วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ARM โชว์ชิปใหม่เพื่อสมาร์ทโฟน 3,000 บาท ขีดเส้นพร้อมรบปี 2013

บริษัท ARM ผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติอังกฤษ เปิดตัวโครงสร้างการออกแบบชิปใหม่สำหรับใช้ในสมาร์ทโฟนราคาประหยัดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ชูความสำเร็จต้นทุนต่ำ-ให้พลังสูง-ประหยัดพลังงานได้ดีกว่าสมาร์ทโฟนยุคนี้ คาดสามารถนำไปใช้ในการผลิตสมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,000 บาทได้ภายในปี 2013

ARM ให้ชื่อเรียกผลงานการออกแบบชิปใหม่นี้ว่า Cortex-A7 โดยการันตีว่าสามารถให้พลังการประมวลผลเทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนระดับสูงหรือไฮเอนด์ในปัจจุบัน แต่สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าถึง 5 เท่าตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ Cortex-A7 คือหน่วยประมวลผลสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพด้านการบริหารพลังงานมากที่สุดในยุคนี้

วอร์เรน อีสต์ (Warren East) ซีอีโอ ARM ยอมรับว่า ระดับการประมวลผลของสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ในยุคนี้ จะกลายเป็นความสามารถของสมาร์ทโฟนระดับต่ำกว่าหรือ lower-end ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ความสามารถมากมายถูกบรรจุในสมาร์ทโฟนราคาต่ำลงตามไปด้วย

"ชิป Cortex-A7 จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถตอบความต้องการของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 1 พันล้านถัดไปในตลาดกำลังพัฒนาได้"

ชิป Cortex-A7 ถูกออกแบบบนเทคโนโลยีการผลิต 28 นาโนเมตร สามารถทำงานร่วมกับชิปรุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูงของ ARM อย่าง Cortex-A15 ได้ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสามารถติดตั้งชิปในชิ้นส่วนเดียวได้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งทั้งหมดนี้ ARM อ้างว่าจะทำให้สมาร์ทโฟนราคาประหยัดยุคหน้า สามารถลดการผลาญแบตเตอรี่ได้ดีกว่าสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ราคาแพงในยุคนี้ถึง 70%

ซีอีโอ ARM มั่นใจว่า Cortex-A7 จะช่วยให้ ARM สามารถทิ้งห่างจากคู่แข่งแดนลุงแซมอย่างอินเทล (Intel) ได้ไกลในเรื่องของประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ความหวังในการรุกตลาดสมาร์ทโฟนของอินเทลเลือนลางลงไป สวนทางกับภาพผู้นำในตลาดชิปสำหรับคอมพิวเตอร์โลกอย่างเห็นได้ชัด

คาดว่าโลกจะได้เห็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัดประสิทธิภาพสูงหลากหลายแบรนด์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจาก ARM เปิดเผยว่าได้เซ็นสัญญาแล้วกับ 10 พันธมิตรที่จะผลิตชิป Cortex-A7 โดยหนึ่งในนั้นคือซัมซุง (Samsung) และทีไอ (Texas Instruments) สำหรับชิป Cortex-A15 ผลการออกแบบรุ่นล่าสุดของ ARM ในขณะนี้นั้นมีการเจรจากับพันธมิตรด้านลิขสิทธิการผลิตแล้วกว่า 14 ราย

Company Related Link :
ARM

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 ตุลาคม 2554 10:28 น.

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

AMD ลุยชิป 8 คอร์เพื่อคอมพ์ตั้งโต๊ะ

เอเอ็มดี (Advanced Micro Devices) เปิดตัวชิปสำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตัวแรกซึ่งมาพร้อมแกนประมวลผล 8 คอร์บนสถาปัตยกรรม Bulldozer ใหม่ล่าสุด ความเร็วสูงสุดการันตีที่ 4.2GHz ท่ามกลางเสียงวิจารณ์แง่ลบว่าไม่สามารถชนกับคู่แข่งตลอดกาลอย่างอินเทลได้

ชิป 8 คอร์ใหม่ล่าสุดของเอเอ็มดีจะถูกรวมอยู่ในซีรียส์ FX ซึ่งเอเอ็มดีเคยเปิดตัวมาก่อนหน้านี้โดยมุ่งกลุ่มคอเกมเป็นหลัก ครั้งนี้เอเอ็มดีระบุชัดเจนว่าผู้ใช้จะสามารถปรับแต่งชิปใหม่ล่าสุดได้ตามต้องการ บนความเร็วและประสิทธิภาพที่เหนือกว่าชิป FX รุ่นก่อนหน้าถึง 50%

