้ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อการใช้งานข้อมูล 5GB (ราว 1,500 บาท) และ 80 เหรียญต่อการใช้ข้อมูล 10GB (ราว 2,400 บาท) โดยโมเด็มทั้ง 2 รุ่นจะสามารถทำงานกับเครือข่าย 3G ของเวอไรซอนได้

Company Related Link :
Verizon

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 ธันวาคม 2553 12:01 น.

โมโตโรลาแยกร่าง 2 บริษัทพร้อมรบ ม.ค.นี้

โมโตโรลา (Motorola) อดีตยักษ์ใหญ่โลกสื่อสารประกาศรายละเอียดการแตกหน่วยธุรกิจออกมาตั้งเป็น 2 บริษัทใหม่ว่าจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมเป็นต้นไป ถือเป็นข่าวที่เกิดขึ้นท่ามกลางสายตาทั่วโลกที่จับจ้องทิศทางในอนาคตของโมโตโรโลา ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์ในสหรัฐฯให้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้

เช่นเดียวกับข้อมูลที่เคยถูกรายงานมาแล้ว นั่นคือโมโตโรลาจะแยกธุรกิจธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ความบันเทิงภายในบ้าน เช่น อุปกรณ์กล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวี ออกมาเป็นบริษัทเดี่ยว ขณะที่อีกหนึ่งบริษัทจะดูแลธุรกิจเครือข่ายและโซลูชันเคลื่อนที่สำหรับองค์กร (Enterprise Mobility Solutions and Networks) ครอบคลุมสินค้าประเภทอุปกรณ์รับส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ, คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่, ระบบรักษาความปลอดภัย และโครงข่ายข้อมูลไร้สาย

ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นคือ ผู้ถือหุ้นโมโตโรลาจะได้รับหุ้นทั้งใน 2 บริษัท โดยบริษัทที่ดูแลธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์จะมีชื่อว่า Motorola Mobility ขณะที่ธุรกิจสินค้าองค์กรจะมีชื่อเรียกว่า Motorola Solutions

โมโตโรลาย้ำว่าการแยกส่วนธุรกิจจะนำไปสู่ความชัดเจนในมุมของนักลงทุน จากเดิมที่เคยมีความสับสน ซึ่งโมโตโรลามองเห็นในเรื่องนี้จึงประกาศแผนการแยกบริษัทออกมาตั้งแต่ปี 2008

อย่างไรก็ตาม การประกาศกรอบเวลาแยกบริษัทเป็นมกราคม 2011 นั้นถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดการมาก เพราะแต่เดิมโมโตโรลาเคยประกาศไว้ว่าจะแยกบริษัทให้แล้วเสร็จในปี 2009 สาเหตุเป็นเพราะจังหวะพิษเศรษฐกิจซบเซาและความจำเป็นของโมโตโรลาในการเร่งทำตลาดโทรศัพท์มือถือ

สำหรับธุรกิจสินค้าองค์กร โมโตโรลายืนยันว่าไม่มีแผนแยกหน่วยธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อยอีก หลังจากได้ประกาศขายธุรกิจอุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายให้กับบริษัทร่วมทุนสัญชาติฟินแลนด์และเยอรมนีนาม Nokia Siemens Networks โดยดีลดังกล่าวคาดว่าจะสมบูรณ์ภายในกลายปีนี้

โมโตโรลานั้นเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ผลิตวิทยุติดรถยนต์ในปี 1930 ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในช่วงปี 80 โดยโมโตโรลารุ่งเรืองสุดขีดช่วงปี 2007 ท่ามกลางความสำเร็จจากสินค้าตระกูล Razr จนขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับ 2 ของโลก ล่าสุด โมโตโรลาถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับที่ 7 ของโลก

รายงานระบุด้วยว่า ธุรกิจที่จะถูกรวมในบริษัท Motorola Mobility นั้นมียอดจำหน่ายราว 2,900 ล้านเหรียญในไตรมาสที่ผ่านมา เทียบกับ 1,900 ล้านเหรียญเมื่อเทียบกับธุรกิจในบริษัท Motorola Solutions

สำหรับสำนักงานที่ตั้ง Motorola Solutions รายงานระบุว่าจะอยู่ในย่าน Schaumburg ขณะที่ Motorola Mobility จะอยู่ที่ Libertyville มลรัฐอิลินอยส์ ซึ่งคาดว่าจะมีการย้ายสำนักงานทีมงานในโมโตโรลาสำนักงานใหญ่บางส่วนไปประจำการในสาขาซานดิเอโก ซานฟรานซิสโก หรือเมืองออสติน รัฐเท็กซัส

รายงานชี้ว่า โมโตโรลาได้เตรียมการสำหรับการแยกร่างด้วยการว่าจ้างซานเจย์ จฮา (Sanjay Jha) ในปี 2008 เพื่อคุมบังเหียนธุรกิจโทรศัพท์มือถือบนตำหน่างประธานกรรมการบริหารร่วมหรือ co-CEO โดยจฮาจะเป็นผู้ดูแลธุรกิจ Mobility และ co-CEO อีกรายคือ Greg Brown จะดูแลธุรกิจ Solutions

หลังการประกาศ มูลค่าหุ้นโมโตโรลาลดลง 11 เซนต์ ปิดที่ 7.66 เหรียญ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์2 ธันวาคม 2553 00:01 น.