วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

พ่อแม่เฮรับซอฟต์แวร์ใหม่ ลูกไม่รู้ถูกแอบดู"เฟซบุ๊ก"

หลังจากเฟซบุ๊กจุดพลุลุยทดสอบบริการซื้อขายส่วนลดออนไลน์ใน 5 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ล่าสุดบริษัทรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตนาม Check Point เปิดตัวซอฟต์แวร์ใหม่ที่เปิดช่องให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานของตัวเองได้ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบนเครือข่ายสังคมยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) จุดเด่นคือการไม่ต้อง"แอดเป็นเพื่อน"กับลูก ซึ่งจะทำให้ลูกไม่รู้ตัวเลยว่าถูกแอบดูเฟซบุ๊กอยู่

ซอฟต์แวร์ใหม่ล่าสุดนี้มีชื่อว่า ZoneAlarm SocialGuard ข้อมูลระบุว่าซอฟต์แวร์นี้จะแจ้งเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองถึงสัญญาณอันตรายที่ปรากฏในบัญชีเฟซบุ๊กของบุตรหลาน โดยผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องไล่ตรวจข้อความโพสต์ ความเห็น รูปภาพ วิดีโอ หรือดิจิตอลคอนเทนต์ซึ่งบุตรหลานส่งต่อแบ่งปันกับเพื่อนบนเฟซบุ๊กแบบที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะซอฟต์แวร์นี้จะสามารถสแกนหาข้อความที่เข้าข่ายการข่มขู่ การรุกรานทางเพศ การพูดคุยเรื่องยาเสพติด ความรุนแรง และการฆ่าตัวตายได้แบบอัตโนมัติ

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า การสแกนในซอฟต์แวร์นี้จะทำบนอัลกอริธึมซึ่งถูกออกแบบโดยเฉพาะ โดยจะทำงานด้านหลัง (แบคกราวน์) ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งหากพบข้อความหรือมูลเหตุต้องสงสัย ก็จะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ปกครอง

บาริ อับดุล (Bari Abdul) รองประธานฝ่ายขายของ Check Point ซึ่งมีสำนักงานในเมืองเรดวูดซิตี้ แคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการป้องกันบุตรหลานจากภัยสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังรักษาความเป็นส่วนตัวและคงรูปแบบการสื่อสารเสรีให้ลูกหลานไว้เช่นเดิม โดยอับดุลเชื่อว่าซอฟต์แวร์นี้คือหนทางแสนง่ายในการเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ SocialGuard ยังสามารถตรวจจับการถูกแฮกชื่อบัญชี ลิงก์โปรแกรมประสงค์ร้าย และการล่อลวงออนไลน์อื่นๆที่อาจแฝงมากับการปลอมตัวเป็นเพื่อนหรือ friend ของคนแปลกหน้าด้วย

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กคือหนึ่งในช่องทางการสื่อสารเสรีที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงว่าบุตรหลานจะสื่อสารแลกเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้า สิ่งที่ผู้ปกครองพอทำได้คือการขอเป็นเพื่อนกับบุตรหลานเพื่อให้มีสิทธิ์เข้าไปอ่านข้อความเพื่อให้ทราบว่าบุตรหลานมีความคิดเห็นอย่างไรในขณะนั้น แต่การสำรวจพบว่าวัยรุ่นกว่า 38% ไม่ยอมรับพ่อแม่ผู้ปกครองของตัวเองเป็นเพื่อน ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือระวังภัยใดๆได้

ซอฟต์แวร์ SocialGuard เปิดให้ดาวน์โหลดที่ zonealarm.com อัตราค่าบริการ 2 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือ 20 เหรียญต่อปี

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากเฟซบุ๊กเปิดตัวทดสอบบริการ Deals on Facebook บริการโฆษณาส่วนลดจากร้านค้าในท้องถิ่นอย่างเป็นทางการใน 5 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ แอตแลนตา ออสติน ดัลลัส ซานดิเอโก และซานฟรานซิสโก ถือเป็นขั้นต่อจากการให้บริการในยุโรปบางประเทศ โดยการบุกตลาดบ้านเกิดของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีความน่าสนใจมาก คาดว่าจะทำให้ธุรกิจการค้าบนเครือข่ายสังคมหรือ social commerce ทวีความร้อนแรงยิ่ง เพราะบริการนี้จะทำให้เฟซบุ๊กเป็นคู่แข่งของเจ้าตลาดผู้ค้าส่วนลดอย่าง Groupon และ LivingSocial เต็มตัว