เอเอ็มดีระบุว่าชิป FX-8150 ใหม่นี้เริ่มเปิดจำหน่ายแล้วเมื่อสัปดาห์ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความเร็ว 3.6GHz สามารถเพิ่มเป็น 4.2GHz หากทำงานในโหมดเทอร์โบ สนนราคาชิปใหม่อยู่ที่ 245 เหรียญ หรือประมาณ 7,600 บาท

นี่คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของเอเอ็มดี หลังจากที่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เอเอ็มดีได้เปิดสาธิตการทำงานของชิป FX 8 คอร์ประมวลผลที่ทำงานความเร็วสูง 8.429GHz ซึ่งเอเอ็มดีอ้างว่าเป็นชิปสถิติโลกที่ไม่มีใครเทียบได้เรื่องความเร็ว และยังไม่มีการเผยรายละเอียดการจำหน่ายใดๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนคอร์ประมวลผลที่มากถึง 8 คอร์ซึ่งการันตีความเร็วและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น แต่ชิปใหม่ของเอเอ็มดีกลับถูกวิจารณ์จากสื่อไอทีซึ่งนำชิปไปทดสอบเทียบกับชิปสถาปัตยกรรม Sandy Bridge ของอินเทล ว่าน่าผิดหวังเพราะสามารถทำคะแนนได้น้อยกว่าในการทดสอบหลายคุณสมบัติ

ชิปคู่แข่งโดยตรงของชิป FX รุ่นใหม่ของเอเอ็มดีคือ Core i7-990X Core Extreme Edition ซึ่งเป็นชิป 6 คอร์ของอินเทลแต่มีราคาขายที่ 999 เหรียญ หรือประมาณ 30,000 บาท โดยใน 2-3 เดือนนับจากนี้ อินเทลมีคิวเปิดตัวชิป Extreme Edition ซึ่งพัฒนาบน Sandy Bridge คาดว่าคอเกมทั่วโลกจะหวั่นไหวไปกับการแข่งขันดุเดือดระหว่าง 2 ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก

Company Related Link :
Amd

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 ตุลาคม 2554 08:12 น.

"เดนนิส ริตชี่" บิดาภาษา C และผู้ร่วมสร้าง Unix ลาโลกแล้ว

เดนนิส ริตชี่ (Dennis Ritchie) ผู้สร้างโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ "ภาษาซี (C programming language)" ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างระบบปฏิบัติการ "ยูนิกซ์ (Unix)" ลาโลกแล้วด้วยวัย 70 ปี ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญอีกคนในวงการไอทีเพราะผลงานของริตชี่นั้นเป็นรากฐานสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ทั้งตั้งโต๊ะและพกพาในปัจจุบัน

ภาษาซีนั้นเป็นภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกเปิดตัวพร้อมกับไมโครโปรเซสเซอร์ Intel 4004 ของอินเทลช่วงปี 1971 ด้วยฐานะส่วนหนึ่งของระบบการประมวลผลยุคใหม่ ระยะแรก ภาษาซียังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งกลางยุค 70 ภาษาซีสามารถพิสูจน์ตัวเองและครองใจนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่เลือกใช้ภาษาซีเพื่อเขียนโปรแกรมซึ่งสามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ประหยัดพลังงาน และไม่ซับซ้อนยุ่งยาก

ผู้สร้างภาษาซีนั้นเสียชีวิตแล้วตั้งแต่วันพุธที่ 12 ตุลาคมบนคำยืนยันจากศูนย์ปฏิบัติการ Alcatel-Lucent Bell Labs ของอัลคาเทลลูเซนต์ซึ่งออกประกาศในวันพฤหัสบดี (13) ที่ผ่านมา โดยระบุเพียงว่าริตชี่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายมาเป็นเวลานาน หลังจากที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการสร้างซอฟต์แวร์ที่เพิ่มความเสรีให้นักเขียนโปรแกรมสามารถสร้างฝันของตัวเองให้เป็นจริงโดยไม่ต้องยุ่งยากและเสียเวลา

ทั้งหมดนี้ จีออง คิม (Jeong Kim) ประธาน Alcatel-Lucent Bell Labs ยกย่องว่าริตชี่จะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงานในอัลคาร์เทลต่อไป ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะคุณความดีที่ริตชี่สร้างไว้ แต่เป็นเพราะริตชี่คือเพื่อน, นักประดิษฐ์ และคนดีแสนสมถะที่ควรค่าแก่การเป็นแบบอย่าง

