วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กระหึ่ม “Airtime” บริการวิดีโอแชตที่อาสาเป็น “โทรศัพท์” บนเฟซบุ๊ก

ฌอน ปาร์เกอร์ (Sean Parker) และชาวน์ แฟนนิง (Shawn Fanning) สองผู้ร่วมก่อตั้งบริการแชร์ไฟล์เพลง “แนปสเตอร์ (Napster)” ซึ่งเป็นข่าวดังเมื่อ 10 ปีก่อน ได้ร่วมใจคลอดบริการใหม่อีกครั้งซึ่งเน้นให้บริการเพื่อนมาร่วมทำวิดีโอแบตหรือการสนทนาแบบเห็นหน้าบนเว็บไซต์ หวังแพร่หลายระดับ “โทรศัพท์” บนเครือข่ายสังคมเบอร์ 1 อย่างเฟซบุ๊ก
      
       บริการสนทนาแบบเห็นภาพหรือวิดีโอแชตของสองผู้ก่อตั้งแนปสเตอร์นี้ถูกตั้งชื่อว่า แอร์ไทม์ (Airtime) โดยแม้จะเป็นเว็บไซต์แยกต่างหาก ผู้ที่สามารถใช้แอร์ไทม์ได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกบริการเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กด้วย จุดนี้ถือเป็นโอกาสมากกว่าข้อจำกัดเพราะจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในปัจจุบันนั้นมีมากกว่า 950 ล้านคนแล้ว
      
       ทั้งหมดนี้ ปาร์เกอร์ให้สัมภาษณ์ว่า แอร์ไทม์ไม่ใช่เครือข่ายสังคมรูปแบบใหม่ที่ตั้งใจแข่งขันกับเฟซบุ๊ก (Facebook) บริการเครือข่ายสังคมซึ่งเป็นเจ้าตลาดเครือข่ายสังคมในขณะนี้ จุดยืนที่แอร์ไทม์วางไว้คือการเป็นมากกว่าเครือข่ายสังคมซึ่งคนที่เป็นเพื่อนกันอยู่แล้วจะสามารถสื่อสารกันได้ โดยหวังให้แอร์ไทม์รับประโยชน์จาก “network effect” หรือผลข้างเคียงของเครือข่ายสังคมที่จะทำให้ชาวออนไลน์ใช้งานแพร่หลายมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งให้แอร์ไทม์ถูกใช้งานแพร่หลายเหมือนกับ “โทรศัพท์” ที่คนทั่วโลกใช้งาน
      
       แนวคิดนี้ของผู้สร้างแนปสเตอร์นั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะเมื่อคำนึงถึงเครือข่ายที่ครอบคลุมผู้ใช้ในประเทศทั่วโลกอย่างเฟซบุ๊กนั้นถือว่าบริการแอร์ไทม์มีโอกาสเติบโตสูง แถมความสัมพันธ์แน่นเฟ้นระหว่างปาร์เกอร์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเฟซบุ๊กตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ล้วนทำให้แอร์ไทม์ได้รับความสนใจจากวงการไอทีทั่วโลก
      
       ปาร์เกอร์ถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์เรื่อง “The Social Network” ภายใต้การแสดงของนักร้องหนุ่มจัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) ในภาพยนตร์รางวัลออสการ์นี้สะท้อนว่าปาร์เกอร์มีบทบาทสำคัญมากในการก่อร่างเฟซบุ๊กในวันนี้
      
       สำหรับกรณีของแอร์ไทม์ ปาร์เกอร์ให้ความเห็นว่าความตั้งใจของการสร้างบริการนี้คือการทำให้อินเทอร์เน็ตมีความสนุกสนานมากขึ้น พร้อมกับที่ชาวออนไลน์จะสามารถสนทนาผ่านวิดีโอแชตได้แบบเรียลไทม์ และสามารถแชตกับใครก็ได้ที่ไม่รู้จักนอกเครือข่ายสังคมที่ตัวเองมี
      
       อย่างไรก็ตาม ปาร์เกอร์ระบุว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยจะเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของแอร์ไทม์ ยังไม่ให้รายละเอียดแต่ระบุว่าจะป้องกันไม่ให้มีการใช้วิดีโอแชตในทางที่ผิด
      