ข้อเสนอส่วนลดของร้านค้าต่างๆ จะถูกแสดงในส่วน newsfeed ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องอ่านเพื่อรับความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกลุ่มเพื่อนผู้ติดต่อ โดยเฟซบุ๊กจะเลือกแสดงข้อเสนอที่เหมาะสมตามผู้ใช้แต่ละราย

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเปิดตัวปุ่ม Send ซึ่งเป็นคุณสมบัติใหม่สำหรับให้เว็บไซต์ทั่วไปนำไปติดบนเพจ เพื่อให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถส่งต่อเพจที่ชื่นชอบแก่เพื่อนได้อย่างสะดวก ข้อแตกต่างของปุ่ม Send และปุ่ม Like ซึ่งเฟซบุ๊กเปิดใช้งานแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ คือ Send เป็นการแชร์ข้อมูลให้เฉพาะบุคคลที่ต้องการเท่านั้น โดยต้องมีการพิมพ์ชื่อเพื่อน กลุ่ม หรืออีเมล เพื่อให้ลิงก์ถูกส่งไปยังกล่องข้อความ Facebook Message หรืออีเมลที่ถูกพิมพ์ไป แต่ปุ่ม Like จะเป็นการแสดงลิงก์ให้ทุกคนที่ปรากฏในรายชื่อเพื่อน

รายงานเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีการใช้งานปุ่ม Send แล้วในมากกว่า 50 เว็บไซต์ คาดว่าจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องในอนาคต

Company Related Link :
Facebook

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 เมษายน 2554 05:32 น.

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

"แอปเปิล"ขึ้นแท่น แชมป์ทำโลกร้อน

ยักษ์ใหญ่โลกไอทีอย่างแอปเปิล (Apple) กลายเป็นที่โหล่ในตาราง"บริษัทที่ใช้พลังงานสะอาดในศูนย์ข้อมูล" โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่างกรีนพีช (Greenpeace) พบว่าแอปเปิลยังคงใช้พลังงานที่ก่อมลพิษให้โลกอย่างถ่านหินในศูนย์ข้อมูลของบริษัทสูงที่สุด ท่ามกลางคู่แข่งหลายรายที่ใส่ใจโลกด้วยการปรับระบบไปใช้พลังงานจากแหล่งทางเลือกซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแล้ว

กรีนพีชเปิดเผยผลการศึกษาศูนย์ข้อมูลของนานาบริษัทไอทีในสหรัฐฯเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตั้งชื่อรายงานว่า How Dirty is Your Data? ซึ่งสะท้อนภาพการลงทุนด้านพลังงานสีเขียวที่หล่อเลี้ยงกองทัพคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์ของยักษ์ใหญ่ไอทีในสหรัฐฯ ปรากฏว่ากรีนพีชพบการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินและนิวเคลียร์จำนวนมหาศาลในโรงงานซึ่งแอปเปิลลงทุนสร้างขึ้นใหม่ในนอร์ทคาโรไลนา สหรัฐอเมริกา

กรีนพีชพบว่า ศูนย์ข้อมูลใหม่ของแอปเปิลจะทำให้ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของแอปเปิลเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว เทียบสัดส่วนแล้วเทียบเท่ากับปริมาณพลังงานที่ใช้ในครัวเรือนโดยเฉลี่ยถึง 80,000 ครัวเรือน โดยโรงไฟฟ้าที่จะป้องกระแสไฟฟ้าให้ศูนย์ข้อมูลของแอปเปิลคือ Duke Energy ซึ่งผลิตไฟฟ้าจาก 2 แหล่งคือ 62% จากถ่านหินและ 32% จากนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าข้อมูลของกรีนพีชยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากกฏหมายสหรัฐฯไม่มีการกำหนดให้บริษัทเปิดเผยการใช้พลังงานหรือการเผาผลาญคาร์บอนประจำปี ทำให้กรีนพีชได้แต่นำข้อมูลสาธารณะมาประเมินเพื่อหาตัวเลขการใช้พลังงานสูงสุดที่ศูนย์ข้อมูลหรือสำนักงานของแอปเปิลต้องการ ก่อนจะนำข้อมูลประเมินเหล่านั้นมาเชื่อมกับข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณูปโภคภาครัฐ

