วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'ฟูจิตสึ'ส่งซูเปอร์คอมพ์ ขึ้นอันดับ1ประมวลผลเร็วสุดในโลก

บริษัทฟูจิตสึ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ชื่อดังประเทศญี่ปุ่น สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลเร็วที่สุดในโลกออกมาแล้วในชื่อ 'เค ซูเปอร์คอมพิวเตอร์' (K-Supercomputer) ถือเป็นอีกครั้งในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 ที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งสร้างโดยบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยสามารถครองแชมป์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วสูงสุดในโลก โดยเค ทุบสถิติที่ความเร็ว 8 เพตาฟล็อปต่อวินาที ซึ่งก็คือการประมวลผลได้ถึง 8 พันล้านล้านคำสั่งใน 1 วินาที บนซีพียูมากกว่า 8 หมื่นตัว ทำให้เคกลายเป็นสุดยอดคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก ในการจัดอันดับ 驌 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลก' ทันที

สำหรับผลการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลกทั้ง 500 ลำดับนั้น ครั้งล่าสุดเปิดเผยในงานประชุมที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย.ผ่านมา โดย 'เค ซูเปอร์คอมพิวเตอร์' สามารถคว่ำแชมป์เก่าอย่าง 'เทียนเหอ-1 เอ' (Tianhe-1A) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากประเทศจีนที่ผลิตโดยศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติจีน ซึ่งเคยทำสถิติได้ 2.6 เพตาฟล็อปต่อวินาที ล่าสุดต้องตกมาอยู่อันดับสอง

ด้านเคล็ดลับความเร็วของเค ก็คือ ซีพียูทุกตัวที่ใช้เป็นชิพ 8 คอร์ประมวลผล ทำให้เคสามารถทำสถิติเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงที่สุดในโลกนั่นเอง ส่วนเครื่องจากญี่ปุ่นที่เคยทำสถิติไว้เมื่อปี 2547 คือเครื่อง 'เอิร์ธ ซิมูเลเตอร์' ซูเปอร์คอมพ์ของเอ็นอีซี

ส่วนเครื่องความเร็วอันดับสาม ได้แก่ เครื่องจากัวร์ (Jaguar) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐซึ่งเป็นฝีมือการพัฒนาโดยสถาบันวิจัยแห่งชาติโอ๊กริดจ์ ความเร็วที่บันทึกไว้คือ 1.75 เพตาฟล็อป อันดับที่ 4 คือ 'เนบิวเล' (Nebulae) ของศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติจีน ความเร็ว 1.27 เพตาฟล็อป และอันดับที่ 5 คือ 'สึบาเมะ 2.0' (Tsubame 2.0) ของสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ความเร็ว 1.19 เพตาฟล็อป

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ความเร็วระดับเพตาฟล็อปหรือพันล้านล้านคำสั่งต่อวินาทีนั้นถูกนำไปใช้ในงานที่ต้องการระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความสามารถในการประมวลผลสูงเป็นพิเศษ เช่น ในอุตสาหกรรมพลังงาน การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น ขณะที่ประเทศที่มีการใช้งานซูเปอร์คอมพ์มากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีน เยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น ตามลำดับ


วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7512 ข่าวสดรายวัน

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

AMD เปิดตัว 'ลาโน' บุกตลาดไทยมิ.ย.นี้

เอเอ็มดีเปิดตัวเอพียู เอ-ซีรี่ส์รหัส ลาโน นำเสนอภาพกราฟิกที่สว่างสดใส พร้อมประสิทธิภาพคล้ายกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และ ใช้งานแบตเตอรีทนนานเป็นวัน

เอเอ็มดี เอพียู เอ-ซีรี่ส์ (ภายใต้รหัสการพัฒนา Llano) หน่วยเร่งการประมวลผล ประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ล่าสุดสำหรับผู้บริโภคกลุ่มหลักสำหรับโน้ตบุ๊ก และเดสก์ท้อปพร้อมความสามารถในการแสดงผลกราฟิกระดับ HD และการประมวลผลในลักษณะเดียวกันกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ทั้งยังใช้งานแบตเตอรียาวนานถึงกว่า 10.5 ชั่วโมง

นายจักรกฤษณ์ วชิระศักดิ์ศิลป์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอเอ็มดี กล่าวว่า เอพียู เอ-ซีรี่ส์ ตอบสนองกระแสการใช้งานในปัจจุบัน และอนาคต ที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญกับการทำงานแบบมัลติทาสกิ้ง การแสดงผลภาพที่สดใส การเล่นเกมส์เลียนแบบชีวิตประจำวัน การเล่นวิดีโอโดยไม่มีความล่าช้า รวมทั้งประสิทธิภาพการทำงานมัลติมีเดียระดับสูงสุด

ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เอเอ็มดี เอพียู เอ-ซีรี่ส์ จึงผสานเอาคอร์ซีพียูตระกูล X86 สูงสุดถึง 4 คอร์ เข้ากับชิปกราฟิกระดับกลางที่มีความสามารถในการใช้งาน DirectX 11 จนถึงระดับกราฟิกชิปตระกูล Radeon 400 รวมทั้งประสิทธิภาพการประมวลผลภาพวิดีโอระดับ HD เข้าไว้ในชิปตัวเดียวกัน นอกจากนั้นเอเอ็มดี เอพียู เอ-ซีรี่ส์ ยังพร้อมรับการสั่งการผ่านอินเตอร์เฟสสัญลักษณ์ (gestural interface) สนับสนุนการแสดงผลผ่านหลายหน้าจอ ความบันเทิงแบบ 3 มิติและการป้องกันภาพสั่นแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ ผู้บริโภคในไทยจะได้พบกับโน้ตบุ๊ก และเดสก์ท้อป ที่ใช้หน่วยเร่งการประมวลผลตัวใหม่ เอพียู เอ-ซีรี่ส์ จากค่ายพีซีในสัปดาห์เดียวกับที่มีการเปิดตัวสู่ตลาดโลกที่สหรัฐฯในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้โดยเอเซอร์จะเป็นค่ายแรกที่เปิดตัวโน้ตบุ๊ก และเดสก์ท้อป ที่ใช้หน่วยเร่งการประมวลผลตัวใหม่ เอพียู เอ-ซีรี่ส์ ในกลางเดือนมิ.ย.นี้ ตามด้วยอัสซุส และเอชพี ที่จะวางจำหน่ายสินค้าในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ส่วนซัมซุง โตชิบา โซนี่ และเลอโนโว่ คาดว่าจะทำตลาดในช่วงเดือนก.ค.ปีนี้

Company Related Link :
AMD

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มิถุนายน 2554 08:11 น.

เตือนภัยมัลแวร์แอนดรอยด์ "แอปฯช่วยเล่น Angry Birds ปลอม"

กูเกิลประกาศลบโปรแกรมประสงค์ร้ายหรือมัลแวร์ออกจากร้านแอปพลิเคชันแอนดรอยด์มาร์เก็ต (Android Market) อีกรอบ หลังจากผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีแอปพลิเคชันสอดแนมแฝงตัวโดยใช้โปรแกรมเกมสุดฮ็อต Angry Birds เป็นเครื่องตบตา ใช้เล่ห์เสนอตัวเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วงโกงให้เล่นเกมนกพิโรธได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการลบมัลแวร์รอบที่ 3 ต่อเนื่องจากการลบมัลแวร์มากกว่า 80 แอปพลิเคชันที่กูเกิลตรวจพบในรอบปีนี้

Xuxian Jiang ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฝ่ายวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ธแคโรไลนา (North Carolina State University) ประกาศพบมัลแวร์ใน 10 แอปพลิเคชันซึ่งเปิดให้ผู้ใช้อุปกรณ์พกพาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ดาวน์โหลดตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยล่าสุดผู้ช่วยศาสตราจารย์รายนี้ได้พบมัลแวร์ซึ่งแฝงตัวในแอปพลิเคชันที่อวดอ้างว่าสามารถช่วยให้เล่นเกมยอดฮิตจากค่าย Rovio อย่าง Angry Birds ได้ง่ายขึ้น จุดนี้มีการยืนยันว่าเกม Angry Birds นั้นไม่มีมัลแวร์แฝงแต่อย่างใด

Jiang นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบมัลแวร์ซึ่งมีการประสานงานกับบริษัทแอนตี้ไวรัสและสถาบันวิจัยอย่าง Lookout, Symantec, McAfee, CA, SmrtGuard, Juniper, Kinetoo, Fortinet และอื่นๆ สำหรับมัลแวร์ตัวใหม่ที่ Jiang และทีมตั้งชื่อว่า "แพลงตอน (Plankton)" นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเจาะระบบรูตของแอนดรอยด์ แต่ออกแบบมาเพื่อแฝงตัวทำงานอยู่ที่พื้นหลังหรือแบคกราวน์โดยที่เจ้าของเครื่องไม่รู้ตัว

