วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

"สามารถ-ล็อกซเล่ย์"คว้า 3G TOT เคาะราคาที่ 16,290 ล้านบาท

Edited - กิจการร่วมค้าเอสแอลที่มีกลุ่มสามารถและล็อกซเล่ย์ร่วมด้วย คว้างานสร้างโครงข่ายมือถือ 3G TOT หลังเคาะด้วยระบบอี-ออกชัน 17 ครั้ง ทำราคาต่ำสุดที่ 16,290 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,150 ล้านบาท หรือ 6.59% พร้อมเสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ 31 ม.ค.นี้ ก่อนให้บอร์ดเห็นชอบ คาดเซ็นสัญญาได้กลาง ก.พ. 54 ตามแผนที่วางไว้

งานประมูลโครงการสร้างโครงข่ายมือถือ 3G TOT มูลค่า 17,440 ล้านบาทเริ่มขึ้นวันที่ 28 มกราคม 54 โดยการเสนอราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ตามกำหนดการตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. เริ่มเคาะราคากันเวลาประมาณ 9.45 น. สิ้นสุดเวลาประมาณ 10.45 น. สู้ราคากันทั้งหมด 17 ครั้ง จากผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาทางเทคนิค 2 กลุ่ม คือกิจการร่วมค้า (คอนซอร์เตียม) เอสแอล ซึ่งประกอบด้วย บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี และบริษัท โนเกีย-ซีเมนส์ อีกกลุ่มคือ เอยู คอนซอร์เตียม ประกอบด้วย บริษัท ยูคอม อินดัสเตรียล (ยูเทล) บริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (เอไอที) และบริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่น

การเสนอราคาแข่งกันครั้งนี้ เอสแอล คอนซอร์เตียม ใช้รหัส GGG 222 ขณะที่ เอยู คอนซอร์เตียม ใช้รหัส GGG 333 มีการเคาะราคากันทั้งหมด 17 ครั้ง และจบที่ GGG 222 เสนอราคาต่ำสุด 16,290 ล้านบาท ขณะที่ GGG 333 เสนอราคา 16,777 ล้านบาท ซึ่งราคาต่ำสุดที่ได้อย่างไม่เป็นทางการต่ำกว่าราคากลาง 1,150 ล้านบาท หรือประมาณ 6.59%

“ราคาที่ได้อย่างไม่อย่างเป็นส่วนตัวแล้วพอใจ เพราะทุกอย่างทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และจากนี้อีก 1-2 วันจะมีการต่อรองราคา หากไม่ได้ต่ำกว่า 16,290 ล้านบาทคนที่เสนอราคานี้ก็ไม่เป็นไร เพราะเขาทำถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่าง” นายอานนท์ ทับเที่ยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงข่าย บริษัท ทีโอที ในฐานะประธานคณะทำงานประมูล 3G TOT กล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขที่ได้จากการทำอี-ออกชันจะมีการนำเสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ซึ่งขณะนี้มีนายนพณัฏฐ์ หุตะเจริญ ทำหน้าที่รักษาการ ในวันจันทร์ที่ 31 ม.ค.นี้ ก่อนจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที เห็นชอบก่อนกลางเดือน ก.พ. และจะมีการลงนามในสัญญาได้ภายในวันที่ 15-18 ก.พ. 54 ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้คือ เดือน เม.ย.54 สามารถเปิดให้บริการได้บางส่วน และจะครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายใน 365 วัน

“พอถึงเดือนเม.ย.จะทำให้พื้นที่การให้บริการ 3G ในกรุงเทพฯที่มีอยู่ขณะนี้ 548 สถานีฐานครอบคุลมพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการให้บริการสูงขึ้น”

ด้านนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าการประมูลครั้งนี้ ต้องเตรียมการอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (พาร์ตเนอร์) รวมถึงงานเกี่ยวกับการติดตั้ง

“ที่ผ่านมาถือว่าโชคดีด้วยที่ไม่มีการประมูล 3G ทั่วไปของเอกชนทำให้ซัปคอนแทกต์หรือผู้ที่รับการติดตั้งยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งจะช่วยให้การติดตั้งโครงข่ายกว่า 5,000 สถานีฐานได้ทันตามระยะเวลา 1 ปี ตามทีโออาร์กำหนด”