นอกจากแอปเปิลที่กรีนพีชประเมินว่าใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน 54.5% รองลงมาคือเฟซบุ๊ก (Facebook) ยักษ์ใหญ่เครือข่ายถูกประเมินว่าใช้พลังงานจากถ่านหิน 53.2% ตามมาด้วยไอบีเอ็ม (IBM) ใช้พลังงานจากถ่านหิน 51.6%, เอชพี (HP) 49.4% และทวิตเตอร์ (Twitter) 42.5%

ทั้งหมดนี้ แกร์รี่ คุ้ก นักวิเคราะห์นโยบายไอทีของกรีนพีชซึ่งเป็นผู้นำทีมคณะทำงานในการจัดทำรายงานกล่าวว่า รายงานชิ้นนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าการดาวน์โหลดเกม อัปโหลดวิดีโอ หรือการเปลี่ยนสถานะในเฟสบุ๊กนั้นมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนหรือมลภาวะอื่นๆในอนาคตหรือไม่ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กนั้น กรีนพีชระบุว่าอยู่ระหว่างการผลักดันให้เจ้าพ่อเครือข่ายสังคมเห็นด้วยกับการใช้พลังงานสะอาดในกองทัพเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง

กรีนพีชยกตำแหน่งบริษัทที่ใช้พลังงานสะอาดยอดเยี่ยมให้กับยาฮู (Yahoo) ตามด้วยกูเกิล (Google) และอเมซอน (Amazon)

อีกจุดที่กรีนพีชเรียกร้องให้บริษัทไอทีให้ความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของการร่วมรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม คือการเปิดเผยปริมาณการใช้พลังงานของบริษัทอย่างโปร่งใส โดยที่ผ่านมา บริษัทไอทียังพยายามปิดบังและบิดเบือนปริมาณการใช้พลังงานเพื่อไม่ให้คู่แข่งทราบ ซึ่งมีผลต่อการตระหนักรู้ในสังคมและการรณรงค์ที่ไม่เกิดผลเท่าที่ควร

"กรีนพีชกำลังเรียกร้องความโปร่งใสจากบริษัทซึ่งใช้พลังงานมหาศาลในศูนย์ข้อมูล เพราะนี่จะเป็นการสะท้อนถึงความจำเป็นในการลงทุนและการควบคุมจากรัฐบาลในการกำหนดนโยบายให้บริษัทเหล่านี้ใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาดกว่า ทำให้การทวีตของผู้บริโภคมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น"

ศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นหัวใจหลักในการให้บริการของบริษัทไอทีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่ให้บริการคลาวด์คอมพิวติงผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะต้องเปิดให้ผู้บริโภคใช้งานได้จากทั่วมุมโลกในตลอดเวลา การสำรวจพบว่าศูนย์ข้อมูลบริษัทไอทีเหล่านี้มีความต้องการใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วน 1.5-2% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับเกิน 20% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทไอทีเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยเหลือวิกฤติโลกร้อน เพราะการสำรวจพบว่าการดาวน์โหลดเพลงดิจิตอลแทนการซื้อแผ่นซีดีนั้นช่วยลดปริมาณมลภาวะให้โลกถึง 40-80% ซึ่งคาดว่าตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะทุกสิ่งกลายเป็นไฟล์ดิจิตอลมากขึ้นอีก

แอปเปิลไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดอันดับของกรีนพีชในครั้งนี้ โดยในงานประชุมผู้ถือหุ้นแอปเปิลครั้งล่าสุด ประธานฝ่ายการเงินของแอปเปิล Peter Oppenheimer ระบุว่าบริษัทจะแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในนอร์ทคาโลไรนาในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

Company Related Link :
Apple

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2554 11:24 น.