จุดนี้ Jiang ระบุว่าแพลงตอนสามารถทำงานต่อเนื่องนาน 2 เดือนโดยซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสในโทรศัพท์มือถือไม่สามารถตรวจจับได้ ความน่ากังวลของของแพลงตอนคือความเสี่ยงในการถูกขโมยตัวตนและการถูกล่อลวงออนไลน์ เพราะจะสามารถเก็บข้อมูลความลับในเครื่องทุกอย่างแม้แต่บุ๊กมาร์คในเบราว์เซอร์ ประวัติการเปิดเว็บ รวมถึงข้อมูลเวลาใช้งานอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาซึ่งสามารถส่งกลับไปที่เซิร์ฟเวอร์ของผู้หวังร้ายได้อย่างอัตโนมัติ

ปัจจุบัน อุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์นั้นถูกจับตาเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวถูกใช้เพื่อการรับส่งอีเมล ทำธุรกรรมการเงิน เครือข่ายสังคม รวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กูเกิลได้ประกาศว่ากำลังตรวจสอบ 26 แอปพลิเคชันต้องสงสัยว่าจะเป็นมัลแวร์ หลังจากกูเกิลประกาศลบแอปพลิเคชันที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นมัลแวร์จำนวน 50 แอปพลิเคชันในเดือนมีนาคม

Company Related Link :
Google

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 มิถุนายน 2554 14:38 น.

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อหังการหัวเว่ย 4G บนเวทีโลก(รายงาน)

คำว่าโกอินเตอร์คือคำบรรยายสถานภาพที่เหมาะสมของยักษ์ใหญ่โลกสื่อสารแดนมังกรอย่างหัวเว่ยในนาทีนี้ ถามว่าหัวเว่ยมีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้บริษัทจีนสามารถมีอิทธิพลและบทบาทเป็นผู้เล่นหลักในตลาด 4G และมีแวว"แทนที่"เจ้าตลาดฝั่งตะวันตกอย่างน่าตกใจ หนึ่งในคำตอบคือการพิสูจน์ตัวเองด้วยการปักหลักร่วมพัฒนากับพันธมิตรโอเปอเรเตอร์อย่างใกล้ชิดประเภท "ผูกกันตัวต่อตัว"

ตัวอย่างมนต์ขลังของนโยบายตัวต่อตัวที่หัวเว่ยใช้มัดใจโอเปอเรเตอร์บนเวที 4G อย่างอยู่หมัดคือกรณี "เทเลนอร์ นอร์เวย์" ที่เลือกหัวเว่ยเป็นผู้จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เครือข่าย LTE เพื่อให้เทเลนอร์สามารถทดสอบนานาบริการและแอปพลิเคชัน 4G ที่กรุงออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์

หัวเว่ยดึงพนักงานกว่า 120 คน มากกว่า 23 สัญชาติ มาทำงานร่วมกันกับเทเลนอร์พร้อมกับตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมโครงข่ายร่วมกันในชื่อ Joint Innovation Centre (JIC) โดยเช่าเฟอร์นิเจอร์และพื้นที่จากสำนักงานใหญ่เทเลนอร์ในนอร์เวย์ บนโครงสร้างองค์กรคือการทำงานประกบบุคลากรเทเลนอร์ชนิด"Pair"หรือคู่กัน

จุดนี้น่าสนใจเพราะศูนย์ JIC นี้เป็นศูนย์ความร่วมมือพัฒนาโครงข่าย 4G ร่วมกันระหว่างหัวเว่ยและเทเลนอร์ซึ่งมีที่ประเทศนอร์เวย์ประเทศเดียว แถมนอร์เวย์ยังเป็นพื้นที่เดียวที่โครงข่ายหลักของหัวเว่ยถูกติดตั้งแบบยกชุดเนื่องจากพื้นที่อื่นในเทเลนอร์กรุ๊ปก็ยังคงเลือก"อีริคสัน"เช่นในสวีเดนหรือประเทศไทยเอง โดยหัวเว่ยเป็นผู้จัดหาโครงข่าย 4G ให้เทเลนอร์สวีเดน แต่ก็ยังไม่ทิ้งอีริคสันเช่นกัน

จุดนี้มีการคาดว่าหากดีแทคซึ่งเป็นบริษัทในเครือเทเลนอร์และอีริคสันจะสร้างศูนย์พัฒนาร่วมกัน ก็คงไม่ได้ออกมาในลักษณะการแบ่งปันทรัพยากรและความชำนาญด้านโครงข่ายร่วมกันเช่นนี้ แต่จะเป็นการร่วมกันพัฒนาด้านแอปพลิเคชันมากกว่า