เดนนิส ริตชี่ หรือ Dennis MacAlistair Ritchie นั้นเกิดที่เมือง Bronxville มลรัฐนิวยอร์กเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1941 จากนั้นจึงย้ายไปเมืองนิวเจอร์ซีย์ตามคุณพ่อที่ทำงานเป็นวิศวกรระบบสวิตชิงให้กับบริษัท Bell Laboratories หนุ่มน้อยริตชี่เรียนดีจนสามารถเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และสำเร็จปริญญาด้านฟิซิกส์ในปี 1963

ที่ฮาร์วาร์ดนี้เองซึ่งทำให้ริตชี่มีความสนใจในคอมพิวเตอร์ การเข้าร่วมฟังบรรยายสอนเกี่ยวกับเครื่อง Univac 1 จุดประกายริตชี่อย่างจังและเป็นแรงบันดาลใจให้ริตชี่สมัครเข้าเรียนที่สถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในเวลาต่อมา

MIT ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งแรกๆของโลกในการพัฒนาคอมพิวเตอร์เมนเฟรมให้เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กและมีราคาประหยัดกว่า โดยในปี 1967 บริษัท Bell Labs ก็สามารถพัฒนาทรานซิสเตอร์ (transistor) ซึ่งเป็นเบื้องหลังสำคัญของการผลิตชิปคอมพิวเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ทำให้ริตชี่เข้าร่วมโครงการสร้างระบบปฏิบัติการแนวคิดใหม่ Multics ของ Bell Labs พร้อมกับเคนเน็ธ ทอมป์สัน (Kenneth Thompson) ซึ่งกลายเป็นผู้ร่วมสร้างระบบปฏิบัติการ Unix ในเวลาต่อมา

บทบาทสำคัญของริตชี่คือการสร้างโปรแกรมภาษาซี ซึ่งสามารถทำให้ฮาร์ดแวร์สามารถสื่อสารกันได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าโปรแกรมภาษาอื่นในอดีต โดยภาษาซีทำให้นักพัฒนาสามารถเรียนรู้ระบบปฏิบัติการเดียว, เครื่องมือตัวเดียว และภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมภาษาเดียวแต่สามารถจัดการฮาร์ดแวร์ข้ามระบบได้ แนวคิดเหล่านี้กลายเป็นรากฐานของการเขียนโปรแกรมในยุคปัจจุบันในที่สุด

กูรูไอทีผู้ล่วงลับรายนี้ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยซอฟต์แวร์ของ Lucent Technology Systems ก่อนจะเกษียนตัวเองในปี 2007 โดยรางวัลที่ริตชี่เคยได้รับร่วมกับผู้ร่วมสร้าง Unix อย่างทอมป์สันได้แก่ ACM Turing Prize ในปี 1983 และรางวัล US National Medal of Technology ในปี 1998

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 ตุลาคม 2554 07:50 น.

"เดนนิส ริตชี่" บิดาภาษา C และผู้ร่วมสร้าง Unix ลาโลกแล้ว

เดนนิส ริตชี่ (Dennis Ritchie) ผู้สร้างโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ "ภาษาซี (C programming language)" ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างระบบปฏิบัติการ "ยูนิกซ์ (Unix)" ลาโลกแล้วด้วยวัย 70 ปี ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญอีกคนในวงการไอทีเพราะผลงานของริตชี่นั้นเป็นรากฐานสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ทั้งตั้งโต๊ะและพกพาในปัจจุบัน

ภาษาซีนั้นเป็นภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกเปิดตัวพร้อมกับไมโครโปรเซสเซอร์ Intel 4004 ของอินเทลช่วงปี 1971 ด้วยฐานะส่วนหนึ่งของระบบการประมวลผลยุคใหม่ ระยะแรก ภาษาซียังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งกลางยุค 70 ภาษาซีสามารถพิสูจน์ตัวเองและครองใจนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่เลือกใช้ภาษาซีเพื่อเขียนโปรแกรมซึ่งสามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ประหยัดพลังงาน และไม่ซับซ้อนยุ่งยาก