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ทรูจับมือไมโครซอฟท์บุกคลาวด์คอมพิวติง

2 ยักษ์ใหญ่ ไมโครซอฟท์ กับ ทรู ผนึกกำลังเป็นพันธมิตรในธุรกิจอนาคต คลาวด์คอมพิวติง ระบุตลาดไทยตื่นตัวมากที่สุดในภูมิภาค คาดพร้อมเปิดให้บริการแรกสิ้นปี

นายเควิน เทอร์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฎิบัติการ ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า จากผลสำรวจล่าสุดของ Springboard Research เกี่ยวกับการใช้คลาวด์คอมพิวติงในประเทศไทยระบุว่า ประมาณ 50% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจวางแผนที่จะใช้งานคลาวด์คอมพิวติงในอนาคต ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ 76% ขององค์กร มองว่า คลาวด์คอมพิวติงเป็นเครื่องมือด้านไอทีที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ผลสำรวจดังกล่าวยังระบุอีกว่า คลาวด์คอมพิวติงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปี ทั้งนี้ กว่า 41% ระบุไมโครซอฟท์จะเป็นตัวเลือกของพวกเขาในการใช้งานบริการคลาวด์คอมพิวติงในอนาคต

จากแนวโน้มดังกล่าวไมโครซอฟท์จึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยอาศัยศักยภาพทางด้านคลาวด์คอมพิวติงของไมโครซอฟท์ผนึกกับศักยภาพของทรูในส่วนโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อนำเสนอบริการทางเลือกคลาวด์คอมพิวติงเต็มรูปแบบ สำหรับตลาดองค์กรและธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทย รวมไปถึงความร่วมมือในการให้บริการคลาวด์คอมพิวติงในภูมิภาคนี้ด้วยในอนาคต

'สิ้นปีจะเห็นเซอร์วิสตัวแรกที่จะเปิดให้บริการจากความร่วมมือในครั้งนี้'

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า คลาวด์คอมพิวติงจะเป็นตลาดที่ 3 ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม หลังจากที่ธุรกิจทางด้านนอนวอยซ์ซึ่งถือเป็นตลาดที่สอง เริ่มกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยบริการด้านวอยซ์จะเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่เคยเป็นรายได้หลักให้กับอุตสาหกรรม ก็จะกลายมาเป็นบริการแบบให้เปล่า

ความร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะพลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารของประเทศ ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์และเวิร์กสไตล์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมบริการ ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนไทยจากการใช้บริการคลาวด์คอมพิวติง

'ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นสเต็ปแรกของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ'

Company Related Link :
Microsoft
True

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 เมษายน 2554 17:40 น.

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

วีเอ็มแวร์จับมือสิงเทล ผุดบริการไฮบริดคลาวด์

วีเอ็มแวร์ จับมือยักษ์ใหญ่ สิงเทล เปิดบริการ Power ON Compute โซลูชั่นคลาวด์แบบออนดีมานด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแห่งแรก เพิ่มทางเลือกในการก้าวสู่โลกของคลาวด์ มั่นใจความต้องการมีสูง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 73%

นายพอล มาริทซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าวว่าการลงทุนด้านไอทีขององค์กรธุรกิจ ส่วนใหญ่หมดไปกับเรื่องของการดูแลโครงสร้างพื้นฐานถึง 42% ขณะที่การลงทุนทางฮาร์ดแวร์มีพียง 5% ที่เหลืออีก 23% เป็น การลงทุนทางด้านแอปพลิเคชัน และอีก 30% เป็นเรื่องของการลงทุนทางด้านดูแลรักษาแอปฯต่างจากในอดีตที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ จึงเป็นโอกาสดีที่องค์กรเหล่านั้น หันมาใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อเปลี่ยนโมเดลระบบไอทีที่แตกต่างออกไป ตั้งแต่เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แอปฯ แม้กระทั่งการให้บริการกับผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งเวอร์ชัวรไลเซชันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่โลกของคลาวด์ และเพื่อให้เป็นการง่ายที่จะช่วยให้องค์กรตัดสินใจก้าวสู่โลกของคลาวด์แต่ยังต้องการบริการจัดการระบบไอทีของตนเองอยู่ในรูปแบบเดิม