ส่วนการแบ่งความรับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตั้ง ล็อกเลย์จะรับผิดชอบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มสามารถจะรับผิดชอบกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อให้งานติดตั้งเสร็จเร็วที่สุด

ผู้บริหารสามารถเชื่อว่า หากบริษัทดำเนินการ 3G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท 1 หมื่นล้านบาท ส่วนล็อกซเลย์ อยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยเสริมกลุ่มสามารถให้เติบโตขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้โปร่งใส และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องหลังจากวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้พิจารณายกเลิกคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราว 3G TOT ของอีริคสัน (ประเทศไทย) กับแซดทีอี ประเทศไทย

“ช่วงเวลา 1 ปี หลังมีการเซ็นสัญญาต้องรีบดำเนินการอย่างเร็วที่สุด และต้องโค-ไซต์ กับบริษัทเอกชนรายอื่นด้วย เพื่อประหยัดงบในการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็ต้องรีบดำเนินการติดตั้งสถานีฐานกว่า 5 พันสถานีฐานทั่วประเทศ ซึ่งเวลา 365 วัน ต้องติดตั้งให้ได้วันละ 10 กว่าสถานีฐาน” นายวัฒน์ชัยกล่าว

Company Related Link :
TOT

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2554 11:15 น.

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

เบราว์เซอร์ใหม่ติดอาวุธ"ห้ามตามรอย"

โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์พร้อมใจกันติดเครื่องมือเพื่อให้ชาวเน็ตป้องกันตัวเองจากนักโฆษณาออนไลน์ ที่ใช้วิธีลักลอบสอดแนม สะสม และติดตามข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ก่อนจะเสนอโฆษณาเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้ เป็นไปตามนโยบายป้องกันการตามรอยของชาวออนไลน์ที่ทางการสหรัฐฯประกาศไว้เมื่อปลายปี 2010 ที่ผ่านมา

เว็บเบราว์เซอร์คือโปรแกรมเปิดเว็บไซต์ที่ชาวออนไลน์ทุกคนต้องใช้เป็นประตูเพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยอเล็กซ์ ฟาวเลอร์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของมอสซิลา (Mozilla) ผู้สร้างไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) เบราว์เซอร์ยอดนิยมอันดับ 2 ของโลก ให้ข้อมูลว่าเครื่องมือป้องกันการตามรอยหรือ "Do Not Track" จะเป็นส่วนแรกของนานาคุณสมบัติเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของชาวออนไลน์ที่ไฟร์ฟ็อกซ์จะพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเครื่องมือป้องกันการตามรอยของไฟร์ฟ็อกซ์จะเปิดใช้งานเต็มตัวเมื่อใดในขณะนี้ แม้ข่าวลือจะระบุว่าไฟร์ฟ็อกซ์จะดำเนินการเสร็จในครึ่งแรกของปี 2011

สำหรับกูเกิลโครม (Google Chrome) ผู้ใช้เบราว์เซอร์จากกูเกิลสามารถดาวน์โหลดคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อปิดกั้นนักโฆษณาได้แล้วในขณะนี้ แต่ยังจำกัดเฉพาะเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ตั้งค่าส่วนตัวเพื่อกำหนดโฆษณาออนไลน์ที่ต้องการได้เท่านั้น เช่น เครือข่ายของเอโอแอล (AOL), ยาฮู (Yahoo) และกูเกิล (Google) ซึ่งคาดว่าจะมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ไม่เพียงเบราว์เซอร์น้องใหม่ แต่พี่ใหญ่อย่างไออี (Internet Explorer) เบราว์เซอร์จากไมโครซอฟท์ซึ่งชาวออนไลน์ทั่วโลกใช้งานมากที่สุดในขณะนี้ ก็ถูกยืนยันว่าจะมีเครื่องมือป้องกันการตามรอยมาให้บริการในเวอร์ชันหน้า (IE9) ด้วย โดยจุดต่างคือเครื่องมือในไฟร์ฟ็อกซ์และโครมจะทำงานโดยอัตโนมัติ แต่ในไออี 9 ชาวออนไลน์จะสามารถกำหนดชื่อหรือค้นหาเว็บไซต์ที่ต้องการปิดกั้นได้เอง