       ผู้ต้องการใช้แอร์ไทม์จะต้องมี Web camera ติดตั้งเบราว์เซอร์ Chrome, Firefox 3+, IE 8 ขึ้นไป ตัวเครื่องใช้หน่วยประมวลผลความเร็ว 1.5GHz หรือเร็วกว่า ต้องมี RAM มากกว่า 512MB และสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1.5Mbps ขึ้นไป
      
       แอร์ไทม์แจ้งเกิดท่ามกลางบริการวิดีโอแชตที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันอย่างสไกป์ (Skype) ซึ่งไมโครซอฟท์ซื้อไป ยังมีบริการแฮงก์เอาต์ (Hangout) ของกูเกิล รวมถึงบริการน้องใหม่อย่างแชตรูเลตต์ (Chatroulette) จุดนี้ปาร์เกอร์ระบุว่าแอร์ไทม์แตกต่างจากบริการเหล่านี้เพราะสามารถทำงานได้ชนิดเรียลไทม์บนอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง
      
       หลังจากที่ปาร์เกอร์และแฟนนิงเปิดตัวแนปสเตอร์ตั้งแต่ปี 1999 ทั้งคู่ระบุว่าไม่เคยคิดว่าบริการแชร์ไฟล์เพลงจะได้รับความนิยมสูงเช่นนั้น โดยสาวกแนปสเตอร์หลายล้านคนซึ่งดาวน์โหลดแนปสเตอร์ไว้ในเครื่องพร้อมใจกันแบ่งปันเพลงที่ตัวเองมีให้ชาวออนไลน์รายอื่นฟังอย่างถล่มทลาย ส่งให้แนปสเตอร์ถูกฟ้องร้องโดยค่ายเพลงที่เสียประโยชน์ และต้องปิดตัวลงในที่สุด
      
       ชมตัวอย่างการใช้ Airtime เป็นช่องทางร้องเพลงให้เพื่อนฟังได้จากคลิปวิดีโอด้านล่าง


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 มิถุนายน 2555 18:33 น.

เปิดแล้ว App Center ใหม่จากเฟซบุ๊ก

เครือข่ายสังคมยอดฮิต "เฟซบุ๊ก (Facebook)" เปิดตัวแหล่งรวมแอปพลิเคชันสำหรับชาวเฟซบุ๊กในชื่อ "แอปเซ็นเตอร์ (App Center)" อย่างเป็นทางการ ปูทางให้ใช้งานแล้วบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) อย่างไอโฟน ไอแพด และไอพ็อด รวมถึงอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) หลากแบรนด์ เช่นเดียวกับผู้เล่นเฟซบุ๊กผ่านเว็บไซต์ Facebook.com ไม่หวังเป็นร้านโหลดแอปแต่ขอเป็นตัวช่วยให้ชาวเฟซบุ๊กใช้แอปพลิเคชันกับเพื่อนได้สนุกกว่าเดิม
      
       เฟซบุ๊กระบุว่าจำนวนแอปพลิเคชันในแอปเซ็นเตอร์ขณะนี้คือ 600 แอปพลิเคชัน ได้แก่แอปพลิเคชันที่ฮอตฮิตติดลมบนอย่าง Pinterest, Draw Something, Nike+, Path และ Ghost Recon ทั้งหมดนี้เฟซบุ๊กยืนยันว่าแอปเซ็นเตอร์จะไม่ใช่ร้านจำหน่ายแอปพลิเคชันเพื่อแข่งขันกับ Google Play หรือ iTunes App Store ของแอปเปิล แต่ต้องการเป็นฮับหรือแหล่งที่ชาวเฟซบุ๊กจะสามารถเข้ามาค้นหาแอปพลิเคชันใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งอิงกับกิจกรรมบนเฟซบุ๊กของคุณเองและของผองเพื่อน โดยไม่ว่าระบบจะแนะนำแอปพลิเคชันใด ผู้ใช้ก็จะถูกส่งไปยังหน้า Google Play และ iTunes อยู่ดี เพื่อดาวน์โหลดแอปนั้นอย่างง่ายดาย
      