วีเอ็มแวร์จึงได้เสนอโซลูชั่นการประมวลผลไฮบริด คลาวด์ (Hybrid Cloud) ระดับองค์กรขึ้นมา ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถอัปเกรดทรัพยากรไอที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากหรือรับมือกับปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนในการจัดซื้อและจัดการเซิร์ฟเวอร์และระบบต่างๆ เพิ่มเติม โดยวีเอ็มแวร์ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอย่าง สิงเทล เปิดให้บริการที่ไฮบริด คลาวด์เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้ชื่อบริการ Power ON Compute หมายถึง องค์กรที่ใช้บริการ Power ON Compute จะสามารถขยายทรัพยากรของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์แบบส่วนตัวที่มีอยู่ไปสู่ระบบคลาวด์สาธารณะได้ทันที ไม่ต้องวุ่นวายกับการติดตั้งและเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์แอปฯแต่ประการใด ทำให้องค์กรธุรกิจจะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรคลาวด์คอมพิวติ้งแบบออนดีมานด์บนระบบสาธารณะโดยเสียค่าใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานจริง ทำให้เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรไอทีได้ทันทีภายในเวลาไม่กี่นาที แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการติดตั้ง นอกจากนี้ยังสามารถเปิดใช้งานได้ในแบบเรียลไทม์บนระบบควบคุมที่ครบวงจรผ่านทางพอร์ทัลออนไลน์ที่ใช้งานง่าย

วีเอ็มแวร์และสิงเทลต่างมีมุมมองที่สอดคล้องกันว่า สภาพแวดล้อมคลาวด์จะต้องได้รับการปรับแต่งเป็นพิเศษเพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละองค์กร ซึ่งขัดกับความเชื่อทั่วไปของอุตสาหกรรมไอทีที่ว่า ทุกองค์กรต้องการระบบคลาวด์ที่เหมือนกัน ขณะที่ยังช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไอทีที่มีอยู่เดิม

“การโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ควรจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงทั้งระบบในคราวเดียวกัน และควรจะเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ ได้ใช้งานทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างยืดหยุ่นและปลอดภัยอีกด้วย”

นายบิล ชาง รองประธานบริหารกลุ่มธุรกิจ บริษัท สิงเทล กล่าวว่า สิงเทลทำงานร่วมกับวีเอ็มแวร์ในการพัฒนาบริการใหม่ Power ON Compute เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้สามารถเปิดใช้งานทรัพยากรประมวลผลได้อย่างง่ายดายเหมือนกับการ เปิดก๊อกน้ำประปา ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเปลี่ยนย้ายการดำเนินงานไปสู่ระบบไฮบริดคลาวด์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัย การควบคุมประสิทธิภาพ และลูกค้าจะเสียค่าใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานจริงสำหรับทรัพยากรไอที

'ด้วยเทคโนโลยีของสิงเทล ผนึกประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของวีเอ็มแวร์ VMware vCloud Datacenter Services ที่นำเสนอโครงสร้างพื้นฐานคลาวคอมพิวติ้งแบบไฮบริด ประสิทธิภาพทางด้านเน็ตเวิร์กของซิสโก้ และสตอเรจของอีเอ็มซี ทำให้ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับเอนเตอร์ไพรซ์ หรือเอสเอ็มอีที่เชื่อว่าจะมีการใช้งานถึง 120,000 รายช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถโฟกัสที่กิจกรรมหลักๆ ทางด้านธุรกิจแทนและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 73%'

นอกจากนั้น เครือข่ายไอพีระหว่างประเทศของสิงเทลจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใช้แอปฯและบริการต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่น โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายและระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง

“ระบบไฮบริดคลาวด์ ช่วยให้ลูกค้ามีอิสระในการเลือกใช้เทคโนโลยี โดยจะสามารถลากและปล่อยแอปฯระหว่างระบบคลาวด์หลายๆ ระบบ และจัดส่งแอปฯดังกล่าวไปยังอุปกรณ์ประมวลผลทุกประเภทได้ทุกที่ทุกเวลา”

Company Related Link :
VM Ware

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2554 08:01 น.

