วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

Facebook, Myspace และ Twitter ผนึกกำลังต้าน Google

กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับเครือข่ายสังคมรายใหญ่ทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter) และมายสเปซ (MySpace) ที่ออกมาต่อต้านการปรับปรุงผลการค้นหาข้อมูลครั้งใหม่ของกูเกิล (Google) อย่างจริงจัง โดยแม้การปรับปรุงครั้งนี้จะยังจำกัดอยู่ที่ในสหรัฐฯ แต่ทั้งหมดถือเป็นก้าวสำคัญที่มีส่วนทำลายภาพลักษณ์กูเกิลที่มีมาตลอดแบบน่าใจหาย

ต้นเหตุของการต่อต้านครั้งนี้มาจากการปรับปรุงระบบจัดอันดับผลการค้นหาหรือ rankings ในเว็บไซต์กูเกิลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าเนื้อหาในเครือข่ายสังคมกูเกิลพลัส (Google+) ทั้งรูป วิดีโอ ความเห็น และลิงก์ล้วนถูกนำมาแสดงไว้แทนที่จะเป็นเนื้อหาจากเครือข่ายสังคมที่ได้รับการยอมรับมากกว่าอย่างทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟซบุ๊ก (Facebook)

ทวิตเตอร์เป็นรายแรกที่ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่กูเกิลให้ชื่อเรียกว่า Search Plus Your World อย่างชัดเจน โดยมองว่าการกระทำเช่นนี้ของกูเกิลนั้นเข้าข่ายปิดกั้นการแข่งขันและเจตนาผูกขาดการค้าในตลาดออนไลน์ เพราะจงใจใช้อิทธิพลในตลาดที่ตัวเองมี เป็นทางลัดให้บริการเครือข่ายของกูเกิลเติบโตอย่างไม่เหมาะสม

ที่ว่าไม่เหมาะสมนั้นเป็นเพราะ Search Plus Your World จะทำให้ผู้ใช้ในสหรัฐฯเห็นข้อมูลในกูเกิลพลัสแม้ข้อมูลในเครือข่ายสังคมอื่นจะมีคุณภาพมากกว่าและอัปเดทใหม่กว่า จุดนี้กูเกิลอ้างว่าเป็นเพราะเครือข่ายสังคมรายอื่นเลือกจะไม่ต่อสัญญากับกูเกิลในการร่วมมือให้ข้อมูลในเครือข่ายสามารถปรากฏในผลการค้นหา ขณะที่เครือข่ายสังคมหลายค่ายตราหน้าว่ากูเกิลกำลังทำตัวผิดจากปรัญชาบริษัท Don't Be Evil ด้วยท่าทีหวังผลประโยชน์ตนจนไม่คำนึงว่าผู้ใช้จะไม่ได้รับข้อมูลที่ดีที่สุด

แม้จะมีการเรียกร้องให้กรมการค้าสหรัฐฯหรือ Federal Trade Commission ตรวจสอบกูเกิลโดยละเอียด และสงครามน้ำลายที่โต้ตอบไปมาเกี่ยวกับการคัดค้าน Search Plus Your World ของกูเกิล แต่วิศวกรของ Facebook, Twitter และ Myspace ก็ไม่สมใจจนเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งหมดได้ร่วมมือเปิดให้ชาวออนไลน์ติดตั้งโปรแกรมเสริมซึ่งทั้ง 3 ให้ชื่อว่า Don't Be Evil bookmarklet โดยเปิดให้ชาวออนไลน์ดึงไปติดตั้งในเว็บเบราวเซอร์ที่เว็บไซต์ Focusontheuser.org เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับผลการค้นหาปกติ เรียกว่าเป็นโปรแกรมที่หลบการทำงาน Search Plus Your World แบบเบ็ดเสร็จ