       สำหรับผู้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ ชาวเฟซบุ๊กสามารถใช้งานแอปเซ็นเตอร์จากแถบ bookmark ซึ่งจะแสดงไว้ด้านมุมซ้านบนของหน้า news feed ทุกคนสามารถเลือกดูแอปพลิเคชันตามกลุ่มเช่นเกม บันเทิง เพลง และข่าว เพื่อไล่รายชื่อแอปพลิเคชันที่เพื่อนใช้งานอยู่ หรือแอปพลิเคชันแนะนำน่าสนใจที่เพิ่งเปิดตัว
      
       ข้อมูลระบุว่า แอปเซ็นเตอร์จะแนะนำแอปโดยอิงจากแอปพลิเคชันที่คุณใช้งานอยู่ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันที่ชาวเฟซบุ๊กตั้งค่าลงชื่อใช้งานด้วยชื่อและรหัสผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook login) รสนิยมการใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านี้จะถูกประมวลผลกลายเป็นรายการแอปพลิเคชันแนะนำ ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กผ่านเว็บจะสามารถทดลองใช้แอปพลิเคชันนั้นได้ทันที ส่วนผู้ใช้อุปกรณ์พกพาก็จะถูกส่งลิงก์ไปยัง iTunes หรือ Google Play เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่อไป
      
       ความเคลื่อนไหวนี้ของเฟซบุ๊กตอกย้ำเทรนด์การเลือกแอปพลิเคชันแนว "Social Picks" หรือการเลือกตามกระแสความนิยมในขณะนั้น ซึ่งชาวเฟซบุ๊กจะสามารถตรวจรายชื่อแอปพลิเคชันยอดนิยมที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในแต่ละหมวดได้อย่างง่ายดาย จุดนี้ชัดเจนว่าเฟซบุ๊กสามารถนำจุดแข็งเรื่องความแน่นเฟ้นในเครือข่ายสังคม มาเสริมความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสม
      
       ระหว่างการเปิดตัวแอปเซ็นเตอร์ เฟซบุ๊กให้ข้อมูลว่าชาวออนไลน์มากกว่า 230 ล้านคนนั้นเล่นเกมบนเฟซบุ๊กทุกเดือน โดยมากกว่า 130 เกมที่เปิดให้เล่นบนเฟซบุ๊กนั้นมีจำนวนผู้ใช้สม่ำเสมอหรือ active user มากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน แถมในเวลา 8 เดือนนับตั้งแต่เฟซบุ๊กจัดงาน f8 (กันยายน 2011) มีแอปพลิเคชันมากกว่า 4,500 แอปพลิเคชันแล้วที่เปิดตัวสำหรับทำงานบนไทม์ไลน์ (timeline)
      
       เฟซบุ๊กอ้างว่าเป็นช่องทางนำชาวออนไลน์เข้าสู่ร้าน Apple App Store ถึง 83 ล้านครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีส่วนผลักดันให้ชาวออนไลน์ใช้งานแอปพลิเคชันไอโอเอสมากกว่า 134 ล้านครั้งในเดือนเดียวกัน
      
       ผู้ใช้ชาวไทย สามารถตรวจรายชื่อแอปพลิเคชันที่เฟซบุ๊กแนะนำได้แล้วที่ https://www.facebook.com/appcenter หรือคลิกชมวิดีโอด้านล่างเกี่ยวกับบริการแอปเซ็นเตอร์เพิ่มเติม


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มิถุนายน 2555 17:16 น.

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Review : Intel "Ivy Bridge + Series 7 Chipset" คอร์ไอยุคสาม ฟีเจอร์คือพระเอก

หลังจากอินเทลใช้แผนการพัฒนาหน่วยประมวลผลในรูปแบบ Tick-Tock ทำให้เทคโนโลยีหน่วยประมวลผลในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรวดเร็วขึ้นมาก
      
       อย่างในวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซก็ได้รับชุดทดสอบ Intel "Ivy Bridge" ในรูปแบบเดสก์ท็อปพีซีที่เน้นจุดเด่นในเรื่องกราฟิกออนชิป Intel HD Graphics 4000 มาทดสอบรีดเค้นประสิทธิภาพอีกครั้ง แต่ก่อนจะไปรับชมผลการทดสอบ ทีมงานจะขออธิบายเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงใน Ivy Bridge กันก่อน
      