286 ล้านซอฟต์แวร์ร้ายออกอาละวาดปี 2010

บริษัทผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสอย่างไซแมนเทค (Symantec) ประกาศว่าสามารถตรวจจับภัยจากซอฟต์แวร์ร้ายหรือมัลแวร์ได้มากกว่า 286 ล้านโปรแกรมช่วงปี 2010 ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีใดๆ ย้ำเห็นชัดว่าภัยออนไลน์จะพุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์พกพาและเครือข่ายสังคมในปีนี้ รวมถึงกลการโจมตีแบบอัตโนมัติหลากรูปแบบ

ไซแมนเทคนั้นประกาศผลสำรวจภัยออนไลน์ประจำปี 2010 ไว้ในรายงาน Internet Security Threat Report ซึ่งบริษัทจัดทำเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 16 แล้ว โดยนอกจากจำนวนมัลแวร์ที่เพิ่มขึ้น ความชำนาญและความสำเร็จของมัลแวร์ในปี 2010 ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้จะมีการให้ความรู้เพื่อให้ชาวออนไลน์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่ออย่างจริงจังแล้วก็ตาม

เจอร์รี่ อีแกน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Symantec Research Labs ระบุว่าปี 2010 คือปีที่ทิศทางการโจมตีในเครือข่ายสังคมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยจากเดิมที่ผู้ประสงค์ร้ายมักใช้เพียงข่าวหรือกระแสสังคมในการล่อลวงผู้ใช้ แต่เครือข่ายสังคมทำให้ผู้ปล่อยมัลแวร์สามารถหากินบนความไว้วางใจของเพื่อนฝูงคนรู้จักของเหยื่อเอง ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์สำเร็จสูง

"เครือข่ายสังคมกลายเป็นรูปแบบการโจมตีที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะชาวออนไลน์มีความเชื่อใจในข้อความซึ่งดูเหมือนว่าเพื่อนฝูงส่งมาพูดคุย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอีเมลลวงในยุคก่อน"

ไซแมนเทคพบว่าการโพสต์ลิงก์เว็บไซต์ขนาดสั้น (short URL) ในเครือข่ายสังคมคือกลลวงที่สามารถล่อให้ผู้ใช้เข้าสู่เว็บไซต์ซึ่งฝังมัลแวร์ได้สำเร็จมากที่สุด เนื่องจากชาวเครือข่ายสังคมนิยมโพสต์ลิงก์เว็บไซต์ขนาดสั้นนี้เพื่ออัปเดทข่าวกับเพื่อนฝูง จุดนี้ไซแมนเทคระบุว่าลิงก์เว็บไซต์แฝงมัลแวร์นั้นปรากฏในรูปลิงก์เว็บไซต์ขนาดสั้นนี้ถึง 65% โดยมากกว่า 73% ถูกคลิก 11 ครั้งหรือมากกว่านั้น

นอกจากเครือข่ายสังคม ไซแมนเทคยังพบการโจมตีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลผ่านช่องโหว่ในโปรแกรมภาษาจาวา (Java) เพิ่มขึ้น ข้อมูลระบุว่า มากกว่า 17% ของจุดอ่อนด้านความปลอดภัยซึ่งมีผลกระทบต่อโปรแกรมเสริมในโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ช่วงปี 2010 นั้นอยู่ที่จาวา

สำหรับชุดโปรแกรมโจมตีอัตโนมัติซึ่งพุ่งเป้าที่เว็บไซต์ต่างๆนั้นคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของภัยโจมตีเว็บไซต์ทั้งหมด โดยจำนวนการโจมตีเว็บไซต์ในปี 2010 นั้นสูงกว่าปี 2009 ถึง 93%