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า โปรแกรมเสริมนี้ใช้เวลาสร้างในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี Blake Ross ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และ Tom Occhino และ Marshall Roch วิศวกรซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กเป็นผู้นำทีม แต่ไม่แน่ชัดว่าทั้งหมดคือผู้ที่ตั้งชื่อ Don't Be Evil สุดแสบให้กับโปรแกรมนี้หรือไม่ ซึ่งแม้แต่เด็กมัธยมยังรู้ว่านี่คือการ"หลอกด่า"กูเกิลอย่างชัดเจน

ไม่เพียงการเปิดให้ผู้ใช้ในสหรัฐฯดึงโปรแกรมเสริม Don't Be Evil ไปใช้งาน ในเว็บไซต์ Focus on the User ยังอธิบายว่าหากผู้ใช้ค้นหาคำว่า "cooking" บนกูเกิลในวันนี้ จะพบกับลิงก์ที่เกี่ยวกับสุดยอดพ่อครัว Jamie Oliver แต่ลิงก์ดังกล่าวไม่ใช่ลิงก์โปรไฟล์ทวิตเตอร์ของเชฟ Jamie แต่เป็นโปรไฟล์ในบริการกูเกิลพลัสซึ่งมีการอัปเดทครั้งล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แต่ทวิตเตอร์ของเชฟ Jamie นั้นอัปเดทเร็วกว่า ทั้งหมดนี้แสดงถึงความไม่เหมาะสมในการจัดอันดับหรือ ranking ของกูเกิลจนทำให้ผู้ใช้ไม่ได้รับข้อมูลที่ดีพอ

ในขณะที่กูเกิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการคลอดโปรแกรมเสริม Don't Be Evil ผู้บริหารเฟซบุ๊กอย่าง Ross ซึ่งเป็นมีดีกรีเป็น 1 ใน 3 ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บเบราว์เซอร์ Firefox กับมอซิลานั้นโพสต์เผยแพร่โปรแกรมเสริม Don't Be Evil นี้ทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของตัวเองอย่างเต็มที่

สำหรับคนไทย Search Plus Your World จะไม่มีผลใดๆกับการค้นหาข้อมูลในเมืองไทย แต่สำหรับในสหรัฐฯ ผู้สนใจติดตั้งโปรแกรมเสริมนี้สามารถติดตามการทำงานและวิธีใช้ได้จากเว็บไซต์ ซึ่งจะเปิดเผยชุดคำสั่งเพื่อเปิดให้นักพัฒนาร่วมกันสร้างสรรค์ความสามารถเพิ่มเติมต่อโดยเสรี

Company Relate Link :
Google

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2555 16:55 น.

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

RIM หุ้นพุ่งรับข่าวซัมซุงสนใจซื้อ BB

มูลค่าหุ้นบริษัท Research In Motion (RIM) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน BlackBerry หรือบีบีพุ่งพรวด 8% หลังมีรายงานข่าวว่าซัมซุงกำลังสนใจซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้ผลิตบีบี ล่าสุดผู้บริหารซัมซุงปัดยังไม่สนใจซื้อตามที่เป็นข่าว

สื่อต่างประเทศรายงานว่า มูลค่าหุ้นริมในตลาดหุ้นนิวยอร์กวันอังคารที่ 17 มกราคมนั้นเพิ่มเป็น 17.47 เหรียญที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นผลจากรายงานของสำนักข่าว BGR ซึ่งอ้างแหล่งข่าวนิรนามว่าซัมซุงกำลังสนใจซื้อกิจการผลิตบีบีจาก RIM แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้เนื่องจากมูลค่าข้อเสนอซื้อขายยังสูงเกินไป