เจ้าหน้าที่ JIC ของหัวเว่ยในเทเลนอร์สำนักงานใหญ่เล่าว่า ศูนย์ JIC นี้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ที่ผ่านมาหลังการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างหัวเว่ยและเทเลนอร์นอร์เวย์เมื่อปี 2009 ในโครงการจัดหาอุปกรณ์ในภาคเรดิโอของเครือข่ายแอลทีอี (LTE radio access) และในส่วนอุปกรณ์หลัก (EPC: Evolved Packet Core) สำหรับการทดสอบเครือข่ายแอลทีอี (LTE: Long Term Evaluation) ที่เมืองออสโล ซึ่งมีระยะเวลาโครงการต่อเนื่อง 6 ปี

หลายโครงการพัฒนาเรียบร้อยในปีที่แล้ว เช่น เทคโนโลยี LTE QoS หรือเทคโนโลยีจัดสรรแบนด์วิดท์ตามคุณภาพที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แพกเกจแพงกว่าสามารถใช้งาน LTE ได้ดีกว่า สำหรับปี 2011 ศูนย์ JIC มีโครงการรออยู่มากกว่า 10 โครงการ ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่า 10 ล้านโครนนอร์เวย์ หรือประมาณ 570 ล้านบาท

หัวเว่ยการันตีว่าศูนย์ JIC นี้ทำให้เทเลนอร์นอร์เวย์สามารถลดเงินทุนได้ถึง 30% เพิ่มชั่วโมงใช้งานดาต้าของลูกค้าได้มากกว่า 40% นำไปสู่การเพิ่มรายได้ของเทเลนอร์มากกว่า 3%

ถามว่าหัวเว่ยได้อะไรกลับมา หัวเว่ยไม่ได้บอกว่าได้ใจอย่างเดียว แต่หัวเว่ยสามารถทดสอบและพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ เพื่อการันตีตัวเองว่าเลือกหัวเว่ยแล้วไม่ผิดหวัง

ประเด็นนี้เองที่ทำให้เทเลนอร์ นอร์เวย์หันมาเลือกใช้โครงข่าย LTE ของหัวเว่ย ซึ่งการันตีว่ามีแบนด์วิดท์รวมถึง 120Mbps แน่นอนว่าหัวเว่ยจะไม่หยุดนิ่งเฉพาะที่นอร์เวย์ แต่กำลังมีแผนขยายขอบเขตงานของศูนย์ JIC ไปที่สวีเดน บังกลาเทศ และปากีสถาน

สำหรับโครงการเปลี่ยนเครือข่ายหรือ Network Swap ซึ่งหัวเว่ยลงมือให้เทเลนอร์นอร์เวย์ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 900 ไซต์ในช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนจะขยายเป็น 600 ไซต์ต่อเดือนตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางทีมงานกว่า 50 ทีม ทั้งหมดรวมทั้งการ Swap ที่เป็น Hot Swap (การเปลี่ยนเครือข่ายโดยที่เครือข่ายเก่ายังทำงานอยู่) และ Cold Swap (เปลี่ยนเครือข่ายโดยปิดเครือข่ายก่อน) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะไปได้สวยในเวทีโลก แต่ในเมืองไทย หัวเว่ยก็ยังไม่สามารถครองใจบริษัทในเครือเทเลนอร์อย่างดีแทค โดยแม้หัวเว่ยจะได้รับเลือกให้ ดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 3G เพื่อทดสอบตั้งแต่ปี 2009 แต่ดีแทคก็ตัดสินใจให้อีริคสันมาเป็นซัปพลายเออร์หลักในโครงการ Network Swap อยู่ดี จุดนี้ผู้บริหารดีแทคย้ำว่าภาพความพร้อมของซัปพลายเออร์เครือข่ายในแต่ละประเทศนั้นต่างกัน ซึ่งในประเทศไทย อีริคสันยังทำได้ดีกว่า

นอกจากเทเลนอร์ หัวเว่ยยังติดตั้งโครงข่าย LTE ให้บริษัทเทเลียโซเนอรา (TeliaSonera) ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวียและกลุ่มประเทศบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย) ซึ่งเป็นคู่แข่งของเทเลนอร์ โดยความคืบหน้าล่าสุดคือการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับบริษัท TELUS เพื่อตั้งศูนย์ JIC ที่แคนาดา เพื่อพัฒนาโซลูชันอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งแบบไร้สายและมีสาย ระยะเวลาโครงการคือ 3 ปี โดยหัวเว่ยถือหุ้นในศูนย์ 50%

อย่างนี้ไม่เรียกโกอินเตอร์ แล้วจะเรียกว่าอะไรดี

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มิถุนายน 2554 10:27 น.