       เปิดหัวใจ Ivy Bridge

             สำหรับการเปลี่ยนแปลงใน Intel Ivy Bridge ทางทีมงานขอแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักได้แก่ ส่วนแรกในเรื่องหน่วยประมวลผลจะเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็น 22 นาโนเมตรบนทรานซิสเตอร์แบบ 3 มิติจากเดิมเป็น 2 มิติ (และถือเป็นหน่วยประมวลผล คอร์ ไอ ยุคที่ 3) ที่ทางอินเทลปรับปรุงเรื่องประหยัดพลังงานให้ดีขึ้น และรองรับ PCI Express 3.0 พร้อมเปลี่ยนกราฟิกชิปออนบอร์ดเป็น Intel HD Graphics 4000 ซึ่งมีการอัปเกรดในเรื่องการรองรับชุดคำสั่งกราฟิก DirectX 11, OpenCL 1.1 OpenGL 3.1, HTML5, รองรับการต่อ 3 จอภาพพร้อมกัน และรองรับการประมวลผลภาพ 3 มิติผ่านเทคโนโลยี Intro 3D รวมถึงมีการปรับให้รองรับกับฟีเจอร์ Intel Wireless Display ให้ดีขึ้นกว่าใน Sandy Bridge

       มาในส่วนที่สองสำหรับรายละเอียดชิปเซ็ทซีรีย์ 7 ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับหน่วยประมวลผล Ivy Bridge จะมีการปรับปรุงจากรุ่นก่อนหน้าค่อนข้างมาก เริ่มจากส่วนสำคัญคือในชิปซีรีย์ 7 จะรองรับ USB 3.0 ได้ในตัวเอง นอกจากนั้นสิ่งที่นักตัดต่อภาพยนตร์รอมานานอย่าง Intel Thunderbolt ก็พร้อมรองรับแล้วในชิปเซ็ทตระกูลใหม่นี้
      
       ในส่วนการปรับเปลี่ยนอื่นๆ ก็เริ่มจากการรองรับ High Speed SATA 6GB/s สำหรับ SSD และ PCI Express 3.0 รวมถึงชิปเซ็ทใหม่นี้จะรองรับการทำงานร่วมกับชิป Wireless Centrino รุ่นใหม่ เช่นรุ่น Advanced-N 6235
      
       สำหรับการทำงานร่วมกับหน่วยประมวลผล ชิปเซ็ทซีรีย์ 7 จะใช้งานร่วมกับหน่วยประมวลผล 32 นาโนเมตร Sandy Bridge และ 22 นาโนเมตร Ivy Bridge ได้

      Intel Smart Response Technology เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถนำ SSD มาใช้งานร่วมกับ HDD จานหมุนได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน
      
       Intel Rapid Start Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เด่นในเรื่อง Fast Resume หรือความหมายก็คือ ระหว่างผู้ใช้กำลังทำงานและจำเป็นต้องปิดเครื่องเพื่อย้ายโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ไปที่อื่นกระทันหัน ผู้ใช้สามารถกดสวิตซ์ปิดเครื่อง ถอดปลั๊กหรือแบตเตอรีออก จากนั้นเมื่อเชื่อมต่อใหม่ระบบจะ Resume ค่าทั้งหมดกลับมาในเวลาไม่เกิน 5 วินาที ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเปิดโปรแกรมใหม่หมด
      
       Intel Smart Connect Technology จะเป็นระบบดึง Feed ข้อมูลเช่นอีเมล์ ทวิตเตอร์ ข้อความต่างๆ ได้เมื่อคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กอยู่ในสถานะ Hibernate โดยการทำงานจะใช้เทคโนโลยี Smart System Energy Management ในการจัดการทั้งหมด ซึ่งระหว่างปิดเครื่องระบบจะยังเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และมีการดาวน์โหลดข้อมูลเหล่านั้นมาเก็บไว้ในตัวเครื่อง และเมื่อผู้ใช้เปิดคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ก็จะสามารถข้อดูข้อมูลเหล่านั้นได้ทันที

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤษภาคม 2555 10:02 น.