ผู้สร้างภาษาซีนั้นเสียชีวิตแล้วตั้งแต่วันพุธที่ 12 ตุลาคมบนคำยืนยันจากศูนย์ปฏิบัติการ Alcatel-Lucent Bell Labs ของอัลคาเทลลูเซนต์ซึ่งออกประกาศในวันพฤหัสบดี (13) ที่ผ่านมา โดยระบุเพียงว่าริตชี่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายมาเป็นเวลานาน หลังจากที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการสร้างซอฟต์แวร์ที่เพิ่มความเสรีให้นักเขียนโปรแกรมสามารถสร้างฝันของตัวเองให้เป็นจริงโดยไม่ต้องยุ่งยากและเสียเวลา

ทั้งหมดนี้ จีออง คิม (Jeong Kim) ประธาน Alcatel-Lucent Bell Labs ยกย่องว่าริตชี่จะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงานในอัลคาร์เทลต่อไป ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะคุณความดีที่ริตชี่สร้างไว้ แต่เป็นเพราะริตชี่คือเพื่อน, นักประดิษฐ์ และคนดีแสนสมถะที่ควรค่าแก่การเป็นแบบอย่าง

เดนนิส ริตชี่ หรือ Dennis MacAlistair Ritchie นั้นเกิดที่เมือง Bronxville มลรัฐนิวยอร์กเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1941 จากนั้นจึงย้ายไปเมืองนิวเจอร์ซีย์ตามคุณพ่อที่ทำงานเป็นวิศวกรระบบสวิตชิงให้กับบริษัท Bell Laboratories หนุ่มน้อยริตชี่เรียนดีจนสามารถเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และสำเร็จปริญญาด้านฟิซิกส์ในปี 1963

ที่ฮาร์วาร์ดนี้เองซึ่งทำให้ริตชี่มีความสนใจในคอมพิวเตอร์ การเข้าร่วมฟังบรรยายสอนเกี่ยวกับเครื่อง Univac 1 จุดประกายริตชี่อย่างจังและเป็นแรงบันดาลใจให้ริตชี่สมัครเข้าเรียนที่สถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในเวลาต่อมา

MIT ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งแรกๆของโลกในการพัฒนาคอมพิวเตอร์เมนเฟรมให้เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กและมีราคาประหยัดกว่า โดยในปี 1967 บริษัท Bell Labs ก็สามารถพัฒนาทรานซิสเตอร์ (transistor) ซึ่งเป็นเบื้องหลังสำคัญของการผลิตชิปคอมพิวเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ทำให้ริตชี่เข้าร่วมโครงการสร้างระบบปฏิบัติการแนวคิดใหม่ Multics ของ Bell Labs พร้อมกับเคนเน็ธ ทอมป์สัน (Kenneth Thompson) ซึ่งกลายเป็นผู้ร่วมสร้างระบบปฏิบัติการ Unix ในเวลาต่อมา

บทบาทสำคัญของริตชี่คือการสร้างโปรแกรมภาษาซี ซึ่งสามารถทำให้ฮาร์ดแวร์สามารถสื่อสารกันได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าโปรแกรมภาษาอื่นในอดีต โดยภาษาซีทำให้นักพัฒนาสามารถเรียนรู้ระบบปฏิบัติการเดียว, เครื่องมือตัวเดียว และภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมภาษาเดียวแต่สามารถจัดการฮาร์ดแวร์ข้ามระบบได้ แนวคิดเหล่านี้กลายเป็นรากฐานของการเขียนโปรแกรมในยุคปัจจุบันในที่สุด

กูรูไอทีผู้ล่วงลับรายนี้ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยซอฟต์แวร์ของ Lucent Technology Systems ก่อนจะเกษียนตัวเองในปี 2007 โดยรางวัลที่ริตชี่เคยได้รับร่วมกับผู้ร่วมสร้าง Unix อย่างทอมป์สันได้แก่ ACM Turing Prize ในปี 1983 และรางวัล US National Medal of Technology ในปี 1998

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 ตุลาคม 2554 07:50 น.