ที่ผ่านมา ยอดขายบีบีที่ตกต่ำลงเรื่อยๆนั้นทำให้มูลค่าหุ้นของ RIM ลดลงต่อเนื่อง 75% ตลอดปี 2011 ซึ่งหากซัมซุงสามารถซื้อกิจการบีบีได้จริง โอกาสที่ส่วนแบ่งตลาดบีบีจะเพิ่มขึ้นนั้นย่อมสูงขึ้น ขณะที่ซัมซุงก็จะมีระบบปฏิบัติการหรือ operating system ที่จะเป็นไม้ตายให้ซัมซุงต่อกรกับแอปเปิลได้ดีขึ้นด้วย โดยขณะนี้ ซัมซุงนั้นผลิตสมาร์ทโฟนหลายรุ่นบนระบบปฏิบัติการ Android ของกูเกิล และ Windows Phone ของไมโครซอฟท์ ซึ่งล้วนเป็นระบบปฏิบัติการที่คู่แข่งอย่างเอชทีซี (HTC) ก็ใช้งานเช่นกัน

นักวิเคราะห์เชื่อว่าซัมซุงมีความสนใจซื้อบีบีจริง เพราะซัมซุงยังไม่มีทางออกเรื่องระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนประสิทธิภาพสูงของตัวเอง ซึ่งลำพังระบบปฏิบัติการ Bada ที่ซัมซุงพัฒนาขึ้นนั้นยังไม่มีบารมีแก่กล้าพอจะต่อกรกับคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดได้ ทำให้ขณะนี้ซัมซุงยังต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่นซึ่งมีส่วนทำให้ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม James Chung โฆษกซัมซุงออกแถลงการอย่างเป็นทางการว่าซัมซุง"ไม่เคย"สนใจซื้อ RIM อย่างที่เป็นข่าว โดยย้ำว่าไม่มีการติดต่อใดๆระหว่างทั้ง 2 บริษัท ทั้งในแง่การซื้อขายบริษัท และการเจรจาเพื่อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์การใช้เทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ โฆษก RIM ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ

นี่ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของ RIM หลังจากมีข่าวว่าส่วนแบ่งตลาดของบีบีในสหรัฐฯนั้นลดลงจาก 7.1% เหลือ 6.5% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยการสำรวจของคอมสกอร์ (ComScore) พบว่าซัมซุงซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Android รายใหญ่ที่สุดนั้นมีส่วนแบ่งตลาดในแดนลุงแซมถึง 25.6% เพิ่มจาก 25.3% เหนือกว่าแอปเปิลที่มีส่วนแบ่งราว 11.2% เพิ่มขึ้น 1.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

Company Related Link :
RIM
Samsung

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2555 10:37 น.

ทำไม "วิกิพีเดีย" ต้องปิดเว็บประท้วง "SOPA" : Cyber Talk

วันที่ 18 มกราคม 2555 คือวันสำคัญที่โลกต้องบันทึกว่าสารานุกรมออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) ประกาศ"ปิดบริการ"ชั่วคราว 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act) หรือชื่อย่อว่า "SOPA" คำถามคือกฏหมายนี้มีจุดบกพร่องใดจึงสร้างความไม่พอใจจนวิกิพีเดียต้องออกโรงประท้วงอย่างชัดเจนเช่นนี้

ตามข้อมูลจากวิกิพีเดีย SOPA นั้นเป็นร่างรัฐบัญญัติที่ลามาร์ สมิธ (Lamar Smith) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 พร้อมเพื่อนสมาชิกสิบสองคนจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสอง มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความสามารถของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์ดิจิตอล บนจุดประสงค์หลักคือเพื่อต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าปลอมในโลกออนไลน์

สิ่งที่วิกิพีเดียยอมรับไม่ได้คือ SOPA นั้นให้อำนาจกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (Department of Justice) และเจ้าของลิขสิทธิ์มากเกินไป เพราะสามารถขอให้ศาลสั่งปราบปรามบรรดาเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เต็มที่

หาก SOPA มีผลบังคับใช้ในสหรัฐฯ ศาลจะสามารถสั่งห้ามทุกเว็บไซต์คบค้าหากินกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งครอบคลุมถึงบรรดาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์หรือเครือข่ายชำระเงินออนไลน์ เช่น เพย์แพล (PayPal) โดยบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ (search engine) อย่างกูเกิลหรือเว็บท่าต่างๆจะถูกสั่งห้ามเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์เหล่านั้น ขณะเดียวกัน ศาลจะสามารถสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้สะกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์นั้นได้