การติดเครื่องมือป้องกันการตามรอยในเว็บเบราว์เซอร์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะนโยบาย "Do Not Track" ที่คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ FTC เสนอไว้ จุดประสงค์คือเพื่อหาทางออกให้ผู้บริโภคอเมริกันสามารถปกป้องตัวเองให้พ้นจากการตามรอย ซึ่งนักการตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักใช้การรวบรวมข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งข้อมูลประวัติการเข้าเว็บไซต์ การคลิกลิงก์ คำที่ค้นหาบ่อย และการซื้อสินค้าออนไลน์ มาเป็นข้อมูลในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ก่อนจะนำเสนอโฆษณาออนไลน์โดยไม่สอบถามผู้บริโภคว่าต้องการหรือไม่

จุดนี้ทำให้กรมพาณิชย์สหรัฐฯออกมาประกาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อให้นักโฆษณาออนไลน์ชี้แจงแก่ผู้บริโภคว่าได้ลงมือเก็บข้อมูลการใช้งานใดไปและมีแผนจะนำไปใช้งานอะไร โดยควรเปิดทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถปิดการเก็บข้อมูลได้ รวมถึงการเลือกไม่อนุญาตให้เก็บข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ ซึ่งบริษัทที่ต้องการเก็บข้อมูล ก็จะต้องดำเนินการอย่างปลอดภัยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการยกระดับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ก็เป็นความหวาดหวั่นของวงการโฆษณาออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะสูญเสียรายได้มหาศาลจากการปิดกั้นที่เกิดขึ้น

Company Related Link:
Firefox
Google Chrome
Internet Explorer

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2554 10:14 น.

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ไฟร์ฟ็อกซ์ขึ้นแท่น"แชมป์"ในยุโรป

คลื่นลูกใหม่แทนที่คลื่นลูกเก่า ล่าสุดไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) ซอฟต์แวร์เปิดเว็บไซต์ดาวรุ่งของมูลนิธิมอสซิลาสามารถเขี่ยแชมป์เก่าจากไมโครซอฟท์อย่างไออี (Internet Explorer) ได้สำเร็จ ขึ้นแท่นเป็นเจ้าเว็บเบราว์เซอร์ยอดนิยมในยุโรปได้อย่างเป็นทางการ

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย StatCounter ชี้ว่าตลอดเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ไฟร์ฟ็อกซ์ในพื้นที่แถบยุโรปนั้นคิดเป็นสัดส่วน 38.11% เหนือกว่าไออีที่มีสัดส่วนราว 37.52% ถือเป็นครั้งแรกที่ไออีมีส่วนแบ่งการใช้งานที่น้อยกว่า

ซีอีโอ StatCounter นาม Aodhan Cullen เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นครั้งแรกที่ไออีถูกคู่แข่งเขี่ยกระเด็นออกจากบัลลังก์ โดยวิเคราะห์ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไออีอ่อนกำลังลงเป็นเพราะแรงเสริมจากโครม (Chrome) เว็บเบราว์เซอร์จากกูเกิล ที่สามารถขโมยส่วนแบ่งจากไออีไปได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ไฟร์ฟ็อกซ์สามารถแซงหน้าไออีได้ง่ายขึ้นทั้งที่ส่วนแบ่งการใช้งานไฟร์ฟ็อกซ์ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

สำหรับอีกปัจจัยหนึ่ง StatCounter วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะข้อตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปกับไมโครซอฟท์ ในการเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้เบราว์เซอร์ได้อย่างเสรี ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553

โครมนั้นสามารถครองตลาดส่วนแบ่งเว็บเบราว์เซอร์ยอดนิยมอันดับ 3 ในตลาดยุโรป สถิติคือ 14.58% เพิ่มขึ้นจาก 5.06% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

StatCounter ระบุว่ารวบรวมสถิติเหล่านี้มาจากการใช้งาน 15,000 ล้านเพจวิวต่อเดือนของประชากรยุโรปในเดือนธันวาคม (4,900 ล้านเพจวิวมาจากพื้นที่อเมริกาเหนือ) ทั้งหมดเป็นการรวบรวมโดย StatCounter Global Stats ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือเพื่อการวิจัยที่ StatCounter พัฒนาขึ้นเอง

Company Related Link :
Firefox

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มกราคม 2554 09:39 น.