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แอปเปิลส่งอัปเดต iOS 5 ลงไอโฟน ไอแพด อย่างเป็นทางการ

ตามกำหนดการที่ทางแอปเปิลเปิดเผยในงาน "Let's Talk iPhone" ว่าจะพร้อมปล่อยอัปเดต iOS 5 สำหรับ ไอโฟน 3Gs ไอโฟน 4 ไอพอด ทัช รุ่น 3 และ รุ่น 4 รวมถึง ไอแพด 1 และ 2 ในวันที่ 12 ตุลาคม ล่าสุดทางแอปเปิลก็พร้อมเปิดอัปเดต iOS 5 อย่างเป็นทางการแล้ววันนี้

โดยการอัปเดต iOS 5 ในครั้งนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพราะทางแอปเปิลได้เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานและพัฒนาฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้ามาจาก iOS เวอร์ชัน 4 โดยส่วนที่เด่นที่สุดจะอยู่ที่การเพิ่มระบบ iCloud ที่ใช้ในการสำรองข้อมูลจำพวก เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพ ไฟล์เซฟต่างๆ และการทำให้อุปกรณ์ iOS Device เป็น PC Free หรืออีกความหมายคือ "ไม่จำเป็นต้องพึ่ง iTunes ก็สามารถจัดการเอกสาร รูปภาพ รวมถึงติดตั้งหรือสำรองข้อมูล ในเครื่องได้ด้วยตัวเอง"

สำหรับในส่วนของคุณสมบัติเด่นอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาใน iOS 5 มีดังนี้

- iMessage หรือแอปฯ ที่ใช้ในการส่งข้อความลักษณะ iOS to iOS messaging ผ่านสัญญาณดาต้าแบบเดียวกับ BBM ของ BlackBerry และ WhatsApp
- Notification Center หรือระบบแจ้งเตือนข้อความแบบใหม่ ที่จะใช้ลักษณะดึงจากขอบจอบนลงล่าง อีกทั้งใน iOS 5 ยังมาพร้อมระบบ Push แจ้งเตือนแบบใหม่ ที่จะไม่รบกวนผู้ใช้ระหว่างใช้งานแอปฯ หรือเล่นเกมเหมือนกับใน iOS เวอร์ชันก่อน
- Newsstand หรือชั้นวางหนังสือ ที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด E-Book หรือหนังสือพิมพ์ออนไลน์มาติดตั้งไว้ พร้อมการอัปเดตที่จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ
- Reminders หรือแอปฯ ช่วยในการจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำ (To-Do Lists) ในแต่ละวันหรือแต่ละชั่วโมง
- Twitter ใน iOS 5 จะมีการผนวกรวมทวิตเตอร์ไปกับแอปฯ พื้นฐานที่ผู้ใช้สามารถกดแชร์เพจหรือรูปภาพไปยัง Timeline ทวิตเตอร์ของผู้ใช้ได้
- Camera on Lock Screen สำหรับผู้ใช้ไอโฟน เมื่ออยู่หน้าโฮมสามารถกดปุ่มโฮม 2 ครั้งเพื่อเรียกใช้งานกล้องถ่ายภาพได้ทันที นอกจากนั้นในส่วนของการถ่ายภาพ ผู้ใช้ยังสามารถใช้ปุ่มเพิ่มระดับเสียงแทนปุ่มชัตเตอร์ได้
- Photo Editing ในส่วนของ Photos ผู้ใช้สามารถตกแต่งภาพที่ถ่ายได้ตั้งแต่ครอปภาพ แก้ตาแดงหรือปรับ Auto Enhance
- Phone Recents Edit ใน iOS 5 ผู้ใช้สามารถกดลบเบอร์โทรศัพท์ทีละเบอร์โทรได้แล้ว
- Add New Album to Photos App ในส่วน Photos App ผู้ใช้สามารถสร้างและจัดอัลบั้มใหม่ พร้อมความสามารถในการลบและย้ายภาพได้ตามต้องการ
- Over-the-air updates เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปเดต iOS ได้โดยตรงจากเครื่อง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่ง iTunes
- Safari Tab (iPad) ในแอปฯ Safari บนไอแพดจะมีการเพิ่มแท็บเข้ามาให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มหน้า Reader View เข้ามาเช่นกัน
- Restore from iCloud การ Restore ข้อมูลกลับมาบน iDevice สามารถทำผ่านระบบคลาวด์และอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องพึ่งไอจูน
- iTunes WiFi Sync สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการสำรองข้อมูลไว้ใน iTunes ก็สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สายซิงค์อีกต่อไป แต่สามารถซิงค์ข้อมูลผ่าน WiFi ได้ทันที

ส่วนการอัปเดต iOS 5 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจาก iTunes โดยต้องอัปเดต iTunes เป็นเวอร์ชันล่าสุด 10.5 ก่อนถึงจะสามารถอัปเดต iOS 5 ได้