ที่ขาดไม่ได้คืออุปกรณ์พกพา ไซแมนเทคอธิบายว่าเพราะผู้บริโภคใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ในการเล่นอินเทอร์เน็ตและทำงานด้านการประมวลผลแทนคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้นักก่อการร้ายไฮเทคมองตลาดนี้เป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ไม่ควรพลาด แถมผู้ใช้ยังไม่มีความตระหนักรู้เรื่องภัยในอุปกรณ์พกพาเท่าภัยในคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้ทำให้ไซแมนเทคพบว่านักก่อการร้ายไฮเทคใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในโทรศัพท์มือถือมากกว่า 163 จุดในช่วงต้นปี 2011 ที่ผ่านมา จนทำให้โทรศัพท์หลายแสนเครื่องตกอยู่ในความเสี่ยง

ไซแมนเทคชี้ว่าช่องโหว่ในโทรศัพท์มือถือ 163 จุดนี้เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่า 115 จุดซึ่งไซแมนเทคพบในปี 2009 ถึง 42%

โดยเฉลี่ย ไซแมนเทคพบว่าชื่อหรือข้อมูลตัวตนมากกว่า 260,000 ไอเดนติตี้จะถูกขโมยต่อการถูกเจาะระบบ 1 ครั้งในปี 2010 โดยยอดภัยซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายหรือมัลแวร์ตลอดปีอยู่ที่ 286 ล้านมัลแวร์ซึ่งใช้ช่องโหว่ใหม่ 6,253 จุด (1 ช่องโหว่สามารถเป็นช่องทางปล่องมัลแวร์ได้หลายครั้งและหลายโปรแกรม) ซึ่งภัยมัลแวร์เหล่านี้ถูกใช้โจมตีมากกว่า 3 พันล้านครั้งในปีที่ผ่านมา

ภัยเก่าแก่อย่างบ็อตเน็ต (Botnet) หรือเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกควบคุมโดยแฮกเกอร์นั้นยังเป็นปัญหาใหญ่ในปี 2010 ไซแมนเทคพบบ็อตเน็ตมากกว่า 1 ล้านเครื่องที่ถูกควบคุมในช่วงปีขาลที่ผ่านมา

ไซแมนเทคยังพบด้วยว่า นักเจาะระบบจะสามารถจำหน่ายหมายเลขบัตรเครดิตที่ขโมยมาได้ในราคา 7 เซนต์ถึง 100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะถูกซื้อขายในตลาดใต้ดินทั่วโลก

การสำรวจครั้งนี้ของไซแมนเทคดำเนินการบนพื้นที่มากกว่า 200 ประเทศ โดยข้อมูลบางส่วนมาจากลูกค้าซึ่งใช้ซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสของไซแมนเทคมากกว่า 133 ล้านระบบในปี 2010

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2554 23:54 น.

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

กูเกิลเพิ่มฟีเจอร์ +1 ให้ผู้ใช้ "Like" ผลการค้นหา

กูเกิลประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ "+1" ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแสดงความชื่นชอบแก่ผลการค้นหาและโฆษณาที่โดนใจได้ มาในรูปปุ่ม +1 ให้ผู้ใช้ได้กดเพื่อแนะนำเพื่อนว่าลิงก์เว็บไซต์นี้มีคุณภาพไม่ผิดหวัง เชื่อ +1 จะสามารถเป็นสัญลักษณ์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผลการค้นหาของกูเกิลได้อย่างเป็นรูปธรรม

ฟีเจอร์ +1 จะปรากฏขึ้นหลังจากมีการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ โดยจะมีปุ่ม "+1" ต่อท้ายลิงก์ของผลการค้นหา เมื่อมีการคลิกปุ่มดังกล่าว ผู้ใช้ที่มีรายชื่ออยู่บนกูเกิลโปร์ไฟล์ของผู้ใช้กูเกิลจะสามารถมองเห็นชื่อของเพื่อนที่กด +1 ซึ่งจะปรากฏอยู่ด้านล่างของลิงก์เว็บไซต์นั้นๆ ทำให้เว็บไซต์ที่ปรากฏในหน้าผลการค้นหามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนที่อาจค้นหาด้วยคำค้นเดียวกันในครั้งต่อไป