ที่สำคัญ ร่างรัฐบัญญัตินี้ยังกำหนดให้การใช้ข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ และการใด ๆ ที่บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกระทำไปเพื่อต่อต้านเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ จะไม่เป็นความผิดและไม่อยู่ในความรับผิดทุกประการ

ทั้งหมดนี้ทำให้ความเห็นในสหรัฐฯแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายเจ้าของคอนเทนต์ทั่งภาพยนตร์ เพลง ภาพ รวมถึงเนื้อหาทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นสนับสนุนกฏหมายข้อนี้อย่างเต็มที่ เพราะจะได้รับการคุ้มครองผลงานอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน

แต่ฝ่ายผู้ให้บริการเว็บไซต์ที่รับรู้ธรรมชาติของชาวออนไลน์ รู้ดีว่ากฏหมายข้อนี้จะทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้โลกอินเทอร์เน็ตสูญเสียพลังแห่งการเรียนรู้ แถมยังคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ไม่เพียงสารานุกรมออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวิกิพีเดีย ชุมชนออนไลน์ชื่อดังในสหรัฐฯอย่าง reddit.com ก็ปิดเว็บไซต์ประท้วงร่างกฏหมายนี้เช่นกัน ขณะที่ผู้ให้บริการเว็บล็อก WordPress ก็เขียนบล็อกเชิญชวนให้ผู้ใช้ลุกขึ้นมาต่อต้านร่างกฏหมาย SOPA นี้

ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนร่างกฏหมายนี้ยังถูกกดดันจากโลกออนไลน์ จนต้องเปลี่ยนท่าทีเลิกสนับสนุน SOPA อย่างชัดเจน

ล่าสุด 17 มกราคม 2555 ร่างกฏหมาย SOPA ถูกยุติการเสนอร่างต่อวุฒิสภาสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกลุ่มผู้แทนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังเสนอร่างกฏหมายลักษณะเดียวกัน นั่นคือร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองไอพี (Protect IP Act) หรือ PIPA ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่การบล็อค DNS เมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน

การปิดเว็บไซต์ประท้วงครั้งนี้ เกิดขึ้นบนความหวังให้ชาวออนไลน์ในสหรัฐฯเข้าใจถึงร่างกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ทั้ง SOPA ที่เพิ่งแท้งไป และ PIPA ที่วิศวกรอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งชาวออนไลน์ควรต้องเข้าใจและรับทราบความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา

เอกสารชี้แจงเรื่องการประท้วงร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ฉบับภาษาอังกฤษ

English Wikipedia anti-SOPA blackout
Press releases/English Wikipedia to go dark

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มกราคม 2555 17:23 น.

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

พบหนอนคอมพ์ขโมยชื่อผู้ใช้ Facebook 45,000 ชื่อ


พบโปรแกรมสอดแนมคอมพิวเตอร์ตัวร้ายที่ขโมยชื่อบัญชีและรหัสผ่านของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก (Facebook) ไปได้มากกว่า 45,000 ชื่อ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่ถูกหางเลขคือชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ

นักวิจัยบริษัทรักษาความปลอดภัยบนคอมพิวเตอร์ Securlet รายงานการพบโปรแกรมร้ายนี้ไว้บนเว็บไซต์ โดยระบุว่าโปรแกรมที่สามารถขโมยข้อมูลชื่อและรหัสผ่านผู้ใช้ Facebook ไปได้มากกว่า 45,000 ชื่อนี้มีนามว่า Ramnit โดยข้อมูลจากอีกบริษัทรักษาความปลอดภัยอย่าง McAfee ชี้ว่าหนอนคอมพ์นี้สามารถแพร่กระจายผ่านโปรแกรมตระกูลวินโดวส์อย่าง Microsoft Office รวมถึงไฟล์ HTML