**แอปฯ บน "App Store" พร้อมใจอัปเดตรองรับ iOS 5**

หลังจากการปล่อยอัปเดต iOS 5 อย่างเป็นทางการไม่ถึง 10 นาที เหล่าบรรดาผู้พัฒนาแอปฯ บน App Store ก็พร้อมใจกันปล่อยอัปเดตแอปฯ ของตนใหม่ ให้รองรับกับการใช้งานบนระบบปฏิบัติการ iOS 5 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการอัปเดตเพื่อรองรับการใช้งานมากกว่า เช่น Viber, Evernote แต่บางแอปฯ กลับมีการดึงคุณสมบัติใหม่ๆ บน iOS 5 มาใช้ ยกตัวอย่างเช่น

แอปฯ Foursquare ที่อัปเดตเวอร์ชัน 4.0 รองรับระบบ Radar ที่เป็นการดึงความสามารถในเรื่องระบบแจ้งเตือนของ iOS 5 มาใช้ โดย Radar จะเป็นเหมือนการที่เรามาร์คสถานที่ไว้ว่าจะไปที่ใด ซึ่งเมื่อผู้ใช้เดินทางเข้าใกล้สถานที่นั้นระบบจะแจ้งเตือนให้เราทราบทันทีแบบอัตโนมัติ

หรือในส่วนของแอปฯ HootSuite ที่สามารถดึงระบบโพสต์ทวิตเตอร์ไปรวมกับระบบแชร์ทวิตเตอร์บน iOS 5 ได้..........

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 ตุลาคม 2554 03:23 น.


วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไมโครซอฟท์ดิ้นหนีตาย โฟกัสคอนซูเมอร์มากขึ้น

ไมโครซอฟท์ไทย ปรับวิสัยทัศน์ตามบริษัทแม่ มุ่งหน้าสู่ เซอร์วิส คัมพานี หวังลบภาพบริษัทขายซอฟต์แวร์ให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ในไทย สร้างฟุตพรินต์เทคโนโลยีเข้าถึงคนไทย 70 ล้านคน

นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าในปีงบประมาณที่ผ่านมาของไมโครซอฟท์ประเทศไทยถือว่า เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเลข 2 หลักโดยยังคงเป็นผู้นำด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง เห็นได้จากมีผู้ใช้วินโดวส์ ไลฟ์ในไทยถึง 11.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่วินโดวส์ โฟน มีผู้ใช้ราว 235,000 เครื่อง และผู้ใช้ไมโครซอฟท์ เอ็กซ์พลอเลอร์อยู่ 13.5 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้พีซีที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ถึง 19.1 ล้านคน และในจำนวนนั้น มีผู้ใช้งานโปรแกรมออฟฟิศอยู่ 2.79 ล้านไลเซนส์ ในขณะที่คนไทยมีการใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์อยู่ทั้งหมด 16.7 ล้านคน

'กิจกรรมที่ไมโครซอฟท์ทำให้กับสังคมไทยในแต่ละปี ในหลากหลายโปรแกรมนั้น เท่ากับว่าคนไทยได้มีโอกาสสัมผัสหรือใช้งานผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ในเวลานี้ถึง 63.8 ล้านคน ซึ่งถือว่าไมโครซอฟท์มีพื้นฐานในไทยที่กว้างมาก'

สำหรับทิศทางของไมโครซอฟท์ในไทยอีก 3 ปีข้างหน้า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไมโครซอฟท์ โดยซีอีโอ 'สตีฟ บัลเมอร์' ต้องการให้ไมโครซอฟท์ก้าวสู่เซอร์วิสคัมพานี โดยเปลี่ยนภาพลักษณ์ จากเดิมที่หลายคนมองว่า ไมโครซอฟท์เป็นซอฟท์แวร์คัมพานี นั่นจึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ We Make 70 Million Lives Better ที่ไมโครซอฟท์จะสัมผัสกับคนไทยถึง 70 ล้านคนภายใน 3 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจของไมโครซอฟท์ที่ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อมอบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ

ในปีงบประมาณ 2012 ไมโครซอฟท์จะมุ่งเข้าสู่ตลาดคอมซูเมอร์มากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ไมโครซอฟท์เริ่มทำแล้วในบางเรื่อง เช่น เรื่องสถานที่ (Location) เป็นกระแสนิยมที่ผู้คนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ประกอบกับการใช้งานสมาร์ทโฟนที่แสดงสถานที่ใช้งาน ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้งานในแต่ละพื้นที่ตรงกับความต้องการ