ความเคลื่อนไหวเรื่องการเปิดทางให้ผู้ใช้ได้แนะนำเว็บไซต์แก่เพื่อนครั้งนี้ของกูเกิลถูกมองว่าเป็นการตอบโต้เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งมีปุ่ม Like ให้กดเพื่อให้ผู้ใช้แสดงความชื่นชอบความเห็น รูปภาพ หรือวิดีโอใดๆ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของกูเกิลปฏิเสธและบอกว่าเป็นความพยายามในการเพิ่มคุณสมบัติด้านสังคมของกูเกิลเอง โดยนอกจากหน้าผลการค้นหาของกูเกิล กูเกิลยังมีแผนให้เจ้าของเว็บไซต์อื่น ทั้งที่ลงและไม่โฆษณากับกูเกิลไว้ สามารถนำปุ่ม +1 ไปติดไว้ที่หน้าเว็บเพจได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีการคลิก +1 ระบบของกูเกิลจะทำการเก็บบันทึกข้อมูลการค้นหาที่ผู้ใช้งานชื่นชอบเอาไว้ เพื่อใช้ในการเลือกแสดงผลโฆษณาให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ชื่นชอบแน่นอน เช่น หากผู้ใช้ค้นหาคำว่า "Coffee" แล้วคลิก +1 ระบบอาจแสดงผลโฆษณากาแฟสตาร์บักหรือแบรนด์อื่นๆ โดยเชื่อกันว่าคุณสมบัตินี้จะทำให้กูเกิลมีข้อมูลให้นักการตลาดสามารถใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่ากูเกิลจะสามารถแก้ปัญหา"คอนเทนต์ฟาร์มเกลื่อนกูเกิล"ได้ เนื่องจากอัลกอริทึมกูเกิลที่เน้นให้คะแนนเว็บไซต์ที่มีผู้ค้นหาเข้าเยี่ยมชมมากที่สุด แล้วแสดงผลลิงก์ดังกล่าวเป็นอันดับต้นๆของการค้นหานั้นไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าผู้เข้าชมเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะประทับใจข้อมูลบนเว็บไซต์นั่นหรือไม่ เพราะวิธีดังกล่าวทำให้เว็บไซต์ที่วางบทบาทเป็นนักรวบรวมข้อมูลจากหลายเว็บไซต์ (คอนเทนต์ฟาร์ม) กลายเป็นผลลิงก์ที่มีอันดับการค้นหาในกูเกิลเหนือกว่าเว็บไซต์เจ้าของข้อมูลโดยตรง จุดนี้ คุณสมบัติ +1 จะทำให้ผลการค้นหาของกูเกิลมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารกูเกิลระบุว่า สถิติการ +1 อาจถูกนำมาใช้ในระบบอัลกอริทึมของกูเกิล เพื่อคำนวณอันดับการแสดงผลการค้นหาในอนาคต แต่ยังไม่ใช่ขณะนี้

สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการทดสอบคุณสมบัติ +1 ของกูเกิล จะต้องสร้าง Google Profile เพื่อรวบรวมเครือข่ายผู้ติดต่อซึ่งจะสามารถชมลิงก์ที่ถูกกด +1 ได้ โดยสามารถใช้ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดต่อในนานาบริการของกูเกิลทั้ง Gmail หรือในบริการโปรแกรมแชตของกูเกิล ระยะแรกจะให้บริการเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐฯเท่านั้น

นี่ถือเป็นความพยายามอีกครั้งของกูเกิลในแง่เครือข่ายสังคม หลังจาก"Buzz"โครงการเครือข่ายสังคมที่กูเกิลตั้งใจพัฒนาขึ้นนั้นล้มไม่เป็นท่า โดยล่าสุด กูเกิลตัดสินใจยอมความกับคณะกรรมการการค้าสหรัฐฯหรือ FTC ซึ่งตั้งข้อกล่าวหาว่ากูเกิลใช้กลยุทธ์หลอกลวงและละเมิดนโยบายความเป็นส่วนตัวด้วย Buzz ซึ่งถูกเปิดตัวในปี 2010 ที่ผ่านมา โดยกูเกิลยินยอมให้ FTC ตรวจสอบอย่างอิสระทุกปี ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องตลอด 20 ปีข้างหน้า

Company Related Link :
Google

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 31 มีนาคม 2554 19:15 น.