บริษัท Securlet ตั้งข้อสงสัยว่า ผู้โจมตีที่อยู่เบื้องหลังการสร้างหนอน Ramnit นั้นกำลังเตรียมการสวมรอยเหยื่อที่ข้อมูลชื่อบัญชีและรหัสผ่าน Facebook ถูกขโมยไป เพื่อส่งต่อลิงก์อันตรายให้กับเพื่อนของเหยื่อ ซึ่งจะทำให้หนอนคอมพ์แพร่พันธุ์ต่อไปไม่รู้จบบน Facebook

อย่างไรก็ตาม Securlet เชื่อว่าภัยของหนอน Ramnit จะร้ายแรงขึ้นเพราะความจริงเรื่องชาวออนไลน์จำนวนไม่น้อยนิยมตั้งรหัสผ่านบริการออนไลน์ให้เหมือนกันหมด ทำให้มีโอกาสที่ชื่อบัญชีและรหัสผ่านของผู้ใช้ Facebook จะถูกนำไปทดลองใช้กับบริการ Gmail, เครือข่าย Corporate SSL VPN สำหรับส่งข้อมูลในองค์กร, บริการเอาท์ลุค Outlook Web Access และอื่นๆซึ่งอาจทำให้นักสร้างหนอนสามารถเข้าถึงเครือข่ายขององค์กรบริษัทอื่นๆได้

Ramnit นั้นถูกตรวจพบครั้งแรกในเดือนเมษายน 2010 ก่อนนี้ Ramnit เป็นหนอนที่มุ่งขโมยข้อมูลสำคัญจากการดักจับโปรโตคอลรับส่งไฟล์ FTP และคุ้กกี้ในเบราว์เซอร์ กระทั่งสิงหาคมปี 2011 หนอน Ramnit จึงได้ฤกษ์อาละวาดในองค์กรสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นช่วงหลังจากผู้สร้างดึงชุดคำสั่งซอร์สโค้ดบอตเน็ต Zeus มาใช้จนทำให้หนอนสามารถลักลอบเข้าสู่เครือข่ายข้อมูลสถาบันการเงินได้จากระยะไกล ครั้งนั้นคาดว่ามีเครื่องที่ได้รับเชื้อหนอน Ramnit มากกว่า 800,000 เครื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2011 ถึงปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับข้อสรุปเรื่องการขโมยชื่อบัญชีผู้ใช้ Facebook มากกว่า 45,000 รายการนั้นมาจากการตรวจพบข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ของ Ramnit ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลคำแนะนำถึงวิธีการสังเกตว่าชื่อบัญชีของผู้ใช้รายใดถูกขโมยไป เบื้องต้นขอให้ผู้ใช้ระมัดระวังการคลิกลิงก์ผิดปกติให้สม่ำเสมอจึงจะดีที่สุด

Related Link :
Facebook

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 มกราคม 2555 17:19 น.

ตามไปดูศาสนาใหม่ "Kopimism" ศาสนาแห่งการแชร์ไฟล์!!!


เป็นไปได้ทุกเรื่องสำหรับโลกใบนี้ ล่าสุด รัฐบาลสวีเดนประกาศรับรองศาสนาใหม่นามว่า "Kopimism" ศาสนานี้มี"ข้อมูล"เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการ"คัดลอกข้อมูลแล้วส่งต่อ"หรือการแชร์ไฟล์นั้นถือเป็นศีลปฏิบัติ แถมยังใช้ "CTRL+C และ CTRL+V" ซึ่งเป็นคีย์ลัดในการคัดลอกข้อมูลมาเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา บนแนวคิดว่าการคัดลอกแล้วส่งต่อข้อมูลทุกชนิดนั้นเป็นการมอบคุณค่าจากข้อมูลแก่ชาวโลกชนิดทวีคูณ