ในต้นปีหน้า ไมโครซอฟท์ จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน เวอร์ชัน 7.5 หรือที่รู้จักในชื่อ 'แมงโก้' และจะเห็นมาร์เกตเพรสที่พัฒนาเป็นภาษาไทยช่วงสิ้นปีหน้า

'ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยยังเพิ่งเริ่มต้นเวลานี้มีผู้ใช้อยู่ประมาณ 2.5 ล้านเครื่องเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ช้าที่ไมโครซอฟท์จะเข้ามาทำตลาดในไทยปีหน้า'

นอกจากนี้ โซเชียล คอมพิวติ้ง ที่เป็นการประมวลผลแบบสังคมช่วยให้คนติดต่อสื่อสาร มีการทำกิจกรรมแบบเวิร์กแอนด์เพลย์ร่วมกันในรูปแบบอวตารได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงการให้บริการคลาวด์ คอมพิวตี้งในแบบแมส ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ของฮอตเมลที่จะพร้อมใช้งานในวันที่ 3 ต.ค.54 ในเรื่องของสแปมเมลที่จะลดลงไปได้ถึง 33% รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สตอเรจในการเก็บข้อมูลที่จะไม่จำกัด และในต้นปีหน้า จะมีการเปิดตัวบริการ ออฟฟิศ 386 ซึ่งถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของไมโครซอฟท์ที่อยู่ในรูปแบบคิดตามการใช้งานสำหรับตลาดคอนซูเมอร์ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่ไมโครซอฟท์ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างกลุ่มทรู

ตามมาด้วยการเปิดแคมเปญใหญ่ของไมโครซอฟท์ช่วงเดือนม.ค.ปีหน้า เพื่อส่งเสริมให้คนไทยใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็นวินโดวส์ ออฟฟิศ วินโดวส์โฟน วินโดวส์ ไลฟ์ พร้อมกันนี้ยังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่าง บิง และ คินเน็ค เอ็กซ์บ็อกซ์ แต่ความชัดเจนของเครื่องเล่นเกมอย่างเอ็กซ์บ็อก 360 ในไทยนั้น คาดว่าจะเห็นในเฟสถัดไป หลังวันนี้ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวไปแล้ว 30 ประเทศ

'รายได้ของไมโครซอฟท์ระหว่างกลุ่มตลาดเอนเตอร์ไพรส์ กับคอนซูเมอร์ในไทย ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านั้น จะมีสัดส่วนมาจากกลุ่มเอนเตอร์ไพรส์ 2 ใน 3 ที่เหลือจะเป็นกลุ่มคอนซูเมอร์'

Company Related Link :
Microsoft


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 ตุลาคม 2554 11:19 น.

ศูนย์ข้อมูลใหม่ออราเคิล "เร็วเท่าความคิด"

ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์อันดับ 3 ของโลกอย่างออราเคิล (Oracle) เปิดตัวเครื่องวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์หรือศูนย์ข้อมูลแบบออลอินวันรุ่นใหม่ล่าสุด การันตีว่าการรวมกันของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ออราเคิลพัฒนาขึ้นจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ในความเร็วระดับ"ไวเท่าความคิด" ระบุว่าใช้เทคโนโลยีคู่ขนานจนทำให้ศูนย์ข้อมูลรุ่นล่าสุดนี้มีความเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่าเดิม 10 เท่าตัว

ระบบวิเคราะห์ข้อมูลความเร็วสูงของออราเคิลนี้มีชื่อว่า Exalytics ถูกเปิดตัวโดยแลร์รี่ เอลิสัน (Larry Ellison) ซีอีโอออราเคิลซึ่งประกาศด้วยฐานะผลิตภัณฑ์ดาต้าเซ็นเตอร์ครบวงจรรุ่นล่าสุดของบริษัท บนเวทีงานประชุมประจำปี OpenWorld ซึ่งออราเคิลจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโกในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานมากกว่า 40,000 คนจากทั่วมุมโลก

ศูนย์ข้อมูลนั้นเป็นระบบคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก เหมาะกับการใช้งานในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร โรงพยาบาล หรืออุตสาหกรรมที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ที่ผ่านมา ออราเคิลนั้นเป็นบริษัทที่เน้นพัฒนาเฉพาะซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล จนเมื่อไม่กี่ปีให้หลัง ออราเคิลจึงเปลี่ยนนโยบายบริษัท มามุ่งพัฒนาและทำตลาดฮาร์ดแวร์ระบบศูนย์ข้อมูลอย่างเต็มตัว

สำหรับ Exalytics ออราเคิลระบุว่าได้พัฒนาบนเทคโนโลยีการประมวลผลคู่ขนานหรือ parallel computing ซึ่งเป็นการนำระบบประมวลผลและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่นๆมาทำงานพร้อมกันแบบเสมือนชนิดไร้รอยต่อ จนสามารถพัฒนาความสามารถโดยรวมของระบบได้จนเป็นรูปธรรม ซึ่งในเชิงเทคนิค Exalytics จะใช้เทคโนโลยี in-memory database หรือการประมวลผลข้อมูลในระดับหน่วยความจำสำรองหรือ RAM แทนที่จะเป็นการเรียกข้อมูลมาอ่านในระดับดิสก์เก็บข้อมูล ทำให้ระบบสามารถทำงานได้เร็วขึ้น

"ถามว่าเราทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์นี้ทำงานเร็วขึ้น 10 เท่าตัว คำตอบคือการทำงานคู่ขนานทุกอย่าง ศูนย์ข้อมูลล่าสุดของเราประกอบด้วยเครือข่ายคู่ขนานจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นความเร็วที่สัมผัสได้"

Exalytics มาพร้อมหน่วยประมวลผล 40 คอร์ และ DRAM ความจุ 1TB แต่ใช้เทคโนโลยีบีบอัดข้อมูลจนทำให้ DRAM ใน Exalytics มีความจุข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 5-10TB ไม่มีข้อมูลอัตราความเร็วของระบบที่แน่นอน มีเพียงการใช้คำว่า"ไวเท่าความคิด"ซึ่งออราเคิลการันตีว่าไม่เกินจริงเมื่อระบบทำงานบนหน้าตาโปรแกรมหรือยูสเซอร์อินเทอร์เฟสที่โต้ตอบได้แบบใหม่ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ออราเคิลไม่ใช่บริษัทเดียวที่สามารถพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลครบวงจรความเร็วสูงพิเศษ เพราะคู่แข่งอย่างเอสเอพี (SAP) ก็มีแผนวางจำหน่ายระบบประมวลผล in-memory เช่นกันในชื่อ HANA ซึ่งคาดว่านี่จะเป็นทิศทางการแข่งขันในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

นอกจาก Exalytics ในงานปีนี้ ซีอีโอออราเคิลยังเปิดตัวคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ตระกูล SPARC Solaris รุ่นใหม่ล่าสุดด้วย ผลจากการเข้าซื้อบริษัทผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ชื่อดัง "ซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems)" ด้วยเงินมูลค่า 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดหลังจากออราเคิลประกาศร่วมวงในตลาดจำหน่ายฮาร์ดแวร์ระบบศูนย์ข้อมูลเพื่อแข่งขันกับอดีตพันธมิตรอย่างเอชพี (Hewlett-Packard) แบบเต็มตัว

การเปิดตัว Exalytics ถือเป็นการต่อยอดจากการเปิดตัว Exalogic ระบบศูนย์ข้อมูลครบวงจรทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของออราเคิลในปีที่แล้ว และการเปิดตัวเครื่องแม่ข่ายฐานข้อมูลตระกูล Exadata ซึ่งออราเคิลระบุว่าได้ติดตั้งแก่ลูกค้าทั่วโลกแล้วกว่า 1,000 ตัว มีเป้าหมายจำหน่ายอีก 3,000 ตัวในปีนี้ คาดว่าแนวโน้มตลาดจะยังไปได้ดีต่อเนื่อง

คู่แข่งของออราเคิลนั้นนอกจากจะมียักษ์ใหญ่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลในยุโรปอย่างเอสเอพี ยังมียักษ์ใหญ่สีฟ้าไอบีเอ็ม (IBM) ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ฐานข้อมูลโลก

ความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ของออราเคิลในวงการโลก คือการฟ้องร้องกูเกิล (Google) ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีชุดคำสั่งภาษาจาวาของซันฯในแอนดรอยด์ ความคืบหน้าคดีในขณะนี้คือการประเมินความเสียหายในชั้นศาล เบื้องต้นออราเคิลยืนยันว่าการที่กูเกิลละเมิดเทคโนโลยีของซัน ที่กลายเป็นสมบัติของออราเคิลในขณะนี้ ทำให้ออราเคิลได้รับความเสียหายมากกว่า 1.16 พันล้านเหรียญ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาคดีแต่อย่างใด

Company Related Link :
Oracle


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 ตุลาคม 2554 11:08 น.