แน่นอนว่าฝ่ายปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาฟังแล้วงงเป็นไก่ตาแตก เพราะหากโลกมีคนอ้างศาสนานี้แล้วลงมือแชร์ไฟล์มากมาย แรงผลักดันในการสร้างผลงานของคนเหล่านี้อาจมอดไหม้ลง แถมกระบวนการปกป้องสิทธิก็จะลดความเข้มข้นลงเมื่อรัฐบาลสวีเดนให้การรับรองศาสนานี้อย่างเป็นทางการแล้ว

***จากมันสมองนักศึกษาปรัชญาอายุ 19

ศาสนา Kopimism นี้ก่อตั้งโดยนักศึกษาเอกปรัชญาอายุ 19 ปี "ไอแซค เกอร์สัน (Isak Gerson)" เกิดขึ้นบนความหวังให้การแชร์ไฟล์หรือ file-sharing นั้นได้รับการปกป้องทางศาสนา ขณะนี้มีการก่อตั้งศาสนจักรแห่ง Kopimism หรือ Church of Kopimism เพื่อออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเรื่องที่สร้างความฮือฮาแก่โลกอินเทอร์เน็ตคือการประกาศว่า "kopyacting" หรือการแชร์ข้อมูลด้วยการคัดลอกนั้นเป็นบริการทางศาสนาที่ถูกต้องเหมาะสม

กุสตาฟ ไนป์ (Gustav Nipe) ผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาแห่งการแชร์ไฟล์นี้ระบุว่า การได้รับการรับรองจากรัฐบาลสวีเดนนั้นเป็น"ก้าวที่ยิ่งใหญ่"ของศาสนา แม้จะถูกปฏิเสธจนต้องยื่นเรื่องซ้ำถึง 3 ครั้ง

แม้จะยึด CTRL+C และ CTRL+V (คีย์ลัดสำหรับการคัดลอกและวางข้อมูล) เป็นเครื่องหมายของศาสนา แต่กลุ่มยืนยันว่าไม่มีเจตนาประชาสัมพันธ์ให้มีการแชร์ไฟล์ที่ผิดกฏหมาย แต่ต้องการเน้นแนวคิดเรื่องการเปิดสังคมแห่งการเรียนรู้แก่สาธารณชน

"สำหรับศาสนจักร Church of Kopimism ข้อมูลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการก็อปปี้ถือเป็นศีล เมื่อข้อมูลมีคุณค่าในตัวเอง และคุณค่านั้นสามารถเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณได้จากการก็อปปี้ ดังนั้นการก็อปปี้จึงเป็นศูนย์กลางของศาสนาและสมาชิก"

***ยิ่งลอกยิ่งได้บุญ

การได้รับการรับรองจากรัฐบาลสวีเดนจะทำให้กลุ่มไม่ต้องกลัวในการ"ทำความดีตามความเชื่อของศาสนา" โดยขณะนี้ เว็บไซต์ของกลุ่ม (http://kopimistsamfundet.se/) นั้นเผยแพร่ข่าวการได้รับการรับรองครั้งนี้อย่างเต็มที่

เรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่า กระบวนการแชร์ไฟล์ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นศาสนาใหม่นั้นจะสร้างผลกระทบเล็กน้อยในสังคม เพราะสิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าการคัดลอกแล้วแชร์ไฟล์จะเป็นเรื่องถูกกฏหมาย แต่สังคมการคัดลอกไฟล์อาจจะได้รับการยอมรับตามหลักศาสนาซึ่งอาจทำให้ผู้คัดลอกไฟล์ได้รับการยกย่อง

ยังไม่นับรวมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจำเป็นต้องคุ้มครองเพื่อให้นักสร้างสรรค์ข้อมูลมีแรงผลักดันในการแต่งแต้มผลงาน ซึ่งทั้งหมดยังไม่มีรายงานความเห็นจากรัฐบาลสวีเดนในขณะนี้

เห็นอย่างนี้แล้ว คุณอยากเข้าร่วมลัทธิแห่งการแชร์ไฟล์บ้างไหม?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 มกราคม 2555 09:34 น.